นโยบายซื้อหนี้เสีย ระวัง ‘คุณฝัน เราพัง’

21 มี.ค. 2568 - 02:01

  • ยังตามแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ภาพรวมยังไม่ดีขึ้น

  • นโยบายซื้อหนี้เสียประชาชน มาบริหารจัดการ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่

  • ก่อนหน้านี้ โครงการคุณสู้เราช่วย ก็ไม่เป็นไปตามเป้า จึงต้องหาทางใหม่

economic-business-thai-bad-debt-purchasing-policy-SPACEBAR-Hero.jpg

คงเป็นเพราะความรักลูก และมีเดิมพันสำคัญคือต้อง พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ก้าวพ้นจาก ‘ทศวรรษที่หายไป’ ให้ได้ จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้ สทร.- สุดที่รัก ผู้เป็นพ่อ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ต้องพยายามหาทาง ‘เค้น’ ไอเดียหรือแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะแก้ปัญหา ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่เป็นตัวฉุดรั้งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคง ‘ติดหล่ม’ เดินหน้าไปไหนไม่ได้เสียที เพื่อพิสูจน์ว่า พรรคเพื่อไทยในยุคของ นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ยังมีดีพอที่จะเป็นรัฐบาล

อดีตนายกฯทักษิณ ตระหนักดีว่า ตราบใดที่ยังไม่สารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ที่มีอยู่ถึงกว่า 13.6 ล้านล้านบาท หรือราว 89% ของ GDP ไทย โอกาสที่เศรษฐกิจไทย จะก้าวพ้นจาก ‘ทศวรรษที่สูญหายไป’ ก็คงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น 

แต่คงเป็นธรรมชาติของ อดีตนายกฯทักษิณ ที่เป็นคน ‘ช่างคิด ช่างฝัน’ จึงเกิดไอเดียบรรเจิดที่อยากจะใช้วิธีที่เคยประสบความสำเร็จในสมัย ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540 ในการซื้อหนี้ภาคธุรกิจมาบริหารผ่านกลไกของ ‘บริษัทบริหารสินทรัพย์’ หรือ AMC ซึ่งเป็นวิธีปกติที่ธนาคารพาณิชย์จะขายกองหนี้เสีย NPL ไปให้โดยมีส่วนลด เพื่อให้บริษัทเอกชนไปรับซื้อหนี้เอาไปบริหารต่อ โดยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กับลูกหนี้ บริหารต่อเพื่อทำกำไร 

ไอเดียของอดีตนายกฯทักษิณไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตื่นเต้นอะไรเลย

อดีตนายกฯทักษิณเคยพูดเรื่องนี้มาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่เวทีแสดงวิสัยทัศน์ของค่ายบางนา และต่อมารัฐบาลของลูกสาวก็นำไปศึกษาและบรรจุลงในคำแถลงนโยบาย 

แต่ไม่ได้ใช้วิธีซื้อหนี้มาบริหาร กลับกลายเป็นโครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ ซึ่งหลังจากเริ่มโครงการไปแล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับไม่ดี เนื่องจากเงื่อนไขหลายอย่างทำให้ประชาชนไม่อยากจะ ‘สู้’ ด้วย จนต้องกลับมาทบทวนและอาจจะต้องมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้จูงใจลูกหนี้ให้มาเข้าโครงการมากขึ้น

อาจเพราะเหตุทำให้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ค่อนข้างจะหงุดหงิดและคงอยากจะ ‘พลิกเกม’ หวังผลในการสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง จึงไปฉายหนังซ้ำอีกรอบบนเวทีปราศรัยที่พิษณุโลก โดยพยายาม ‘ตีฟู’ คิดดัง ๆ ว่า กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้หนี้คนไทยลดลงได้ โดยการซื้อหนี้ทั้งหมดของประชาชนออกจากระบบธนาคาร แล้วให้ประชาชนค่อยๆผ่อน โดยไม่ต้องชำระเต็มจำนวน เพื่อให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ แล้วปลดออกจากเครดิตบูโรให้หมด 

‘สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินรัฐบาล เพราะสามารถให้เอกชนลงทุน วันนี้รัฐบาลเป็นหนี้เยอะ เราเข้ามาหนี้ก็บานตะไทแล้ว จะขยับอะไรทีก็เป็นหนี้ไปหมด เราต้องสร้างหนี้ให้น้อยที่สุด แล้วก็สร้างโอกาสให้คนไทยมากที่สุด พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ต้องทำ’

อดีตนายกฯทักษิณเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่อาจเพราะบางครั้งเขาก็เหมือนหลงอยู่ใน ‘โลกเสมือน’ Metaverse คิดฝันไปข้างหน้า และชอบใช้วิธีโยนหมวกออกไปก่อน เพื่อสร้างกระแสจุดให้เกิดประกายความคิด 

ก่อนจะไปวิพากษ์แนวคิดนี้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ผู้จัดการใหญ่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ‘สุรพล โอภาสเสถียร’ เปิดเผยถึง​ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด​ ณ​ เดือนมกราคม​ 2568​ โดยอ้างถึงงานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วยฯ​ ซึ่งนำข้อมูล​สถิติของลูกหนี้ที่อยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโรไปแยกแยะสุขภาพ​ทางการเงิน พบว่ามีคนที่มีสุขภาพทางการเงินในระดับดี​ ชำระหนี้ได้ตามปกติเพียงราว 4.7 ล้านคน หรือราว 25% 

ในขณะที่มีลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสีย ถึงราว 3.3 ล้านคน หรือราว 17% ที่เหลืออยู่ในสภาพเริ่มมีปัญหาชำระหนี้ มีหนี้เกินศักยภาพ และสุ่มเสี่ยงเป็นหนี้เรื้อรัง ที่กำลังนำไปสู่การเป็นหนี้เสีย

เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของสินเชื่อในระบบที่มีการส่งข้อมูล​มาที่เครดิตบูโร​ทุกเดือน​ ตัวเลขคือ​ 13.58 ล้านล้านบาท จากบัญชีลูกหนี้ 85,442,460 บัญชี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ติดลบจากปีที่แล้วราว 0.5% ซึ่งหมายถึงยอดสินเชื่อรายย่อยแทบไม่ขยับ ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีเสียงบ่นทั้งแผ่นดินว่า ‘กู้ไม่ได้​ กู้ไม่ผ่าน’ เนื่องจากมีอัตราการปฎิเสธการให้สินเชื่ออยู่ในระดับที่สูง​

จำนวนบัญชีลูกหนี้กว่า 85.4 ล้านบัญชี ยังสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันคนไทยในวัยทำงานที่มีราว 35 ล้านคน ส่วนใหญ่มีหนี้โดยเฉลี่ยมีหนี้ประเภทใดประเภทหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2-3 บัญชี โดยหนี้หลัก ๆของคนส่วนใหญ่ จะเป็นหนี้บริโภคหรือหนี้กินใช้หมดไป คือหนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล 31.88 ล้านบัญชี มูลหนี้ราว 2.63 ล้านล้านบาท หนี้บัตรเครดิต 24 ล้านบัญชี มูลหนี้ 5.7 แสนล้านบาท ในขณะที่มีหนี้บ้าน 3.47 ล้านบัญชี มูลหนี้ 5.12 ล้านล้านบาท และหนี้รถ 6.24 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.39 ล้านล้านบาท   

เจาะลงไปในไส้ในของหนี้ของนาย-ก.นาย-ข.จะพบว่า 1.22​5 ล้านล้านบาท กลายเป็นหนี้เสีย​ NPLs คิดเป็นจำนวนทุกประเภทสินเชื่อ​ 9.5 ล้านบัญชี และอีก 5.8แสนล้านบาทเป็นหนี้ที่กำลังจะเสีย SM : Special Mention จำนวนราว 1.95 ล้านบัญชี

นอกจากนี้หนี้เสียบางส่วนก็มีการนำมาปรับโครงสร้างหนี้ทำ​ TDR.​กลายเป็นหนี้ปรับโครงสร้างอีก​ 1ล้านล้านบาทคิดเป็น​ 3.7ล้านบัญชี และมีการนำหนี้ที่เริ่มค้างชำระหรือเริ่มมีปัญหาแต่ยังไม่เกิน​ 90 วัน มาทำการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือทำ​ DR. เพื่อให้กลับมาเป็นหนี้ปกติ​ ตอนนี้มียอดสะสมอีกราว​ 9.2 แสนล้านบาทจำนวน​ 1.7 ล้านบัญชี

แต่เมื่อดูจากภาพรวมแล้ว ต้องยอมรับว่าจากตัวเลขดังกล่าวทั้งจำนวนบัญชีและมูลหนี้ต้องยอมรับว่า เรากำลังเผชิญกับปัญหาหนี้เสียของประชาชนในระดับที่อาจเรียกว่าวิกฤติจริง ๆ

ยิ่งหากเจาะลึกลงไปดูตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL จะพบว่าสถานการณ์ยังคงวิกฤติ ถึงแม้จะมีโครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ ออกมาแต่หนี้เสียทั้งระบบก็ยังคงสูงมากจนน่าตกใจ โดยเฉพาะหนี้เสียจากหนี้หลักๆทั้ง 4 ประเภท ที่ยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

หนี้บ้านมีบัญชีที่กลายเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงถึง 14.2% จากปีที่แล้ว คือราว 1.62 แสนราย โดยมีมูลหนี้เพิ่มขึ้น 27.1% หรือราว 2.36 แสนล้านบาท ในขณะที่หนี้เสียจากรถยนต์ เพิ่มขึ้น 12.8% คือราว 8.61 แสนราย มูลหนี้เพิ่มขึ้น 14.8% จากมูลหนี้ราว 2.96 แสนล้านบาท

นอกจากนี้หนี้บริโภค คือ หนี้จากบัตรเครดิต ก็มีหนี้เสียสูงถึงกว่า1 ล้านบัญชี โดยมีมูลหนี้เพิ่มขึ้น 10.3% หรือราว 6.95 หมื่นล้านบาท และยังมีหนี้เสียจากสินเชื่อส่วนบุคคลสูงถึง 4.85 ล้านบัญชี มูลหนี้เพิ่มขึ้นราว 8.7% หรือราว 2.84 แสนล้านบาท

ภาระหนี้สินที่กองเป็นภูเขาหลังจากเจอหลุมรายได้​ กลายเป็นตัวฉุดกระชากเศรษฐกิจ เซาะกร่อนบ่อนทำลาย​รากฐานความเข้มแข็ง​ของเศรษฐ​กิจ​

โครงการ ‘คุณสู้เราช่วย’ ที่ทั้งกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติกำลังพยายามนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหา ผ่านมาตรการ ‘จ่ายตรง​ คงทรัพย์​’ หรือ ‘ปิด จ่าย จบ’ หรือ แนวคิด ‘ซื้อหนี้’ ของ อดีตนายกฯทักษิณ จะเป็นเพียงฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้เร่งคิด เร่งทำก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป...

economic-business-thai-bad-debt-purchasing-policy-SPACEBAR-Photo01.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์