โรงเหล็กทุนจีน ‘คางดำ’ หายนะอุตสาหกรรมเหล็กไทย

4 เม.ย. 2568 - 02:00

  • เหตุการณ์อาคารสำนักงาน สตง.ถล่มสะท้อนปัญหา

  • ทุนจีน ‘คางดำ’ ทำลายโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กไทย

  • ซินเคอหยวน ไม่ใช่ทุนจีนรายเดียวที่มีปัญหา

deep-space-office-auditor-collapses-xinkeyuan-thai-steel-industry-SPACEBAR-Hero.jpg

เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลสะเทือนมาถึงไทย โดยเฉพาะในใจกลางพระนคร กรุงเทพมหานครจนเกิดแตกตื่น โกลาหลกันไปทั้งเมือง ไม่เพียงจะเขย่าตึกระฟ้าและอาคารสูงหลายแห่งจนร้าว แต่ที่ร้ายแรงและน่าเศร้าไปกว่านั้นคือ ภาพการพังทลายของ ตึกอาคาร ‘สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน’ (สตง.) มูลค่ากว่า 2,136 ล้านบาท ที่กำลังก่อสร้างถล่มยุบลงมาราวกับตึกที่ไร้เสาเข็มในชั่วพริบตา

ภาพอาคาร สตง. ซึ่งเป็นอาคารเพียงแห่งเดียวใน กทม. ที่ถล่มมาต่อหน้าต่อตาคนไทยทั้งประเทศ ทั้งที่อยู่ห่างจากใจกลางแผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ถึงกว่า 1,000 กิโลเมตร ไม่ใช่เพียงแค่ตัวตึกที่พังทลายลง แต่มันกลายเป็น ‘สัญลักษณ์’ ที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวด ชี้ให้เห็นถึงความเน่าเฟะและปัญหาที่ซ่อนอยู่ในหน่วยงานของรัฐ และทุกองคาพยพของรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นว่าระบบทั้งระบบกำลังแตกร้าวและพร้อมพังทลายได้ทุกเมื่อ 

องค์กรอิสระอย่าง สตง.ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังขององค์การที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการใช้เงินของราชการ ที่กลับมีปัญหาที่น่าแคลงใจในการจัดซื้อจัดจ้างและประมูลงานก่อสร้างตึกของตัวเอง จนนำไปสู่การตรวจสอบที่เข้มข้น 

รัฐบาลของนายกฯ ‘อิ๊งค์’  แพทองธาร ชินวัตร สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาตรวจสอบ สตง.และ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารนี้ทั้งหมด ตั้งแต่ ผู้รับเหมา ผู้ออกแบบ และผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มว่าเกิดมาจากการออกแบบก่อสร้าง กระบวนการตรวจสอบและควบคุมงานในระหว่างก่อสร้าง หรือ ปัญหาจากการใช้วัสดุก่อสร้างที่มีปัญหาไม่ได้คุณภาพ 

ในเวลาเดียวกันปฏิบัติการในการสาวไส้ของทีมงาน ‘สุดซอย’ ของ รมว.อุตสาหกรรม ‘ขิง’ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ชิงออกไปเปิดปฏิบัติเก็บตัวอย่างเหล็กเส้น ‘ข้ออ้อย’ ที่ใช้ในการทำโครงสร้างตึกไปตรวจสอบ ยังพบว่ามีเหล็กเส้นจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้มาตรฐาน และเชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่มเมื่อต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

บริษัท ‘ซินเคอหยวน’  หรือ SKY จากจีน ตกเป็นเป้าและกลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ทันทีในสายตาของสังคม เมื่อพบว่ามีการใช้เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานมาจาก ‘เตาหลอม’ ของโรงงานเหล็กแห่งนี้ ยิ่งในห้วงเวลาที่สังคมไทยมองการรุกคืบเข้ามาทำธุรกิจของทุนจีนรุ่นใหม่ด้วยสายตา ‘หวาดระแวง’ จากความพยายามที่จะเข้ามาครอบครองตลาดในหลายๆ อุตสาหกรรมของไทย

ตัวอักษร SKY ที่ถูก ‘ตีตรา’ บนเส้นเหล็ก ย่อมาจาก ‘Sin Ker Yuan Company Limited’ หรือ ‘บริษัท ซินเคอหยวน จำกัด’ ที่ได้ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานเมื่อปี 2556 ตั้งอยู่ที่ ต.หนองละลอก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยมี ‘เจี้ยน ฉี เฉิน’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังเป็นชาวจีน ก่อตั้งด้วยทุนจดทะเบียนราว 3,700 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคือ ผู้นำเข้าและผู้ผลิตเหล็กเส้นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในไทย

การเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 10 ปี ของ SKY และบรรดาโรงงานเหล็กทุนจีนที่ใช้ ‘เตาหลอม’ แบบเก่า ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หลังจากย้ายฐานการผลิตมาจากจีน และรุกคืบเข้ามาในตลาดเหล็กเส้นของไทย 

ไม่ต่างอะไรกับการเข้ามาของ ‘ปลาหมอคางดำ’  เอเลียน สปีชีส์ ที่รุกข้ามายึดครองตลาด จนบรรดาโรงเหล็กที่ใช้ ‘เตาหลอม’ แบบใหม่ที่ต้นทุนสูงกว่าแทบไม่เหลือที่ยืนในตลาด 

ปัจจุบันกระบวนการหลอมเหล็กจากเศษเหล็กด้วยเตาหลอมในไทยจะมี เตาหลอมอยู่ 2 ชนิด คือ EF และ IF ซึ่งก่อนหน้านี้บรรดาโรงเหล็กส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีและเตาหลอมเหล็กในรูปแบบ ‘Electrical Arc Furnace process (EF)’ ซึ่งเป็นเหล็กที่ผลิตจากการหลอมละลายเศษเหล็กด้วยเตา ‘อาร์คไฟฟ้า’ โดยในเตาจะมีแท่ง ‘อิเล็กโทรด’ จ่อกับเศษเหล็กให้ไฟฟ้าวิ่งผ่านเหล็กจนเกิดความร้อน ทำให้หลอมละลาย 

หลังจากที่เหล็กหลอมละลายแล้ว จะมีการพ่น ‘อ็อกซิเจน’ เข้าไปกำจัดสิ่งสกปรกหรือค่าเคมีที่มีผลเสียต่อความแข็งแรงของเหล็กด้วยการทำให้สิ่งสกปรกและธาตุประกอบต่างๆกลายเป็นตะกรัน (Slag) และลอยขึ้นมาบนผิวหน้าน้ำเหล็ก ส่งผลให้น้ำเหล็กที่ได้สะอาดเหมือนใหม่ ก่อนจะนำไปเติมธาตุที่จำเป็นเพื่อให้เหล็กมีความเหนียว แข็งแรง เหมาะสมกับการนำไปใช้งาน โดยจะมีคุณภาพสม่ำเสมอ

แต่โรงเหล็กที่ทุนจีนเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีและเตาหลอมเหล็กในรูปแบบ ‘Induction Furnace process (IF)’ ซึ่งเป็นเหล็กที่ผลิตมาจากการหลอมเศษเหล็กเช่นกัน แต่ใช้การ ‘เหนี่ยวนำไฟฟ้า’ เพื่อให้เกิดความร้อนที่เหล็กจนหลอมละลายเป็นน้ำเหล็ก จากนั้นเติมธาตุที่จำเป็น เพื่อให้เหล็กรับกำลังได้ตามที่ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. กำหนด แต่เตาชนิดนี้จะไม่สามารถกำจัดสิ่งที่ปนเปื้อนมากับเศษเหล็กออกได้ ทำให้ต้องมีการคัดเลือกเศษเหล็กที่มีความสะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนมาใช้ในการผลิต จึงมีโอกาสที่เหล็กจะถูกเจือปน และมีโอกาสที่เหล็กจะมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอทั้งเส้น 

ทุนจีนที่รุกเข้ามาตั้งโรงงานเหล็กในไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะใช้เตาหลอมแบบ IF ทำให้เกิดคำถามมาตลอดว่า ‘ทำไมกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย จึงอนุญาตให้นำเตาหลอมแบบเก่านี้มาใช้ได้’ และถูกต่อต้านจากกลุ่มโรงหลอมแบบ EF มายาวนาน เนื่องจากตุ้นทุนการผลิตของโรงงานที่ใช้เตาหลอมแบบ IF จะมีราคาต่ำกว่า และทำให้สามารถรุกเข้ามากินตลาดก่อสร้างในไทยได้อย่างรวดเร็ว 

เมื่อแกะรอยย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ‘ซินเคอหยวน’ หรือ SKY และโรงงานเหล็กทุนจีน พาเหรดเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยย้ายฐานการผลิตมาจากจีน เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งสั่งห้ามใช้เหล็กประเภทนี้ในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ในจีน ในราวปี 2558 ซึ่งอยู่ในช่วงของ รัฐบาล คสช. ของ อดีตนายกฯ ‘ลุงตู่’ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทำให้อดีต รมว.อุตสาหกรรม ‘อุตตม สาวนายน’ ในยุคนั้น ยอมเปิดประตูให้ทุนจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กเพื่อการส่งออก

แต่ต่อมาในช่วงในมีการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคของภาครัฐเป็นจำนวนมาก และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาฟื้นตัว ทำให้มีความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการผลักดันจากกลุ่มโรงเหล็กของจีน เสนอขอผลิตเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 

กลุ่มโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบ EF ออกมาคัดค้านอย่างหนัก ถึงขั้นมีการยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรมต่อศาลปกครอง ที่อนุญาตให้เหล็กเส้นที่ผลิตจากเตาหลอมในแบบ IF สามารถขายในประเทศ ทั้งๆที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.จาก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ.

ในที่สุดมีการเจรจาหาทางออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมขอให้กลุ่มโรงเหล็กแบบ EF ‘ถอนฟ้อง’จากศาลปกครอง และมีการกำหนดให้โรงเหล็กแบบ IF ต้องผลิตเหล็กที่ได้รับการรับรอง มอก. ในปี 2559 

การกำหนดค่ามาตรฐานของธาตุต่างๆ ที่จะใช้เจือปนไปในเหล็กทั้ง 2 ชนิดว่าต้องมีค่าไม่เกินเท่าไหร่ เช่น ต้องมีส่วนผสมของโบรอน น้อยกว่า 0.0008% นิกเกิล น้อยกว่า 0.3% โครเมียม น้อยกว่า 0.3% ซิลิคอน น้อยกว่า 0.6% และทองแดง น้อยกว่า 0.4% เพื่อควบคุมคุณภาพของเหล็กที่มาจากเตาหลอมแบบ IF 

การพังทลายของโรงเหล็กแบบ EF จึงเริ่มต้นขึ้น จาก ‘สงครามตัดราคาขาย’ ของกลุ่มโรงเหล็กทุนจีน ที่มีต้นทุนต่ำกว่า และสามารถกินส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ เนื่องจากได้รับรอง มอก.เช่นเดียวกัน 

แต่ปัญหาใหม่ก็ตามมา เมื่อโรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบ IF มีการนำเตาหลอมที่ใช้เครื่องจักรเก่า ด้อยคุณภาพจากจีนเข้ามา และบางรายยังมีการนำส่วนผสมของ ‘โบรอน’ ที่เป็นธาตุกึ่งโลหะ ที่เป็นทั้งโลหะและอโลหะไปผสมในสัดส่วนมากกว่าที่กำหนด เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำให้ความแข็งของเหล็กเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีการใช้ผสมมากเกินไปกลับเป็นผลเสีย คือทำให้ ‘แข็งนอก อ่อนใน’ มีสภาพ ‘เปราะ’ หักได้ง่าย 

การรุกคืบเข้ามาตีตลาดของโรงเหล็กทุนจีนสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดในช่วงต้นปี 2563 รมว.อุตสาหกรรมในเวลานั้นคือ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ต้องมีการออกประกาศ เรื่องห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ในราชอาณาจักร โดยมีข้อความสำคัญที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะมีผู้ประกอบการบางรายใช้ ‘เครื่องจักรเก่า ด้อยคุณภาพ จากต่างประเทศ’ มาผลิตเหล็กเส้น

นับตั้งแต่ โรงเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบเก่า IF ของจีน ย้ายฐานการผลิตเข้ามายึดตลาดในไทย ไม่เพียงจะทำให้โรงเหล็กแบบ EF หลายโรง ต้องพ่ายแบบราบคาบจนต้องปิดตัวเองไปแล้วหลายราย ยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยหลายครั้ง ทั้งปัญหาเรื่องการปล่อยมลพิษทางอากาศในไทย

ที่ผ่านมาโรงเหล็กของ ซินเคอหยวน หรือ SKY ยังสร้างปัญหาอีกหลายครั้ง ตั้งแต่เหตุ‘ปั้นจั่นหอถล่ม’ ทับลูกจ้างจนเสียชีวิต 7 ศพ และยังตามมาด้วยเหตุ‘โรงงานระเบิด’ที่ระยอง เมื่อปลายปีที่แล้ว  

นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบพบว่า เหล็กที่ถูกผลิตและนำเข้าจากโรงงานแห่งนี้ เป็นเหล็กที่ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน ตามมาด้วยการยึด ‘อายัด’ เหล็กกว่า 2,400 ตัน และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายตามมา 

ล่าสุดยังพบว่า เหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานจากโรงงานนี้ กลับถูกนำมาใช้ในการวางโครงสร้างของตัวอาคารสำนักงาน สตง. ที่ทำให้สังคมเกิดคำถามตามมาว่า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารของ สตง.พังครืนลงมา

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปัญหาของ ‘ซินเคอหยวน’ อาจเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นขึ้นมาประจานให้เราเห็นถึงปัญหา แต่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

ที่ รมว.อุตสาหกรรม ‘ขิง’ เอกนัฏ ต้องหาคำตอบว่า นอกเหนือจากการไล่บี้ เล่นงาน ‘ซินเคอหยวน’ แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะปล่อยให้โรงงานเหล็กที่ใช้เตาหลอมแบบ IF ทุนจีนรายอื่นๆ ยังคงผลิต และขายเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร และถนนหนทาง โดยมีเดิมพันด้วยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไปหรือไม่ เพราะหมายถึง ‘หายนะ’ ที่กำลังรออยู่ข้างหน้า...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์