วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายนนี้ ทุกสายตาของผู้คนในแวดวงเศรษฐกิจคงต้องจับตามองและ ‘โฟกัส’ ไปที่การประชุมของคณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการและกรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มีอดีตปลัดกระทรวงการคลัง ‘สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์’ เป็นประธาน ซึ่งคงถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้า ‘ลุยไฟ’ เลือก ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ตามโควตาที่เสนอโดยกระทรวงการคลังหรือไม่?
ในเวลาเดียวกัน คณะกรรมการสรรหาฯทั้ง 7 คน ยังต้องพิจารณาว่าจะเลือก ‘พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์’ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และ ‘พรอนงค์ บุษราตระกูล’ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ให้มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองตำแหน่งตามโควตาที่เสนอโดยกระทรวงการคลังหรือไม่อีกด้วย
ทั้งสามคนต่างเป็นที่ทราบกันดีว่า คือคนจาก ‘สายตรง’ ที่มีความใกล้ชิดและถูกส่งมาจากพรรคเพี่อไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะรุกเข้าไปเพื่อมีส่วนในการ ‘ปรับทิศทาง’ และแนวคิดในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงินให้สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลในปัจจุบันที่มุ่งเน้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโน้มเอียงไปในแนวคิดในการ**‘ผ่อนคลาย’**ทางการเงิน ทั้งในเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ย การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ไปจนถึงการดึงเงินสำรองจำนวนมหาศาลมาใช้ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ ‘สุดโต่ง’
เพราะเหตุนี้ มันจึงอาจจะกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ’ ที่อาจจะทำให้อนาคตของการดำเนินงานต่างๆในธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม และอาจจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติที่เคยมีเส้นแบ่งชัดเจน
จะลุกลามเข้าไปในวังบางขุนพรม และอาจทำให้เกิดสงครามภายชนิด **‘ลุกเป็นไฟ’**ตามมา ที่อาจสั่นสะเทือนและส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่เน้นในเรื่องของความเป็น ‘อิสระ’ ของธนาคารกลาง
ความพยายามในการคัดค้านการส่งตัวแทนของฟากการเมืองเข้ามานั่งในตำแหน่งสำคัญ อย่างประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติและกรรมการทรงคุณวุฒิ ถูกค้านค้านทั้งจากอดีตผู้ว่าการฯแบงก์ชาติถึง 4 คน อดีตผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ และ กลุ่มนักวิชาการ ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’
โดยมีการลงนามในแถลงการณ์คัดค้านร่วมกันถึง 3 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายเมื่อ
วันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ร่วมลงรายชื่อถึง 830 คน ที่แสดงความห่วงใยการถูก**‘ครอบงำ’**ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง
ในแถลงการณ์ล่าสุด กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมฯ ยืนยันว่าไม่ได้เจาะจงตัวบุคคลแต่เป็นห่วงกังวลในหลักการว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ชาติ จะต้องไม่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมือง และไม่เคยมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการ**‘แทรกแซงกดดัน’ให้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายทางการเงินตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ เพราะจะทำลายความ‘น่าเชื่อถือ’** ของธนาคารกลางที่ต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงในระยะยาว ยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นคนเก่งมีความสามารถสูงก็ยิ่งสร้างความห่วงกังวลว่าอาจใช้ความเก่งความสามารถในการแทรกแซงครอบงำได้
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมฯ เรียกร้องในตอนท้าย ขอให้กรรมการสรรหาฯทั้ง 7 คน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก
ต้องคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ยึดมั่นหลักการที่สังคมไทยในอดีตได้พยายามสร้างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง
ล่าสุด อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนล่าสุด ‘วิรไท สันติประภพ’ ยังถึงกับโพสต์ลงใน ‘เฟซบุ๊ก’ ส่วนตัว แสดงจุดยืนคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า
‘ขอย้ำอีกครั้งนะครับว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องอนาคตของชาติ’
‘ดร.ก้อ’ วิรไท ระบุว่า ‘แคนดิเดต’ ชื่ออะไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีประวัติเป็นคนการเมืองแบบแนบแน่นมีทัศนคติและวิธีคิดที่อยากแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางเพื่อตอบโจทย์การเมืองก็ไม่สมควร เพราะหากยอมให้ฝ่ายการเมืองส่งคนการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่าย จะเป็นอันตรายยิ่งต่อการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจไทย ทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง และทำลายหน่วยงานหลักทางเศรษฐกิจของประเทศให้อ่อนแอจนไม่เหลือสักหน่วยงานเดียวที่จะทัดทานนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ถูกไม่ควรได้
อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยังเตือนอีกว่า ในอนาคตอาจเห็นนโยบาย**‘ประชานิยมแบบปลายเปิด’**เต็มไปหมด เพราะไม่มีใครสนใจวินัยการเงินการคลัง มีแต่นโยบายที่หวังผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์การเมืองเป็นหลัก ในอนาคตนโยบายการเงิน และนโยบายสถาบันการเงินก็อาจจะถูกทำให้กลายพันธุ์เป็นนโยบายประชานิยมไปด้วย
อดีตผู้ว่าฯ วิรไท ทิ้งท้ายเรียกร้องว่า
‘11.11 ร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน อย่าให้การเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติได้โดยง่ายครับ’
ไม่มีใครปฎิเสธว่าในทางเทคนิค ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ อาจจะไม่มีอะไรขัดคุณสมบัติ แต่ ‘มรดกบาป’ ในอดีตทั้งในเรื่องจุดยืน วิธีคิด และทัศนคติที่เป็น ‘ปรปักษ์’ ข่มขู่ และมีแนวโน้มจะเข้าไป ‘คุกคาม’ การบริหารงานของแบงก์ชาติ ทำให้หลายฝ่ายอดหวั่นใจไม่ได้ว่า แบงก์ชาติอาจจะตกอยู่ในภาวะ ‘สุ่มเสี่ยง’ ที่จะถูกกำหนดทิศทางไปในทางที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายการเมือง ที่ต้องการผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองที่อาจนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้
มาถึงนาทีนี้ ก็คงต้องวัดใจ อดีตปลัด ‘สถิตย์’ และกรรมการสรรหา ทั้ง 7 คนว่าจะเลือกตัดสินใจอย่างไรระหว่าง ‘ชักม้าริมหน้าผา’ ยอมเปลี่ยนม้ากลางลำธาร โหวตเลือกตัวแทนคนอื่น เพื่อรักษาองค์กรอย่างแบงก์ชาติให้มีความเป็นอิสระเอาไว้ หรือจะเลือกเดินหน้าตามแรงกดดันทางการเมือง ยอมปล่อยให้ ‘วังบางขุนพรม’ ลุกเป็นไฟ ทั้งหมดคงมีคำตอบในวันนี้...