คงไม่ขอแสดงความยินดีกับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย เพราะหากจะมองว่าเป็นความน่าภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นคนที่สอง แถมยังมีอายุยังน้อยคือวัยเพียง 37 ปี
แต่ถ้าไม่ปฎิเสธความจริงที่อยู่ตรงหน้าก็ต้องยอมรับว่า หาก ‘อุ๊งอิ๊ง’ ไม่ได้เป็นลูกสาวของทักษิณ แห่งตระกูลชินวัตร ที่ผู้เป็นพ่อจำต้องยอมทิ้ง **‘ไพ่ใบสุดท้าย’**ผลักเข้าสู่ตำแหน่ง เธอคงไม่ได้เดินทางมาถึงจุดที่เป็น ‘ทุกขลาภ’ แบบนี้
มองอีกมุมหนึ่ง จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเรื่องน่าเศร้าด้วยซ้ำไป เพราะเท่ากับเป็นบทพิสูจน์และตอกย้ำว่า โครงสร้างทางการเมืองและสังคมไทย ยังคงถูก ‘ครอบงำ’ และตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ที่นักการเมืองยังคงใช้วิธีสืบทอดอำนาจในรูปแบบ ‘ญาติโกโหติกา’ โดยไม่ได้สนใจถึงคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำรัฐบาล เพียงเพราะต้องการรักษาอำนาจที่มีอยู่ไว้ให้นานที่สุด
มาถึงวันนี้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร กำลังจะต้องเผชิญกับความจริงที่แสนโหดร้ายในสมรภูมิการเมือง ที่ต้องแสดงภาวะความเป็นผู้นำรัฐบาลตัวจริงให้ทุกคนยอมรับมากกว่าที่จะอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้เป็นพ่อ
มีโจทย์ยากที่กำลังรอคอยให้ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง รอการแก้ไข ไม่เพียงโจทย์ด้านการเมืองที่พรรคเพื่อไทยต้องตกอยู่ในสภาพเป็นพันธมิตรจำยอมกับกลุ่มอนุรักษ์เพื่อต้านพลังสีส้ม ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนในอดีต ที่สำคัญ หน้าตาของบรรดา รัฐมนตรีใน ครม.ชุดใหม่ก็ยังต้องปลอดมลทิน จากผลพวงของ ‘พิชิตเอฟเฟ็ค’ ที่ทำให้อดีตนายกฯ เศรษฐา ต้องหงายเก๋ง ตกเก้าอี้ชนิดมีตราบาปติดตัวไปแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ยังมีเดิมพันสำคัญที่จะตัดสินว่ารัฐบาลชุดนี้จะไปได้ไกลแค่ไหนคือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องเร่งเข้ามา ‘กอบกู้’ ก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดวิกฤต จากเดิมที่อดีตนายกฯ เศรษฐา เคยวาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากถึงยากที่สุดสำหรับ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เพราะถึงแม้จะมีข้อสอบรั่วมาให้ก่อน แต่ก็ไม่มีใครโยนคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จมาให้ว่าจะต้องแก้อย่างไร
ยิ่งหากได้ฟังตัวเลขที่ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ‘ดนุชา พิชยนันท์’ แถลงเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส2 ขยายตัวได้ 2.3% ต่อเนื่องจากการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เมื่อบวกกับการเจริญเติบโตในไตรมาสที่ 1 ที่ระดับ 1.5% ก็หมายความว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกเติบโตได้เพียง 1.9 % ซึ่งหากจะหวังให้ GDP ของไทยในปีนี้ โตได้ถึง 3% แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ถึงแม้ สศช.จะปรับลดประมาณการลงโดยคาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.3 – 2.8% โดยมีค่ากลางที่ระดับ 2.5% ก็ยังเป็นเรื่องยาก เพราะหมายความว่าในช่วงครึ่งปีหลัง GDP ของไทยต้องโตไม่ต่ำกว่า 3.1% โดยในไตรมาสที่ 3ต้องโตได้ในระดับ 2.5-3% และไตรมาสสุดท้ายต้องโตได้ไม่ต่ำกว่า 3.2-3.7%
นาทีนี้ มีระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 10 ลูก ที่กำลังรอ ‘นารีขี่ม้าขาว’ คนใหม่ผู้มี DNA ของทั้งพ่อและแม่ อย่าง นายกฯอุ๊งอิ๊ง เข้ามาถอดสลัก ไล่เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ
- นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่เดิมจะแจกเงินให้คนไทยราว 45 ล้านคนๆละ 1 หมื่นบาท ผ่าน Super App ทางรัฐ ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือจะถอย โดยอาจจะยอมปรับลดโครงการลง และหันไปใช้มาตรการกระตุ้นให้เหมาะสมตามกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง
- นโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนที่ถีบตัวสูงขึ้นถึง 91.4% ของ GDP หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท แถมยังมีหนี้เสียสูงถึง 1.15 ล้านล้านบาท จนสถาบันการเงินเริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มชะงักงัน ผู้บริโภคหมดกำลังซื้อ
- นโยบายเรื่องหนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้มีภาระการคลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมียอดหนี้รวมกันสูงถึง 11.54 ล้านล้านบาท หรือราว 63.54% ของ GDP
- นโยบายด้านการเงิน ที่มีความขัดแย้งกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่อง การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่รัฐบาลของ นายกฯเศรษฐา โดยรัฐบาลต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
- นโยบายด้านการส่งออก ที่ต้องเร่งขยายตลาดส่งออก หลังจากสินค้าส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำเหลือเพียงราว 2% จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงอยู่ในโลกเก่า ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
- นโยบายด้านการนำเข้า ที่กำลังประสบปัญหาการถูก ‘ดัมพ์’ ราคาจากสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำ ผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่ได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA จนส่งผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศโดยเฉพาะSME ที่กำลังล้มตายกันทั้งระบบ
- นโยบายด้านการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และทำให้ผู้ซื้อถูกปฎิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
- นโยบายด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการรุกเข้ามาของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ที่ทำให้ตลาดภายในประเทศหดตัวอย่างรุนแรง
- นโยบายด้านตลาดทุน ที่ประสบปัญหาทั้งในเรื่องของธรรมาภิบาล และความซึมเศร้าของบรรยากาศหุ้นไทย จนกลายเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่ติดต่อกันมาหลายปี
- ปัญหาเรื่องขบวนการฉ้อโกงหลากหลายรูปแบบผ่านแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และ ธุรกรรมออนไลน์ ที่ซ้ำเติมผู้บริโภคที่รู้ไม่เท่าทัน
ยังไม่นับปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในยูเครน ตะวันออกกลาง หรือเมียนมาร์ ที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงาน ที่รัฐบาลก็ต้องรับบทหนัก ในการพยุงราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และไฟฟ้า จนภาระกองทุนน้ำมัน ‘ติดลบ’ ทะลุหลักแสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาการระบาดของ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ ที่กำลังทำลายระบบนิเวศน์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งของไทย หรือปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำตามฤดูกาล
ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าอยู่ในตอนนี้ หากไม่มี ‘ดรีมทีม’ เศรษฐกิจ ที่มีหน้าตาดูดีกว่าชุดที่เป็นอยู่ ต้องบอกว่าเพียงแค่คิดก็น่าหนักใจและเหนื่อยใจแทน นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ว่าจะ ‘เอาอยู่’ ได้หรือไม่ หรือจะมีบทสุดท้ายไม่ต่างจาก อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ผู้เป็นอา...