ก.ศึกษาฯ ปลุกผี ดันโครงการแจก ‘แท็บเล็ต’

30 ม.ค. 2568 - 02:31

  • งบประมาณรายจ่ายผูกพันทะลุ 4 แสนล้าน

  • กระทรวงใหญ่เสนอโครงการต่อเนื่อง

  • กระทรวงศึกษารื้อโครงการแจกแท็บเล็ตนักเรียนอีกรอบ

economic-business-education-tablets-students-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่ามกลางม่านหมอกของฝุ่นพิษที่คละคลุ้งปกคลุมไปทั้งประเทศ โดยเฉพาะในเมืองฟ้าอมรอย่างกรุงเทพมหานคร และในระหว่างที่คนไทยกำลังมุ่งให้ความสนใจในประเด็นร้อน ๆ ทางการเมืองหลาย ๆ เรื่อง

ทั้งมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รัฐบาลเพิ่งตื่นขึ้นมาประกาศให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่ไม่รู้ว่าจะเสร็จชาติไหน หรือเรื่องการเปิดบ่อนกาสิโนและพนันออนไลน์เสรี ไปจนถึงเรื่องปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของกลุ่มจีนเทาตามแนวชายแดนด้านเมียนมา

ขณะเดียวกันชาวบ้านอีกกว่า 3 ล้านคนที่เป็นผู้สูงวัยที่อายุเกิน 60 ปี ก็อาจจะกำลัง**‘ปริ่มเปรม’** กับการได้รับเงินหมื่น เฟส 2  

แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา กลับอาศัยจังหวะชุลมุน เห็นชอบการตั้ง ‘งบประมาณรายจ่ายผูกพัน’ ให้กับกระทรวงต่างๆในวงเงินรวมกันสูงถึง 4.21 แสนล้านบาท 

ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 สำหรับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 

ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2569  จะต้องมีการขออนุมัติงบประมาณผูกพัน ซึ่งปรากฎว่า บรรดารัฐมนตรีที่รับผิดชอบในแต่ละกระทรวงจากต่างพรรค พากันทำเรื่องเสนอขออนุมัติงบประมาณในโครงการต่างๆเข้ามาพร้อมกันถึง 12 หน่วยงาน รวม 57 โครงการ มีวงเงินผูกพันงบประมาณสูงถึง 421,119 ล้านบาท 

ในจำนวนนี้ กระทรวงคมนาคม ของรองนายกฯ และรมว. คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เสนอเข้ามาสูงสุด 36 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 291,291 ล้านบาท

โครงการใหญ่ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยมีการของบผูกพันระหว่างปี 2569-2573 ในวงเงินสูงถึง 125,233 ล้านบาท โดยเป็นการขอเพื่อนำไปรองรับการจ่ายค่าก่อสร้างให้กับกลุ่ม ‘เอเชีย เอรา วัน’ ของกลุ่มซีพี  ที่ได้รับสัมปทานไปตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งมีการแก้ไขสัญญาจากเดิมที่จะจ่ายเมื่อก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งาน เปลี่ยนมาเป็นจ่ายตามงวดงานระหว่างก่อสร้างตั้งแต่ปี 2569-2573 

นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการกระทรวงคมนาคมแห่งใหม่ บนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ติดกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย แขวงบางซื่อ โดยใช้วงเงินรวม 4,500 ล้านบาท ระยะเวลา 2569-2571 และโครงการลงทุนสำหรับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอีก 35 โครงการ ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2569-2574

ขณะที่กระทรวงกลาโหมของ รองนายกฯ ‘อ้วน’ ภูมิธรรม เวชยชัย เสนอขอผูกพันงบประมาณสำหรับ 3 เหล่าทัพ (กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) โดยเสนอเข้ามาเป็นวาระลับ 6 โครงการ วงเงินรวม 55,907 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่สำคัญอย่างเครื่องบินขับไล่กริพเพน ที่กองทัพอากาศมีแผนจัดซื้อเพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ F16 ที่ประจำการมาตั้งแต่ปี 2532 รวมอยู่ด้วย

กระทรวงสาธารณสุข ของ รองนายกฯ**‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’** เสนอของบผูกพันในวงเงิน 5,107 ล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างโครงการอาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงินรวม 1,800 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างสถาบันมะเร็งแห่งชาติแห่งใหม่ สาขาบางขุนเทียน 3,307 ล้านบาท

กระทรวงยุติธรรมของ ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ จากพรรคประชาชาติ เสนอขอผูกพันงบประมาณการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสธร 1,623 ล้านบาท 

กระทรวงมหาดไทย ของรองนายกฯ ‘หนู’ อนุทิน ชาญวีรกุล จากพรรคภูมิใจไทย เสนอขอผูกพันงบประมาณ 3 โครงการ วงเงินรวม 15,693 ล้านบาท ได้แก่ โครงการจัดหาและข่าวระบบคอมพิวเตอร์ทดแทนสำหรับการให้บริการงานทะเบียนและบัตรประชาชน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศน์บุรีรมย์และคลองสี่ของ กทม. และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของพรรคประชาธิปัตย์ รมว.‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ เสนอขอผูกพันงบประมาณรวม วงเงิน 6,141 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ระยะที่ 2 ที่คลองหก วงเงิน 4,586 ล้านบาท และโครงการป้องกันแก้ปัญหาภัยพิบัติ เหตุฉุกเฉินทางธรรมชาติโดยบูรณาการอากาศยานกับภาคพื้นดิน 1,555 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของพรรคกล้าธรรม รมว. ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’ เสนอขอผูกพันงบประมาณปี 2569-2572 วงเงินรวม 8,166 ล้านบาท  

ที่สำคัญ คือกระทรวงศึกษาธิการของ ‘พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ’ จากภูมิใจไทย เสนอขอผูกพันงบประมาณ 3 โครงการใหญ่ รวมวงเงิน 37,191 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ ‘ทุกที่ ทุกเวลา’ ระยะที่ 2 (2569-2573) วงเงิน 29,765 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษา ‘ทุกที่ ทุกเวลา’ วงเงินรวม 3,212 ล้านบาท และโครงการส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมด้วยระบบดิจิทัลพัฒนาทักษะและเครดิตพอร์ตโฟลิโอ วงเงิน 4,214 ล้านบาท

2 ใน 3 โครงการ คือ โครงการจัดหา กระดานชนวนยุคใหม่ หรือ ‘แท็บเล็ต’ ให้กับเด็กนักเรียนระดับมัธยมปลาย และเด็กอาชีวศึกษา โดยโครงการแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กมัธยมปลายราว 607,655 เครื่อง โดยจะขอรับงบประมาณในปี 2569 จำนวน 5,963.05 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหาในลักษณะเช่าใช้ 5 ปี และส่วนที่เหลือจำนวน 23,812  ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณในปี 2570-2573 ปีละ 5,963 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้ ในปีงบประมาณ 2567 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้รับจัดสรรงบประมาณ 482.26 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการระยะที่ 1 โดยมีเช่าใช้ระบบคลาวด์ จ้างที่ปรึกษาพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ โดยใช้เทคโนโลยดิจิทัลเป็นฐาน (NDLP) สำหรับโรงเรียนคุณภาพในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 349 โรงเรียน และในปีงบประมาณ 2568 ได้รับจัดสรรงบประมาณ 3,395 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานระยะที่ 2 เพื่อจัดหาแท็บเล็ต 

นอกจากนี้ ยังมีการขออนุมัติงบประมาณผูกพันข้ามปี ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษา ‘ทุกที่ ทุกเวลา’ ในการจัดหา ‘แท็บเล็ต’ อุปกรณ์การเรียนการสอนในลักษณะเช่าใช้ 4 ปี สำหรับนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปีที่ 1-3 ในสถานศึกษาอาชีวศึกษา 77 แห่ง รวม 159,332 เครื่อง ในวงเงิน 3,302 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 ปี (2569-2572)

ในปีงบประมาณ 2569 ขอจัดสรรจำนวน 803.03 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดหา และส่วนที่เหลือ 2,409 ล้านบาท ขอผูกพันงบประมาณในปี 2570-2572 ต่อไป รวมทั้งมีโครงการผลิตสื่อวีดิทัศน์หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษา สำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ และบริการหน่วยประมวลผลและพื้นที่หรืออุปกรณ์จัดเก็บสื่อดิจิทัล และการพัฒนาระบบ การเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบงานหรือระบบฐานข้อมูลภายนอกเพื่อขยายช่องทางเผยแพร่สื่อดิจิทัล งบประมาณ 90 ล้านบาท

โครงการแจกแท็บเล็ต เคยเกิดขึ้นเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ในยุคของ อดีตนายกฯ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ผู้เป็นอาของนายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ในชื่อโครงการ ‘One Tablet Per Child’ แต่ในยุคนั้น เป็นการแจกให้กับเด็กประถม และมัธยมต้น โดยผลาญงบประมาณไปราว 6 พันล้านบาท ในการจัดหาแท็บเล็ตจำนวนราว 2.49 ล้านเครื่อง แต่โครงการล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง จนต้องล้มโครงการไปหลังการปฎิวัติ  

ไม่น่าเชื่อว่า ทั้ง ๆ ที่โครงการแจก ‘แท็บเล็ต’ ดังกล่าวประสบความล้มเหลว และถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่มีลักษณะ ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ แต่มาถึงยุคนี้ โครงการในรูปลักษณ์แบบเดียวกันกลับถูก ‘รื้อฟื้น’ ขึ้นมาอีก จนทำให้เกิดคำถามว่าจะกลายเป็นอีกโครงการที่นักการเมืองหวังจะหาผลประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างอีกหรือไม่...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์