รัฐบาลตีสองหน้า ปากกล้าขาสั่นเข็น MOU44

2 ธ.ค. 2567 - 03:00

  • MOU44 ในหน้าที่ของรัฐบาลยังไม่มีอะไรคืบหน้า

  • การตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ก็ยังไม่เริ่ม

  • ความเห็นของคนในพรรค และพรรคร่วมก็ยังไม่ลงตัว

Deep Space_Mou 44-SPACEBAR-Hero.jpg

ผ่านเข้าสู่เดือนธันวาคมแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่นำรายชื่อคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC เข้าที่ประชุมครม.เสียที หลังโยนกันไปมาระหว่างรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง กับรมว.ต่างประเทศ และนายกฯ รับปากจะทำให้เสร็จก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายน

แต่ผ่านมาถึงวันนี้รายชื่อคณะกรรมการ JTC ที่ว่าก็ยังเป็นวุ้นอยู่ 

รู้เพียงว่า ‘บิ๊กอ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง จองเก้าอี้ประธาน JTC ไว้ แถมจะให้เพิ่มตัวแทนจากกฤษฎีกา และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความขลังเรื่องความโปร่งใส 

ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ ‘มาริษ เสงี่ยมพงษ์’ ก็ขอพิจารณาตัวบุคคลเพิ่มเช่นกัน โดยขานชื่อสองหน่วยงานที่ขาดไม่ได้ คือ ‘กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย’ ของกระทรวงบัวแก้ว กับ ‘กรมอุทกศาสตร์’ ที่เชี่ยวชาญเรื่องทะเล

ไล่ชื่อดูทั้งหมด กลับไม่มีใครพูดถึงกระทรวงพลังงาน ที่ทำให้เจ้ากระทรวงงอนตุ๊บป่องอยู่เวลานี้

นอกจากรัฐบาลจะออกลีลาเล่นท่ายากแล้ว ยังทำท่าจะจัดฉากตบตีกันเองให้ดูอีกต่างหาก เพราะในขณะที่มีการตั้งคำถามจากรอบทิศถึงสถานะความชอบด้วยกฎหมายของ MOU44 ว่ามีความสมบูรณ์กี่มากน้อย โมฆะไปหรือยังนั้น 

ปรากฎมีข้อเสนอจากคนในพรรคเพื่อไทย ‘นพดล ปัทมะ’ ซึ่งเป็นสส.บัญชีรายชื่อ และเป็นอดีต รมว.ต่างประเทศ ให้ใช้กลไกรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เปิดอภิปรายทั่วไป รับฟังความเห็นสส.และสว.ในเรื่อง MOU44 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี

ที่สำคัญจะได้ใช้เป็น ‘ยันต์กันผี’ ป้องกันการชุมนุมประท้วงไปในตัวด้วย 

แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูก ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ คนในพรรคเดียวกันที่สวมหมอกสองใบ เป็นทั้งสส.บัญชีรายชื่อและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สวนกลับแบบไม่ไว้หน้าว่า ไม่มีอะไร และพูดกันมามากมายแล้ว 

‘นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของนายนพดล แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้อะไร ส่วนใหญ่ของการใช้มาตรานี้คือการมาคุยกัน มาพูดกันว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ซึ่งเราพูดกันหมดแล้ว และที่จริงแล้วแก่นของมันไม่มีอะไร’

ส่วนที่นำมาพูดในสภาเพราะต้องการ ‘หยุดม็อบ’ ไม่ต้องไปลงถนนกันนั้น ชูศักดิ์ ยังคงย้ำว่า ต่อให้นำมาพูดในสภาคนข้างนอกก็ไม่ได้มาพูดด้วยอยู่แล้ว

‘สาระมันคืออะไร และเราคุยกันมาไม่รู้เท่าไหร่แล้วว่าเป็นมาอย่างไร อย่างนู้นอย่างนี้  คณะกรรมการร่วมทางเทคนิคหรือเจทีซี ไทย-กัมพูชา ก็ยังไม่ได้ตั้ง เจรจาก็ยังไม่ได้เจรจา อะไรก็ยังไม่ได้ทำ มันก็คุยได้แค่นั้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น’

ต่างจากผู้จัดการรัฐบาล ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ที่มองข้อเสนอดังกล่าวแบบเข้าใจอยู่บ้างว่า ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ แต่เรื่องนี้ต้องมาดูตามความเป็นจริง ต้องดูพรรคร่วมรัฐบาลด้วยจะว่าอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด แต่ขณะนี้ยังไม่ไปถึงตรงนั้น 

‘ตอนนี้เราก็ใช้วิธีการชี้แจงหลายช่องทาง การแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนวิธี สิ่งที่นายนพดลเสนอ ก็น่าจะเสนอได้’

ทีนี้ไปเปิดดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่เป็นข้อเสนอของนพดล ปรากฎว่าครอบคลุมเฉพาะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ส่วนวุฒิสภาต้องไปใช้มาตรา 153 ไม่สามารถมาใช้เวทีเดียวกันกับสภาล่าง ตามมาตรา 152 ได้ จึงไม่แน่ใจว่ามีเจตนาต้องการรับฟังความเห็นสส.และสว.ไปพร้อมกันในคราวเดียวจริงๆ หรือเปล่า

เพราะหากต้องการใช้เวทีรัฐสภาระดมความเห็นเรื่อง MOU44 จริง จะต้องใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 โดยไปสะกิดฝ่ายค้านให้ช่วยเป็นเจ้าภาพให้หน่อย เพราะได้เปิดช่องไว้ว่า

‘ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้’

โดยการอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ‘ประชุมลับ’ และคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย ดังนั้น หากมีความประสงค์จะใช้เวทีรัฐสภาหาทางออกในเรื่องนี้จริง ก็น่าจะอาศัยช่องทางมาตรา 156 ได้ 

ยิ่งพรรคเพื่อไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคฝ่ายค้านด้วยแล้ว ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่หากจะไหว้วานให้ทำเรื่องนี้

ปัญหาคือ พรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกับ MOU44 มากกว่า เพราะปากบอกจะเดินหน้า รออีกไม่ได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอีกไม่เกิน 10 ปี พลังงานไฟฟ้าก็จะเข้ามาแทนพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

แต่ดูจากการออกตัวแรงของรัฐบาลในเรื่องนี้แล้ว เหมือนเหยียบคันเร่ง เบิ้ลเครื่องให้เสียงดังอย่างเดียว ไม่ยอมปลดเกียร์เดินหน้าเสียที ซึ่งดูได้จากอาการลังเลดองเรื่องตั้งคณะกรรมการ JTC ไว้

แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะกลัวคำขู่นำม็อบลงถนนของ ‘ยามใหญ่’ สนธิ ลิ้มทองกุล เพราะเป็นเพียงการส่งสัญญาณที่ยังต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มาเป็นองค์ประกอบอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขการชุมนุม มวลชน กลุ่มแนวร่วม รวมทั้งทุนที่จะมาสนับสนุน

เพราะฉะนั้น คำขู่ลงถนนของอดีตแกนนำพันธมิตรฯ จึงไม่ใช่ตัว ‘เบรกเกม’ ไม่ให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจากับกัมพูชา แต่คงรอความชัดเจนเรื่องสถานะทางกฎหมายของ MOU44 ว่าโมฆะหรือไม่โมฆะมากกว่า

ไม่ต่างจากการตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ที่ชักเข้าชักออกมาพักใหญ่ ไม่นำเข้าครม.เสียที ก็เพราะไม่มั่นใจเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องรอตรวจสอบให้มีความชัดเจนก่อน จะได้ไม่ต้องมาตายน้ำตื้นเหมือนนายกฯ คนก่อน

จึงไม่แปลกที่สังคมได้เห็นการแสดงละครตีสองหน้า แบบปากกล้าขาสั่นของรัฐบาลเรื่อง MOU44 ในเวลานี้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์