ไล่ล่า GDP ศึกพาณิชย์-แบงก์ชาติ

20 ก.ย. 2567 - 02:30

  • รัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่เครื่องร้อนอัดผู้ว่าแบงก์ชาติ

  • แนวคิดการไล่ล่า GDP ไม่ตรงกัน

  • ผ่านมา 2 นายกรัฐมนตรีก็ยังกดดันแบงก์ชาติต่อเนื่อง

economic-business-gdp-thai-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน เมื่อคนระดับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘ดร.นก’ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ออกมาตั้งคำถาม แสดงทัศนะที่ท้าทายและชวนให้สังคมไทยต้องมาฉุกคิดถึง การทบทวนกรอบแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่ทุกรัฐบาลจะมีการกำหนดเป้าหมายอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ผู้ว่าฯ นก ตั้งโจทย์ที่ท้าทาย 

‘เราไม่ควรโตแบบไล่ล่าตัวเลข GDP แต่ตัวเลขที่ต้องไล่ล่าคือ ‘ความมั่งคั่ง และรายได้ของครัวเรือนที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคน’ เพราะ GDP ไม่ได้สะท้อนความเป็นอยู่ของคน’

แต่ดูเหมือนยังไม่ทันดูรายละเอียด รมว.พาณิชย์ มือเก่าแต่ ‘ป้ายแดง’ พิชัย นริพทะพันธุ์ ก็กระโดดออกมาเล่นใหญ่ เปิด ‘วอร์’ ชนตรงๆแบบไม่หักหลบกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง

ไม่เพียงแสดงความ**‘ไม่พอใจ’**กับแนวทางการกำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติในปัจจุบัน ที่ไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย และปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว ยังเรียกร้องให้มีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ หรือ Quantitative Easing-QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ   

‘ผู้ว่าเองพูดในเชิงว่า เราเองไม่ต้องไปเน้น GDP ผมไม่รู้ว่าท่านจบ(การศึกษา)จากที่ไหนนะฮะ ผมว่าเป็นสิ่งที่ผิด ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ผิด ท่านพูดเหมือนกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง(เศรษฐศาสตร์) ทั้ง ๆ ที่น่าจะรู้ว่า GDP หมายถึงรายได้ หากคนไม่มีรายได้จะมีความสุขได้อย่างไร’

รมว.พิชัย วิพากษ์ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติว่าอย่างรุนแรง และผลที่ตามมาบนโลกออนไลน์ คือ บรรดาทัวร์ลงจนล้นลานจอด และบรรดากองเชียร์ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ต้องสวมบท ‘SAVE ผู้ว่าฯนก’ ขุดประวัติการศึกษาของทั้งสองคนมาเปรียบเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ว่าใครคือตัวจริง

น่าเสียดาย เพราะความจริงหาก รมว.พิชัย ไม่มี ‘มิจฉาทิฐิ’ ออกมาเล่นบท ‘โฉ่งฉ่าง’ หวัง ‘โชว์พาว’ จนเกินลิมิต แต่ตั้งสติสักนิด และลองกลับไปดูบริบทหรือเนื้อหาแนวคิดของ ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ที่ตั้งโจทย์ และนำไปใช้เพื่อวางกรอบและทิศทางในการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในยุคใหม่น่าจะดีกว่า

ในมุมมองของผู้ว่าฯแบงก์ชาติ เขาเชื่อว่าทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยจะมุ่งไปในแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องมองหา**‘รูปแบบใหม่ๆ’** เพราะเห็นได้ชัดจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ไม่สะท้อนไปสู่เรื่องของรายได้ครัวเรือนอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ GDP ของไทยจะเติบโตขึ้น แต่ก็ยิ่งทำให้เกิด**‘ความเหลื่อมล้ำ’** เพราะรายได้ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯและเขตเมือง

ภาคธุรกิจยังคงกระจุกตัวและสูบส่วนแบ่งรายได้จาก GDP ที่เติบโตขึ้นไปจนหมด ทุนใหญ่ที่มีสัดส่วนเพียง 5% ของธุรกิจทั้งหมด แต่สูบส่วนแบ่งรายได้เอาไว้ถึง 89% ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กที่เกิดใหม่ มีอัตราการตาย หรือ ‘เจ๊ง’ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง

ในเวลาเดียวกันจากบริบทโลกที่เปลี่ยนไป การคาดหวังการลงทุนจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment – FDI ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนด้วยกัน ทำให้ต้องมีการทบทวนมุ่งไปเฉพาะบางอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ ที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ เสนอแนวคิดที่ท้าทายว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้การเจริญเติบโตแบบเน้น ‘ท้องถิ่น’ เพื่อไล่ล่าความอยู่ดีกินดีมีสุขให้กับชาวบ้าน ช่วยกันกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งให้บานสะพรั่งไปทั่วทุกหัวเมือง แทนที่จะปล่อยให้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจยักษ์ หรือทุนใหญ่ ในกทม.และปริมณฑล เหมือนที่ผ่านมา

กุญแจสำคัญคือ รัฐบาลต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจ กระจายความเจริญ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น กระจายตัวไปทั่วทุกภูมิภาค ทุกลุ่มจังหวัด ไม่ใช่สักแต่ท่องคาถาว่าจะกระจายอำนาจ กระจายความเจริญเป็นนกแก้วขุนขุนทอง หรือลงมือแบบสะเปะสะปะ ขาดแผนที่ชัดเจน

ที่สำคัญคือต้องทำให้ท้องถิ่นมีความเป็นสากล สร้างองค์ประกอบที่จะทำให้ท้องถิ่นสากลเกิดขึ้นและแข่งขันได้  โดยการสร้างกลไกเชื่อมโยงตลาดท้องถิ่น กับตลาดสากล ผ่านโลกออนไลน์

ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ด้วยทรัพยากรในท้องถิ่น สร้างกลไกประสานความร่วมมือที่ช่วยเสริมพลังระหว่างกันในพื้นที่ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีต้นทุนต่ำ โดยส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเอง โดยการสร้างผู้นำชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชน และเชื่อมโยงพลังชุมชน กับพลังของธุรกิจเอกชน เพื่อหาสิ่งที่ win-win ร่วมกัน โดยไม่ต้องแบมือคอยความช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันภาครัฐต้องทำหน้าที่ในการปลดล็อคข้อจำกัด-อุปสรรค กฏระเบียบอะไรก็ตาม ที่ขัดขวางการปล่อยแสงแผลงฤทธิ์สำแดงพลังของชุมชน ต้องถูกขจัดออกไป เพื่อปลดปล่อยพลังของชุมชน สร้างความมั่นคงแข็งแรงจากฐานราก 

หาก รมว.พิชัย ทำใจให้ร่มๆ ค่อยๆพิเคราะห์ก็จะพบว่า ทั้งหมดที่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ นำเสนอคือการจุดประกายแนวคิดในเรื่องของ ‘ท้องถิ่นสากล’ ที่กระทรวงพาณิชย์ น่าจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากที่จะให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง 

ที่สำคัญแนวคิดดังกล่าวความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพรรคเพื่อไทย เพราะย้อนกลับไปตั้งแต่ในยุคของพรรคไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยใช้ปรัชญาแนวคิด **‘Think Global, Act Local’ ** ที่นำไปสู่แนวคิดเรื่อง กองทุนหมู่บ้าน และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP 

รมว.พิชัย น่าจะย้อนกลับไปถอดบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวของโครงการเหล่านี้ ซึ่งคนที่จะสามารถไขให้เกิดความกระจ่างได้ดีที่สุดก็อยู่ไม่ไกล คือ ‘ดร.หูกระต่าย’ พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร 

รมว.พิชัย ต้องยอมรับความจริงว่า ต้นทุนทางสังคมของตัวเอง เมื่อเทียบกับ ผู้ว่าฯแบงก์ชาตินั้นยังห่างกันลิบลับ ขืนกระโจนเข้าไปสร้างความขัดแย้ง เปิด ‘วอร์’ นอกจากไม่ได้แต้มแล้วยังจะหน้าแตกเสียเปล่า ๆ ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์