เส้นทางบาปบริสุทธิ์ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ EP 3: สู่ธุรกิจไบโอดีเซล ‘ซันเทคปาล์มออยล์’

2 ส.ค. 2567 - 09:26

  • การแยกจาก บล.หยวนต้า คือการหาทางเลือกใหม่

  • สมโภชน์ใช้ทุกอย่างที่มีเพื่อกลับมาใหม่

  • ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’ คือจุดเปลี่ยน

deep-space--SPACEBAR-Hero.jpg

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ อดีต CEO ของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กับภรรยา ‘บลังก้า ฮวง’ เริ่ม ‘ปริร้าว’ และก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงปี 2541-2543

แต่ตอนนั้นทั้งคู่ยังร่วมกันถักทอ สานฝันในการสร้างให้ บล.หยวนต้า ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นที่หนึ่งในวงการโบรกเกอร์ของไทย 

มรสุมชีวิตของทั้งคู่เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ และบานปลายกลายเป็น ‘รอยรักรอยแค้น’ เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง และกลายเป็นเป็นชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การแตกหักในปี 2559

ไม่เพียงการฟ้องหย่าและร้องขอแบ่งสินสมรส บลังก้า ฮวง ยังทิ้ง ‘ไพ่ใบสุดท้าย’ ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อเอาผิดสมโภชน์และพวกในข้อกล่าวหาว่า มีการ ‘ทุจริต’ และรับผลประโยชน์อันมิควรได้จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์และลำปาง จนกลายเป็นปัญหาที่กำลังฉุดลากให้อาณาจักร EA ของสมโภชน์อาจจะต้องเดินไปถึงจุดล่มสลาย

บันทึกของบลังก้า ฮวง ในเพจ The Growth Story of EA บรรยายเหตุการณ์ในช่วง 3 ปี ที่ทั้งคู่ร่วมกันปลุกปั้นหยวนต้าประเทศไทยจนก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งเบอร์หนึ่งของวงการโบรกเกอร์ของไทยว่า มันคือจุดเริ่มต้นของละครชีวิตที่ทำให้ทั้งคู่สามารถสร้างความมั่งคั่งมหาศาล ‘ถังแรก’ ขึ้นมา แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ช่วงเวลาดีๆนั้นมีอายุแสนสั้นอย่างไม่น่าเชื่อ

จากความฝันของสมโภชน์ที่จะพยายามต่อยอดความสำเร็จของหยวนต้าประเทศไทยให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นโดยการ ‘ควบรวมกิจการ’ กับกิมเอ็ง สิงคโปร์ เพื่อสยายปีกไปในอาเซียน แต่เพียงพริบตาที่เขาเดินหมากผิดพลาด แผนทุกอย่างกลับพังทลายไปต่อหน้าต่อตา และที่สำคัญยังส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เพราะทำให้เกิดรอยร้าวจากความไม่เข้าใจกัน

อาจเป็นเพราะในตอนนั้นสมโภชน์กำลัง ‘สำลักความสำเร็จ’ ทำให้เขาเริ่มมีบุคลิกและท่าทีเปลี่ยนไป กลายเป็นคน ‘แข็งกร้าว’ และ ‘เย่อหยิ่ง’ ในสายตาของผู้คนในวงการ และทำให้สร้าง ‘ศัตรู’ ไว้รอบทิศโดยไม่ทันรู้ตัว

ยิ่งเมื่อถลำลึกกระโจนลงไปเล่น Money Game ที่เสี่ยงเกินตัว ในที่สุดก็พลาดหลงไปติด **‘กับดัก’**ตัวเอง จนต้องเผชิญกับศึกสองด้าน และสุดท้ายต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หมดรูป

ไม่เพียงถูกหักหลังอย่างเจ็บปวดจากดีลประวัติศาสตร์ของการควบรวมกิจการระหว่าง กลุ่มหยวนต้ากับกิมเอ็งของ สิงคโปร์ เขายังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าร้ายแรงว่ามีส่วนในการ ‘ปั่นหุ้น’ ของไทยธนาคาร จนในท่าสุดต้องยอมยก ‘ธงขาว’ ด้วยการ ‘อเปหิ’ ตัวเองออกจากวงการ 

ในบันทึกของ บลังก้า ฮวง เล่าว่า หลังจากหยวนต้าประเทศไทยประกาศการลาออกของสมโภชน์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2544 เธอได้มีโอกาสพูดคุยกับระดับรองประธานฝ่ายบริหารของหยวนต้าไต้หวัน ที่เปรยให้ฟังถึงความ ‘แข็งกร้าว’ ที่ไม่รับฟัง และไม่เกรงใจใครของสมโภชน์ ที่ทำให้เขามี ‘ศัตรู’ และตกเป็นเป้าของการถูกกำจัดออกจากวงการ   

หลังจากมีโอกาสฟังมุมมองจากฝ่ายบริหาร เธอเองก็ยอมรับว่าสมโภชน์ก็ไม่ฟังคำเตือนของเธอ พร้อมกับสารภาพว่าชีวิตแต่งงานของทั้งคู่มีปัญหามาแล้วระยะหนึ่ง แต่เธอพยายามที่จะประคับประคองสถานการณ์เอาไว้ยิ่งในช่วงที่ต้องประสบกับมรสุมจากหลายทิศทางแบบนี้

หลังจากต้องเผชิญกับ Perfect Strom ในตอนนั้น เธอตัดสินใจลาออกจากหยวนต้าประเทศไทย พร้อมกับสมโภชน์ และบินกลับไปที่ไทเป เพื่อเข้าคอร์สอบรม MCSE (Microsoft Certified System Engineer) ของ Microsoft โดยหวังว่าจะช่วยให้หางานใหม่ที่จะมีรายได้มากพอจะเลี้ยงลูกสาวคนเล็กที่เพิ่งเกิดในตอนนั้น

ในห้วงเวลาที่ยังไม่รู้ถึงเส้นทางในอนาคตของคนทั้งสอง เป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่ต่างมีแรงกดดันค่อนข้างสูง ยิ่งสมโภชน์มี ‘ปูมหลัง’ ที่มีตำหนิ โอกาสที่จะหวนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นในฐานะผู้บริหารของโบรกเกอร์คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สมโภชน์เล่าเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Bangkok Post ว่า เขารู้สึกพ่ายแพ้ หมดอาลัยตายอยาก ถึงขั้นที่อยากจะจบชีวิตตัวเอง แต่ก็ได้สติเมื่อได้ยินเสียงร้องไห้ของลูกสาวคนเล็ก ที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่เดือนในตอนนั้น

ในช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ระยะห่างในความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มถ่างออกจากกันมากขึ้น ซึ่งสมโภชน์เคยเล่าว่า บลังก้า ฮวง ถึงขั้นขอหย่ากับเขาเพราะเชื่อคำทำนายของ ‘หมอดู’ คนหนึ่ง

สมโภชน์เล่าว่า หลังจากที่เขาหลบไปเลียแผลอยู่พักใหญ่จนทำใจได้ จึงตัดสินใจกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นใหม่อีกครั้ง แต่ต้องผันตัวเองมาเป็นนักลงทุนซื้อๆขายๆหุ้นในตลาดอยู่ระยะหนึ่ง ทำกำไรได้เดือนละหลายสิบล้านบาท จนมีพอร์ตลงทุนเติบโตมาถึงหลักพันล้านบาทภายในไม่กี่ปี 

หลังจากตั้งหลักได้ใหม่ สมโภชน์เล่าว่าเขาตั้งใจจะวางมือ แต่อาจเป็นเพราะเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง เชื้อสายจีนที่ถูกปลูกฝังให้สร้างกิจการของตัวเองสำหรับลูกหลาน เขาจึงเริ่มมองถึงโอกาสในการลงทุนสร้างกิจการใหม่อีกครั้ง 

จากการคลุกคลีอยู่ในวงการหุ้น สมโภชน์เห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจ ‘พลังงานทดแทน’ เนื่องจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลังรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549  มีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำให้เขามองเห็นโอกาสและกลายเป็น ‘จุดกำเนิด’ ของ EA ในเวลาต่อมา 

ถึงแม้สมโภชน์ที่จบมาในสายวิศวะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จะไม่มีประสบการณ์ในเรื่องพลังงานทดแทน แต่มองเห็นอนาคตที่เชื่อว่าจะสดใสรออยู่ เขาจึงอาศัยสายสัมพันธ์จากเครือข่ายของนักเรียนเก่าเซนต์คาเบรียล ‘น้ำเงิน-ขาว’ ที่มีคำเรียกขานกันว่า 

‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’

ซึ่งเข้าไปโลดแล่นในแวดวงอำนาจในทางการเมืองและธุรกิจในยุค คมช.ทำให้เขาสามารถรุกเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนได้สำเร็จ

ในตอนแรก สมโภชน์ จับมือกับ ‘ศิริธัช โรจนพฤกษ์’ เจ้าของ **‘คอม-ลิงค์’**และ ‘วรเจตน์ อินทามระ’ เข้าไปแปลงโฉม ‘บริษัทซีฮอร์ส จำกัด’ หรือ SH ที่เคยเป็นหุ้นร้อนฉายา ‘ม้าน้ำ’ ธุรกิจส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ซึ่งเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯมาตั้งแต่ปี 2535   

โดยปรับโมเดลธุรกิจใหม่ หันมาทำด้านพลังงานทดแทน ลงทุนตั้งโรงงานเอทานอล เพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อีเทอเนิล เอนเนอยี’ หรือ EE ในปี 2552 และต่อมาก็เบนเข็มมาลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น

อาจเป็นเพราะความมุ่งมั่นอยากมุ่งไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนแบบเต็มตัว ทำให้สมโภชน์ เดินเกมอีกด้าน โดยไปชักชวนเพื่อนสนิท 3-4 คน ให้มาร่วม ‘ลงขัน’ เพื่อไปซื้อโรงงานผลิตไบโอดีเซล 1 แห่งพร้อมก่อตั้งบริษัทภายใต้ชื่อ ‘ซันเทคปาล์มออยล์’ ในปี 2549 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสมโภชน์ กับ ศิริธัช เริ่มมีปัญหาและเดินมาถึงทางตันจนต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะสวมคอนเวิร์ส **‘ทางใครทางมัน’**ในเวลาต่อมา

ถัดมา 2 ปี สมโภชน์ ก็เปลี่ยนชื่อ ‘ซันเทคปาล์มออยล์’ เป็น ‘พลังงานบริสุทธ์’ หรือ EA และดึง ‘ปลัดแป๋ง’ สมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มานั่งเป็นประธานกรรมการ และตัวสมโภชน์โดดออกจาก EE มานั่งบริหารเต็มตัวในเดือนเมษายน 2552

เมื่อต้องเข้าไปบริหาร EA แบบเต็มตัว สมโภชน์จึงตัดสินใจชวนภรรยา บลังก้า ฮวง ให้กลับมาร่วมงานกันใหม่อีกครั้งในราวเดือนตุลาคม 2552 

บลังก้า ฮวง เล่าว่า ในตอนแรกทุกอย่างก็ไปได้สวยตามแผนงาน จนกระทั่งในปี 2557 เมื่อเธอเริ่มเข้าไปมีส่วนรับผิดชอบในการตรวจสอบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์ และลำปาง และเริ่มค้นพบพฤติกรรมที่น่าตกใจของสมโภชน์ที่ส่อไปในทาง ‘ทุจริต’

แน่นอนว่าเธอพยายามสอบถามสมโภชน์ แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่เรื่องนี้ก็กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างเธอและสมโภชน์ลุกลามหนักขึ้นกว่าเดิม

เมื่อเธอพบเอกสารที่ส่งมาจาก ‘พรเลิศ เตชะรัตโนภาส’ 2 ฉบับ ในปี 2558 ซึ่งเป็นธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคารต่างประเทศและไทย ที่เป็นหลักฐานว่าอาจจะมีการ ‘ฉ้อโกง’ เงินจาก EA  โดยใช้บริษัทจดทะเบียน ‘เอเมอรัล เอเนอร์จี’ และ ‘บริคส์ โซล่า’ ที่เป็นมูลค่ากว่า 3.45 พันล้านบาท 

ประกอบกับเธอยังพบหลักฐานว่ามีการ ‘ยักย้ายถ่ายโอน’ เงินบางส่วน เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินกับบุคคลที่เธอสงสัยว่าจะเป็นบุคคลที่สาม เพื่อไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่บางปะกง และธุรกิจรถเมล์ไฟฟ้า 

บลังก้า ฮวง จึงตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ยื่นคำฟ้องต่อ ก.ล.ต. 

ผลที่ตามมาทันที คือเธอถูกสมโภชน์ปลดออกจากทุกตำแหน่ง และเท่ากับเป็นการเปิดสงครามกันอย่างเปิดเผย ปิดฉากความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างเป็นทางการ...

(โปรดติดตามตอนต่อไป EP 4 : กำเนิด EA กับ ‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์