หากจะเปรียบเทียบสภาพทีมรัฐบาลไทยของนายกฯอิ๊งค์ ลูกสาวสุดเลิฟ ของ ‘สทร.’ ทักษิณ ชินวัตร ในการแก้ภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ กับทีมฟุตบอลสักทีมในระดับ พรีเมียร์ลีก’ ของอังกฤษ
แน่นอนว่าคงไม่สามารถนำไปเทียบเคียงกับ (ว่าที่) แชมป์พรีเมียร์ลีก ปีล่าสุดอย่าง หงส์แดง ‘ลิเวอร์พูล’ ของ อาร์เนอร์ สล็อต ได้อย่างแน่นอน เพราะคุณภาพและศักยภาพของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลในชั่วโมงนี้น่าจะมีสภาพใกล้เคียงกับผีแดง ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ เสียมากกว่า
จากความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับในอดีต จนทำให้มีสาวกและกองเชียร์มากมายมหาศาล แต่มาถึง พ.ศ.นี้ กลับกลายเป็นหนังคนละม้วน ยิ่งนานวันยิ่งใกล้หมดสภาพ จนน่าวิตกว่ากำลังพาทีมเข้าสู่โซนใกล้ตกชั้นแบบเหลือเชื่อ จนทำเอากองเชียร์และบรรดาสาวก ‘เรด อาร์มี่’ ใกล้ถอดใจเข้าไปทุกขณะ ไม่ต่างอะไรกับสโลแกนขายฝัน ‘มีกิน มีใช้ เกียรติ มีศักดิ์ศรี’ ของนายกฯ ‘อิ๊งค์’ ที่ กลายเป็นเพียงตลกร้ายในหมู่สาวกเสื้อแดง
ความล้มเหลวของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ไม่เพียงจะถูกวิจารณ์จากบรรดากูรูด้านเศรษฐกิจในประเทศ แต่ล่าสุด แม้แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Credit Rating Agency ระดับ Big Three อย่าง Moody’s Investor Service ยังออกบทวิเคราะห์ปรับลดแนวโน้ม หรือ Outlook อันดับเครดิตของประเทศ โดยมีมุมมอง ‘เชิงลบ Negative’ จากเดิมที่อยู่ในระดับมี ‘เสถียรภาพ หรือ Stable’ ซึ่งเป็นรายแรกที่อาจสุ่มเสี่ยงจะนำไปสู่การปรับลดเครดิตเรตติ้งของไทยจากระดับ Baa1 ในอนาคต
การปรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยของ ‘มูดี้ส์’ ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ตบหน้า’ รมช.คลัง ‘อ๊อฟ’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล จอมหมุน แอนโทนี่ ที่เพิ่ง ‘โชว์ออฟ’ คุยโอ่ หลังจากได้หารือกับสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency : CRA) 3 สถาบัน ได้แก่ JP Morgan-Moody’s-S&P ในระหว่างการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (WB-IMF Spring Meetings) ประจำปี 2568 ที่ วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆนี้
รมช. จอมหมุน ‘อ๊อฟ’ กล่าวอย่างมั่นใจ โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Sovereign Credit Rating) อยู่ในระดับ BBB+ ของ S&P เทียบเท่ากับ Baa1 ของ Moody’s และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) จะอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งอยู่ในระดับน่าลงทุน (Investment Grade) ต่อไป แต่บทสรุปที่ออกมากลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
ในถ้อยแถลงของ มูดี้ส์ ระบุชัดเจนถึงสาเหตุที่ทำให้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของไทยลงสู่มุมมอง ‘เชิงลบ’(Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) มาจากภาพสะท้อนที่เกิดจาก ‘ความเสี่ยง’ ในด้านความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและนโยบายด้านการคลังของไทยที่ ‘อ่อนแอ’ ลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเร็วเกินไปที่จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทยลงจากระดับ Baa1
ปัจจัยหลักที่ มูดี้ส์ ใช้พิจารณาในการปรับลดมุมมองในเชิงลบ พุ่งเป้าไปที่ที่นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงทั้งในเชิงนโยบาย และฐานะการคลังมีแนวโน้มจะอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง จากคำอธิบายเหตุผลเริ่มต้นในวรรคที่สอง
‘The decision to change the outlook to negative from stable captures the risks that Thailand's economic and fiscal strength will weaken further.’
ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของไทยอาจจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เนื่องจากมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจจะกระทบต่อการเติบโตของการค้าและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจที่เป็นระบบเปิด แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าในบทสรุป สหรัฐฯจะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากไทย และประเทศอื่นมากน้อยแค่ไหนหลังครบกำหนด 90 วัน
‘The already announced US tariffs are likely to weigh significantly on global trade and global economic growth, and which will affect Thailand's open economy. In addition, there remains significant uncertainty as to whether the US will implement additional tariffs on Thailand and other countries, after the 90-day pause elapse.’
เพราะเหตุนี้ทำให้มูดี้ส์มีมุมมองว่า ‘มรสุมลูกใหม่’ จากมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯอาจจะยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆหลังจากช่วง โควิด-19 อาจตกอยู่ในสภาพ ‘ช็อค’ อย่างรุนแรง และอาจทำให้ฐานะการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
‘This shock exacerbates Thailand's already sluggish economic recovery post-pandemic, and risk aggravating the trend decline in the country's potential growth. Material downward pressures on Thailand's growth raises risks of further weakening in the government's fiscal position, which has already deteriorated since the pandemic.’
ข้อกังวลของ มูดี้ส์ ก็ไม่ต่างอะไรกับสภาพทีมของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผลาญเงินไปจำนวนมหาศาลในการซื้อนักเตะค่าตัวแพง ‘เวอร์’ แต่กลับใช้งานได้ไม่สมราคา ยิ่งเล่นยิ่งเละ ในขณะที่มีหนี้สินจำนวนมหาศาลก่อนหน้านี้
เมื่อมีรายจ่ายเกินรายได้ ส่งผลให้ต้องขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี จนมีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมาแตะระดับ 64.2% ของ GDP ที่สำคัญยังมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม กู้เงินมาแจกเพื่อรักษาฐานเสียง แต่อ้างว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สามารถเพิ่ม GDP ได้เพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้เกิด ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจอย่างที่วาดฝันไว้
แต่ยังมีข้อดีที่ มูดี้ส์มองเห็นว่า ประเทศไทย ยังคงมีการวางรากฐานในเรื่องของนโยบายด้านการเงินไว้ค่อนข้างแข็งแรง ช่วยให้เศรษฐกิจยังไม่ถึงกับเดินเข้าสู่วิกฤต เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตอยู่ในอันดับรั้งท้ายๆในอาเซียน แต่ยังไม่ถึงกับตกชั้น หรือปรับอันดับเรตติ้งลดลง
มูดี้ส์ ยังคงอัตราเครดิตเรตติ้งของไทยไว้ที่ Baa1 เนื่องจากยังคงให้เครดิตในส่วนของระบบสถาบันการเงินที่ดูแลด้านนโยบายการเงินคือ แบงก์ชาติ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจมหาภาคที่ยังคงเป็นหลัก สามารถประคับประคอง และค้ำยันไม่ให้ถูกแทรกแซงจนทำให้เกิดปัญหาความไม่เชี่อมั่น
‘The affirmation of the Baa1 ratings reflects the country's moderately strong institutions and governance which support sound monetary and macroeconomic policies’
ขณะเดียวกัน ยังมีการพัฒนาตลาดพันธบัตรได้ดี ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยจำเป็นต้องกู้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อแก้ไขวิกฤตในช่วง โควิด-19 แต่ตลาดพันธบัตรไทยก็สามากพัฒนาจนมีขนาดใหญ่มากพอที่จะรองรับการกู้ในประเทศ ทำให้หนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นสกุลบาท จึงไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
‘The Baa1 ratings also take into account Thailand's moderately strong debt affordability - despite the sharp increase in government debt since the pandemic - supported by its deep domestic markets and the fact that its government debt is almost entirely denominated in local currency.’
ที่สำคัญ ประเทศไทยยังคงมีทุนสำรองที่มั่นคง โดยมีทุนสำรองสูงถึง 2.47 แสนล้านเหรียญ สหรัฐฯ
ไม่ต่างอะไรกับ ทีมผีแดง ที่ถึงแม้จะมีสภาพไม่สู้ดีมาหลายปี แต่ก็ยังคงมีกองหลังที่ยังพอไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะเกิดความสับสนหลังการเข้ามาของ รูเบน อโมริม ที่มีการปรับระบบเป็น 3-5-2 จากเดิมที่เคยเล่นในระบบ 4-4-2 มานาน ทำให้มีอาการค่อนข้างทุลักทุเลอยู่ในเวลานี้
ต้องยอมรับว่า การกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และ อดีตนายกฯทักษิณ ที่ยังคงสำลักกับความสำเร็จในอดีต และมี ‘ความเชื่อมั่นแบบผิดๆ’ ทำให้ยังคงใช้กลยุทธ์การเล่นแบบเดิมๆ คือ เน้นในเรื่องของนโยบาย ‘ประชานิยม’
ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแจก ‘เงินหมื่น ดิจิทัล’ แถมยังหมกมุ่นกับแนวคิดเดิมที่อยากนำธุรกิจใต้ดินขึ้นบนดิน ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในการผลักดันการตั้ง ‘เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์’ การออกหวยบนดิน ทั้งๆที่มีแรงต้านจากหลายภาคส่วน จนทำให้รัฐบาล ‘ติดหล่ม’ อยู่กับเรื่องเหล่านี้ โดยไม่ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การมีหัวหน้ารัฐบาลอย่าง นายกฯอิ๊งค์ ที่ไร้ศักยภาพในการนำทีม เพราะอยู่ภายใต้ร่มเงาของผู้พ่อ เมื่อต้องมาทำงานกับบรรดาทีมงานด้านเศรษฐกิจ ที่มือไม่ถึงเป็นส่วนใหญ่ สภาพทีมจึงขาดการประสานงาน ต่างคนต่างเล่น ต่างโชว์ มีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน มีเพียง รองนายกฯและรมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ที่ต้องเล่นบท ‘เดอะ แบก’ แต่ก็ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องรอฟังแผนจาก พ่อนายกฯเพียงคนเดียว
การปรับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในมุมมอง ‘ลบ’ Negative Outlook ของ มูดีส์ เปรียบเมืองเป็น ‘Wake up Call’ เตือนประเทศไทย เพราะมันอาจเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การลด Rating ลงได้ในอนาคต และต้องจับตามองว่า สถาบันจัดอันดับเครดิตที่เหลืออีก 2 ราย คือ S&P และ Fitch Ratings จะปรับเปลี่ยนมุมมองของไทยตามมูดี้ส์หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าหวาดเสียวเป็นอย่างยิ่ง
คำถามที่ยังไร้คำตอบ คือเมื่อมีเสียงเตือนมาค่อนข้างแรงขนาดนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนมุมมอง และปรับปรุงตัวเองหรือไม่
เพราะหากยังคงปฎิเสธความจริงตรงหน้า และยังคงดื้อด้านไม่ปรับเปลี่ยนทั้งแผนการทำทีมและตัวผู้เล่น โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ที่ยังคงฝืนเข็น นายกฯอิ๊งค์ ที่ไม่มีสภาพให้เป็น กัปตันทีม เดินเฉิดฉายอยู่ในทำเนียบต่อไปแบบ ‘โนสน โนแคร์’ โอกาสที่ประเทศไทยจะตกชั้นคงอีกไม่ไกล...