ปักชื่อ ‘เอกนิติ’ ผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป

12 มี.ค. 2568 - 02:30

  • จับตาผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป

  • ปักชื่อ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ มาแรงที่สุด

  • ไฟเขียวจากเจ้าของพรรคตัวจริง

economic-business-bot-executive-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังมติคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ‘สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์’ เป็นประธาน ได้มีมติเลือก ‘สมชัย สัจจพงษ์’ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ และเสนอชื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ปิดฉากยกแรกของแผนการปรับโครงสร้างบุคคลากรระดับสูงของในวังบางขุนพรม ภายใต้รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

ถึงแม้จะไม่สามารถดันรายชื่อแรก ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้ไปถึงเป้าหมายได้เนื่องจากติดประเด็นในเรื่องที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชานรายย่อยมาไม่ถึง 1 ปี แต่ในการเสนอรายชื่อใหม่ในรอบสอง ก็สามารถผลักดันให้ ปลัด ‘อู้’ สมชัย ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 5:2 เอาชนะ ‘ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์’ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สำเร็จ

ฉากต่อไปที่น่าระทึกใจมากกว่าที่ผู้คนในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน และคนในวังบางขุนพรหม กำลังจับตามองคือ การสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 22 ซึ่งมี ‘แคนดิเดต’ เสนอตัวจะเข้าสมัครรับการสรรหากันอย่างคึกคัก

โดยแต่ละคนก็มี ‘โปรไฟล์’ และมี ‘ดีกรี’ ไม่ธรรมดา โดยทุกคนต่างมีความรู้ความสามารถตรงตามคุณสมบัติ ตามที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด คือทุกคนต่างมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร หรือด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ 

ในปีนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 21 ‘ดร.นก’ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ จะครบวาระการทำงาน 5 ปี หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2563 โดยจะครบวาระในการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน จึงต้องมีการเปิดสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ โดยกระบวนการจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ โดย รมว.คลัง พิชัยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ 

จนถึงขณะนี้คาดว่ามีทั้งนักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งข้าราชการระดับสูงแสดงความสนใจที่จะรับสมัครเข้าคัดเลือกในตอนนี้แล้วอย่างน้อย 6 คน

อาจเป็นเรื่องธรรมดาในระบบอุปถัมภ์และรูปแบบการเมืองแแบบไทยๆ ที่มักจะดูจาก ‘นามของคน เงาของไม้’ คือนอกจากคุณวุฒิและประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเป็นคนของใคร 

ยิ่งตำแหน่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยิ่งมีความสำคัญ เพราะโจทย์สำคัญคือ รัฐบาลต้องการได้ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ที่พูดจาภาษาเดียวกัน และมีท่วงทำนองในการกำหนดนโนยายการเงินที่สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้มีการผ่อนคลายนโยบายด้านการเงินมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะผู้ว่าฯ ‘นก’ เศรษฐพุฒิ ดูจะสร้างความหงุดหงิดและขัดใจ เห็นต่างในเชิงนโนบายกับรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่าผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ต้องได้รับ ‘ไฟเขียว’ จาก VP1 อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้พ่อของนายกฯ**‘อิ๊งค์’** แพทองธาร 

ชื่อแรกที่ถูกจับตามองว่าน่าจะมีโอกาสสูงคือ ดร.‘ก้อย’ สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ที่ปัจจุบันนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท SCB Abacus ในเครือของกลุ่ม SCBX ที่ทำด้าน **‘ฟินเทค’**เทคโนโลยีด้านการเงิน ให้บริการสินเชื่อออนไลน์ผ่าน แอปพลิเคชัน ‘มันนี่ทันเดอร์’

ดร.ก้อย เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Harvard University และปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) เคยทำงานในองค์กรระหว่างประเทศอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสายงานบริหารความเสี่ยงของกลุ่มการเงิน ING ประเทศเนเธอร์แลนด์ 

ที่สำคัญคือ เธอเป็นลูกสาวของ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ พี่ชายของ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีลูกชายคือ รมช.คลัง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ในปัจจุบัน ทำให้ต้องถือว่าค่อนข้างใกล้ชิดกับฟากการเมืองเป็นพิเศษ

หากชื่อของ ดร.ก้อย ดูจะมี ‘แต้มต่อ’ เพราะนามสกุล ชื่อคนต่อมาที่เคยถูกมองว่า ‘รองบ่อน’ Underdog และค่อนข้างเสียเปรียบ คงหนีไม่พ้น ‘เอก’ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์ 

ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวว่า ชื่อของ เอกนิติ เป็นชื่อแรก ที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจะส่งไปสมัครตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติเพื่อผสานการทำงานระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติ

แต่เมื่อโผโยกย้าย 9 ผู้บริหารกระทรวงการคลังคลอดออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว เอกนิติ กลับถูกลดชั้นจากอธิบดีกรมสรรพสามิต ไปเป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า เขาอาจจะหลุดโผไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น ‘กุลยา ตันติเตมิท’ อธิบดีกรมสรรพากร ไปเป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต หรือ ‘ปิ่นสาย สุรัสวดี’ รองปลัดกระทรวงฯ ลูกชายของ ‘ปลอดประสพ สุรัสวดี’ คนของพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการโปรโมทไปนั่งเป็น อธิบดีกรมสรรพากร

เชื่อกันว่า ในตอนนั้น อดีตนายกฯทักษิณ ผู้พ่อของนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร อาจจะยังคง ‘คาใจ’ เพราะ เอกนิติ คือ ลูกชายคนเดียวของ ‘อิสสระ-ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ’ และ เป็นอิสสระ คนเดียวกับ อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ ตุลาการเสียงข้างน้อย ในคดีซุกหุ้น!!...

ถึงแม้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะลงมติคำวินิจฉัยกลาง 8 ต่อ 7 เสียง ให้ ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิดในคดีซุกหุ้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2544 โดยคำวินิจฉัยเสียงข้างมากระบุว่าไม่มีการเจตนาปกปิดหรือยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ไม่ได้กระทำการปกปิดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทั้งต่อตัวอดีตนายกฯทักษิณ และเป็นจุดผกผันครั้งใหญ่ของการเมืองไทยมาตราบทุกวันนี้ ที่ทำให้เกิดวลีอื้อฉาว ‘บกพร่องโดยสุจริต’

ตุลาการเสียงข้างน้อยทั้ง 7 เสียง ที่เชื่อว่า อดีตนายกฯทักษิณจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินมี อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ เป็นหนึ่งในนั้น นอกเหนือจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 6 ท่าน คือ ประเสริฐ นาสกุล, อมร รักษาสัตย์, สุจิต บุญบงการ, มงคล สระฏัน, สุวิทย์ ธีรพงษ์ และ อุระ หวังอ้อมกลาง

ในขณะที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 คน ประกอบด้วย กระมล ทองธรรมชาติ, อนันต์ เกตุวงศ์, พล.ท.จุล อติเรก, ปรีชา เฉลิมวณิชย์, ผัน จันทรปาน, ศักดิ์ เตชาชาญ, จุมพล ณ สงขลา และสุจินดา ยงสุนทร

อาจเพราะเหตุนี้ทำให้เชื่อกันว่า ‘เอกนิติ’ อาจถูกมองข้าม ถึงแม้เจ้าตัวจะมีดีกรีจบการศึกษาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจาก Claremont Graduate University สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย ก.พ. เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจาก University of Illinois at Urbana-Champaign สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย ก.พ. ส่วนปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยทุนของสมาคมธรรมศาสตร์ 

เอกนิติ ยังเคย ผ่านการเป็นอัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป  Senior Advisor ของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตันดีซี เคยผ่านงานฟากเอกชนด้วยการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ ยังไม่นับอีกหลายรางวัล อาทิ นักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งแห่งปี 2552

ที่กระทรวงการคลัง เอกนิติ ฉายแววความหวัง เป็นอนาคต ของกระทรวงวายุภักษ์ เคยผ่านงานโฆษกกระทรวงการคลัง รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทั่งอธิบดีกรมสรรพรกรและอธิบดีกรมสรรพสามิต ก่อนจะมานั่งในเก้าอี้อธิบดีกรมธนารักษ์ และปัจจุบันยังเป็นประธานกรรมการของ ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี

เส้นทางข้าราชการของ เอกนิติ ที่กระทรวงการคลังยังเหลืออีกราว 6 ปี แต่คงไม่ง่ายนักหากจะหวังถึงตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้การข้ามฟากมานั่งในตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ

ปัจจัยสำคัญจึงอยู่ที่การฝ่าอำนาจฝ่ายการเมือง คือต้องได้รับไฟเขียวจาก VP1 อดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งล่าสุดมีกระแสข่าวว่า เริ่มปล่อยวาง ไม่ยึดโยงเอาเรื่องราวในอดีต หรือดูที่ ‘นามสกุล’ ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร โดยเขาเชื่อว่า เอกนิติ จะเป็นตัวเลือกที่น่าจะเหมาะสมที่จะรับบทประสานการทำงานระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติได้ราบรื่นขึ้น เนื่องจากมีความรู้และประสบการณ์ทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง 

นอกเหนือจากทั้ง 2 คน ‘แคนดิเดต’ ที่สนใจจะสมัครชิงตำแหน่ง ผู้ว่าฯแบงก์ชาติในรอบนี้ ยังมีอีกหลายคนที่แสดงความสนใจเสนอตัว 

อีกชื่อที่อาจจะกลายนเป็น ‘ม้ามืด’ แซงทางโค้งปาดหน้าเข้าป้ายได้คือ ‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบกรณ์และความเชี่ยวชาญทั้งเศรษฐศาสตร์ การเงิน และตลาดทุน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในภาครัฐและเอกชน และมีดีกรีเคยเป็นถึง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งใน ‘สี่กุมาร’ ที่เป็นดรีมทีมด้านเศรษฐกิจของ รัฐบาลนายกฯ**‘ประยุทธ์ จันท์โอชา’** และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งดูจะได้แรงสนับสนุนจาก รมว.พาณิชย์ ‘พิชัย นริพทะพันธุ์’

อีกชื่อที่เป็นลูกหม้อของแบงก์ชาติ คือ ‘ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส’ รองผู้ว่าการด้านบริหาร ของแบงก์ชาติ ที่เติบโตมาในสายงานของแบงก์ชาติมาโดยตลอด แต่อาจไม่อยู่ในสายตาของ VP1 ที่ต้องการหาคนนอกที่ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดในเชิงอนุรักษ์ในแบบเดิม

นอกจากนี้ยังมีชื่อของ ‘ดร.ปิติ ตัณฑเกษม’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต ที่มีบทบาทและประสบการณ์ในการบริหารงานหลายด้านทั้งธุรกิจการเงิน พลังงาน รวมทั้งช่วยการบริหารงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในอดีตเคยรงตำแหน่งสำคัญมีบทบาทในการบริหารความเสี่ยง กำกับดูแล และพัฒนาระบบการเงินในหลายองค์กรชั้นนำ ในภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล 

ดร.ปิติ ยังเคยเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงระบบการเงินและงบประมาณ รวมถึงเป็น ประธานอนุกรรมการด้านการเงินและการบัญชี ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังเคยได้รับแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี 

ชื่อสุดท้ายที่เจ้าตัวแสดงความสนใจคือ ‘ดร.สันติธาร เสถียรไทย’ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และที่ปรึกษาด้าน Future Economy ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) 

สันติธารถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักคิดรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติที่สามารถสมัครเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ นอกจากเป็น กนง.และที่ปึกษาด้านเศรษฐกิจอนาคตของ TDRI ยังเป็นคณะทำงานอนุกรรมการของกฤษฎีการ่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ที่ปรึกษากรรมการวิสามัญของสภาฯด้านนโยบายปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ก็มีข้ออ่อน เนื่องจากยังมีวัยวุฒิไม่มาก จึงอาจจะต้องรอเวลาอีกระยะหนึ่ง

เชื่อกันว่าในช่วงที่มีการเปิดรับสมัครจริงอาจจะมี ‘ม้ามืด’ ที่จะเข้ามาสมัครเพิ่มในช่วงโค้งสุดท้ายเพิ่มอีกก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะผู้ว่าฯธปท.ใช้วิธีเปิดรับสมัครคัดเลือกซึ่ง หากมีผู้สมัครมาก อาจต้องตัดสินกันด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ 

แต่จนถึงนาทีนี้ ชื่อที่ต้อง ‘ปักป้าย’ เอาไว้เป็นชื่อแรก น่าจะเป็น ‘เอก’ เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมธนารักษ์คนปัจจุบัน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์