จนถึงนาทีนี้ ถามว่าจะมีใครสักกี่คนเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่า ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังในการกำเม็ดเงินเกือบ 225 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ในในสัดส่วน 57.81%ของบริษัท อีเทอเนิล เอนเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ EE ของ ‘นอท กองสลากพลัส’ หรือพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นมีความเชื่อลึกๆว่า ทั้งหมดน่าจะเกิดจากฝีมือการใช้วิทยายุทธ์ ‘ก้นหีบ’ ของเจ้าของและเจ้ามือที่ใช้รูปแบบการทำ Backdoor Listing เพื่อนำบริษัทเข้าตลาดฯในทางอ้อมมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างเนื้อหาหรือ Content โดยมีเป้าหมายที่จะปลุกชีพจรหุ้น EE ที่ตกอยู่ในสภาพตายซากอยู่ในห้อง ICU ให้พลิกฟื้นกลับมาอยู่ในความสนใจของนักลงทุนใหม่อีกรอบ
วิชา ‘ก้นหีบ’ ที่ถูกล้วงมาใช้ในคราวนี้ คือการสร้าง ‘สตอรี่’ โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ที่เคยได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดการเงินน้อย’ ฉาย บุนนาค และ ‘นอท’ พันธ์ธวัช ที่ใช้วิทยายุทธ์พิสดารในการส่งสัญญาณให้บรรดา**‘ขาใหญ่’** ในตลาดฯที่มีพฤติกรรมไม่ต่างอะไรกับ ‘ฉลาม’ ที่ได้กลิ่นคาวเลือดโดดเข้ามาร่วมเล่น ‘มันนี่เกม’ ช่วยดันราคาหุ้น EE เพื่อทำให้บรรดานักลงทุนสาย ‘เทรด’ ที่เห็นจังหวะในเก็งกำไรช่วงสั้นให้เข้ามาผสมโรง ช่วยจุดไฟล่อบรรดา ‘แมงเม่า’ นักลงทุนรายย่อยให้บินเข้า**‘กองไฟ’** แห่งความโลภ
เพราะเหตุนี้ จึงทำให้ หุ้น EE ซึ่งเคลื่อนไหวประมาณหุ้นละ 20 สตางค์ มาพักใหญ่ มีราคาพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา
หลังมีข่าว ‘นอท’ พันธ์ธวัช เข้ามาถือหุ้นใหญ่ โดยราคาพุ่งขึ้นชนเพดานสูงสุด 3วัน แบบไม่สนคำเตือนใดๆจากตลาดหลักทรัพย์ฯ จากราคาปิดที่หุ้นละ 20 สตางค์ ขึ้นไปปิดที่ 36 สตางค์ ในวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม และชน ‘ซิลลิ่ง’ อีกวัน ในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยปิดที่ราคาหุ้นละ 47 สตางค์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
การเข้ามาซื้อหุ้น EE ‘บิ๊กล็อต’ ผ่านตลาดหุ้น จำนวน 1,607 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 14 สตางค์ มูลค่า 224.98 ล้านบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ โดย ‘นอท’พันธ์ธวัช จะกลายเป็นถือหุ้นใหญ่ 57.81% และเตรียมที่จะตั้งโต๊ะเปิด ‘เทนเดอร์ ออฟเฟอร์’ เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิม
หลังจากเข้ามาทำ Backdoor Listing เพื่อเข้าตลาดฯในทางอ้อม เย็นวันเดียวกันEE ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท โดยมีมติแต่งตั้ง ‘นอท’ พันธ์ธวัช เป็นประธานกรรมการบริษัท และมีมติเพิ่มทุนจำนวน 2,780 ล้านหุ้น เสนอขายบุคคลในวงจำกัด 5 ราย ในราคาหุ้นละ 19 สตางค์ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเทคลีด เอ็นพีแอ็น จำกัด (มหาชน) Tech Lead NPN
ราคาหุ้นของ EE พุ่งทะยานขึ้นมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเพียงแค่ข้ามสัปดาห์ ทำให้ ‘นอท’ พันธ์ธวัช มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ ‘ขอทานถูกหวย’ เพราะต้นทุนหุ้น EE ของนายพันธ์ธวัชจำนวน 1,607 ล้านหุ้นอยู่ที่ 14 สตางค์เท่านั้น และหุ้นเพิ่มทุนที่จะขายให้บุคคลวงจำกัด 5 รายจำนวน 2,780 ล้านหุ้น ขายในราคาเพียง 19 สตางค์ ซึ่งเท่ากับจะได้ ‘กำไรกลางอากาศ’ จำนวนมหาศาล
หากลองดูเส้นเรื่องหรือ Story Line ของการเข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ใน EE จะพบว่า ทั้งหมดมีเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกันของ กลุ่มคอมลิงก์ ของ ‘ศิริธัช โรจนพฤกษ์’ กลุ่มสื่อใหญ่ค่ายบางนา ของ ฉาย บุนนาค และกลุ่มของ ‘นอท’พันธ์ธวัชที่มีอดีตบิ๊กตำรวจเป็น **‘แบ็กอัป’**ใหญ่
ถึงแม้ ‘นอท’พันธ์ธวัช จะออกคำชี้แจงทันที ถึงการเข้ามาถือหุ้น EE โดยระบุว่า มองเห็นศักยภาพและโอกาสของบริษัทในธุรกิจด้านเทคโนโลยี และเชื่อมั่นจะสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้วยการบริหารที่โปร่งใส มีเป้าหมายที่ชัดเจน
โดยตั้งใจผลักดันบริษัทให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้นและผลักดันให้ ‘EE’ กลายเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือในระดับประเทศ
แต่จะมีใครสักกี่คนที่เชื่อว่าเขาจะไม่นำธุรกิจจำหน่ายสลากออนไลน์ของตัวเองเข้ามาดำเนินการเป็นธุรกิจหลัก นอกเหนือจากการขยายธุรกิจไปในสายเทคโนโลยี ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะ ‘โฟกัส’ ไปในเทคโนโลยีด้านไหน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็ดูจะ ‘ไม่ค่อยสบายใจ’ กับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น จึงมีการออกประกาศเตือนนักลงทุนตามมา โดยขอให้ศึกษาข้อมูลหุ้น EE ด้วยความระมัดระวัง กรณีบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจและอำนาจควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงที่แตกต่างจากธุรกิจปัจจุบันของบริษัท ซึ่งเป็นธุรกิจการเกษตร โดยบริษัทคาดว่าจะลงทุนภายในปี 2568 และมีผลตอบแทนการลงทุนไม่น้อยกว่า 12% จึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้ EE ชี้แจงข้อมูลกรอบเวลาที่จะศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในธุรกิจ Tech ผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลภายใน 11 ธันวาคมนี้
ก่อนจะไปดูเส้นทางชีวิตของ ‘นอท’ พันธ์ธวัช ที่หาญกล้าเข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ของ EEจนขึ้นแท่นเป็นเศรษฐีร้อยล้านได้ในชั่วข้ามสัปดาห์
คงต้องย้อนกลับไปดูเส้นทางของหุ้น EE ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ และดูจะเนื้อหอมสำหรับบรรดาพ่อมดนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นพิเศษ
EE เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2536 ในชื่อบริษัท ซีฮอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ม้าน้ำ’ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง โดยมีห้องเย็นอยู่ที่สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ มีทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท ต่อมาในราวปี 2549 กลุ่มคอมลิงค์ ของ ศิริธัช โรจนพฤกษ์, วรเจตน์ อินทามาระ และ สมโภชน์ อาหุนัย เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อีเทอเนิล เอนเนอยี หรือ EE และหันไปลงทุนในธุรกิจพลังงาน ตั้งโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง
กิจการของ EE ลุ่มๆดอนๆมาพักใหญ่ จน ‘อรอร อัครเศรณี’ ลูกสาวของ ‘ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี’ ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับ ฉาย บุนนาค สื่อใหญ่ค่ายบางนา โดดเข้าไปซื้อหุ้นจากกลุ่มคอมลิงก์ ของศิริธัช ในปี 2564 และเปลี่ยนธุรกิจหลักของEE ใหม่อีกครั้ง
โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท แคนนาบิซ เวย์ จำกัด ซึ่งทำธุรกิจกัญชง-กัญชา ของ ‘จ๊ะเอ๋’ อุนารินทร์ กิจไพบูลทวี แต่ยังไม่ทันเห็นความก้าวหน้า ก็ถูก ‘นอท’ พันธ์ธวัช เข้ามาซื้อหุ้นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
สำหรับเส้นทางชีวิตของ ‘นอท’ พันธ์ธวัช ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ EE คงต้องยอมรับว่า มีกราฟชีวิตที่ขึ้นลง หวือหวา จนน่าศึกษาไม่น้อย
เขาเคยให้สัมภาษณ์ **‘มติชนสุดสัปดาห์’**โดยเล่าว่าเกิดในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่หลายคนเรียกว่า ‘เพิงหมาแหงน’ จนถึงอายุ 17 ปี และเคยเดินเข้าสู่สายดาร์คแบบสุดๆ โดยไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาเสพติด แต่ต่อมารับสภาพตัวเองไม่ไหว จึงตัดสินใจเลิกยาบ้า และบุหรี่ เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ทำงานกลางคืนอยู่ราว 7 ปี ก่อนกลับบ้านไปบวช แต่งงาน และมีลูกในวัย 25 ปี และหันมาทำงานประจำเป็น พนักงานส่งเอกสาร
จนต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างหลังจากทำงานประจำอยู่ 3 ปี เขาเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำไม่มีความก้าวหน้า จึงลาออกมาเปิด ร้านเกม และนี่ก็คือ ‘จุดเปลี่ยน’ ที่พาเขาเข้าสู่วงการออนไลน์เต็มตัว จนผันตัวมาเป็นโค้ชสอนหลักสูตรวิธีหาเงินทางอินเทอร์เน็ต สามารถสร้างรายได้สูงสุดกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน
แต่ว่าชีวิตของเขาก็ดิ่งลงอีกครั้ง จากการใช้เงินเกินตัว จนชีวิตพังพินาศอีกครั้ง แต่ก็ลุกขึ้นมาได้ใหม่ โดยเริ่มจากการทำคลิปสั้น ‘ไฮไลท์’ ฟุตบอลลีกอังกฤษ และยุโรป และทำให้เริ่มเห็นโอกาสในการทำธุรกิจลอตเตอรี่ออนไลน์ ในชื่อ ‘กองสลากพลัส’ โดยมีกระแสข่าวซุบซิบในวงการว่า เขามี ‘แบ็กอัป’ เป็นถึงอดีตบิ๊กตำรวจใหญ่ ที่ชอบเล่นหุ้น
‘นอท’พันธ์ธวัช พยายามโปรโมทสลากออนไลน์ โดย กองสลากพลัสเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลัก ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรือ ‘เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็ค
ทริค คัพ 2022’ ที่ทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ในยุคที่มีอดีตบิ๊กตำรวจเป็นนายกสมาคมฟุตบอล โดยใช้เงินไปกว่า 67 ล้านบาท
ในปี 2566 ธุรกิจสลากออนไลน์ของเขา ตกเป็นเป้าเนื่องจากเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยถูกกล่าวหาว่ามีการขายสลากฯ เกินราคา ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง และยังพบว่ามีเส้นทางการเงินที่ไปพัวพันกับขบวนการฟอกเงิน มูลค่ากว่าพันกว่าล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เขาใช้ท่าพิสดารจนดิ้นหลุดจากข้อกล่าวหา และกลับมาทำธุรกิจสลากออนไลน์ใหม่อีกครั้ง แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันโดยตรงกับ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบลาล ที่มีการออกสลากออนไลน์ผ่าน แอปพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดเริ่มลดลงเรื่อยๆ
‘นอท’ พันธ์ธวัช ยังเคยตั้งพรรคการเมืองชื่อ ‘เปลี่ยน’ และยื่นจดทะเบียนพรรคตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2565 โดยเน้นในเรื่องการปฎิวัติวงการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้เสียงจากบัญชีรายชื่อจำนวน 53,706 คะแนน ไม่ได้เก้าอี้ในสภาฯ
การเดินหมากเข้าไปลงทุนในหุ้นของ EE จนสามารถเข้าไปถือหุ้นใหญ่ได้ ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า ‘นอท’พันธ์ธวัช จะนำพา EE ให้กลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีจริงหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการนำ ธุรกิจสลากออนไลน์ของเขาเข้ามาตลาดหุ้น เพื่อใช้เป็นแหล่งระดมทุนแบบถูกกฎหมาย
ที่สำคัญยังช่วยทำให้หุ้นของ EE ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยหวังว่าจะมีอนาคตที่สดใสขึ้น จนทำให้ถูกมองว่า ทั้งหมดก็เป็นเพียง Money Game ที่ Win Win ทั้งเจ้าของหุ้นเดิม และ ‘นอท’ พันธ์ธวัช เพราะธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่กำลังจะปั้นขึ้นมานั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง และต้องรอการพิสูจน์กันแรมปี
บางทีการเปลี่ยนเจ้ามือใหม่จากกลุ่มฉาย บุนนาค และอรอร อัครเศรณี มาสู่มือของ ‘นอท’พันธ์ธวัช อาจเป็นเพียง วิทยายุทธ์ ‘ก้นหีบ’ ที่ต้องการไล่หรือลากราคาหุ้นให้ขึ้นมาบนความคาดหวังซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นจริง
บรรดานักลงทุนที่กำลังเตรียมกระโจนเข้าไปลุยหุ้นตัวนี้ควรหาคำตอบกันดีๆ หากไม่อยากตกลงไปใน ‘กับดัก’ แห่งความโลภ และต้องเจอบทเรียนที่แสนเจ็บปวดซ้ำ ๆ อีกครั้ง...