มาดามแป้ง เหยื่อมาเฟียฟุตบอลไทย

13 มี.ค. 2568 - 02:31

  • วิบากกรรมของวงการฟุตบอลไทย

  • การช่วงชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ไม่ต่างจากเกมการเมือง

  • ถึงเวลาจัดการ เก็บกวาดสมาคมฟุตบอลให้เรียบร้อย

economic-business-thai-football-mafia-SPACEBAR-Hero.jpg

สำหรับ มาดาม ‘แป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ วันเกิดครบรอบ 59 ปี ในวันที่ 21 มีนาคมของเธอปีนี้ คงไม่น่าจะมีความสุขสักเท่าไรเมื่อพบความจริงที่ยากจะปฎิเสธจากการต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนมหาศาลหลายร้อยล้านบาทของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่เกิดมาจากข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการของอดีตนายกสมาคมฯคนก่อนหน้าเธอ 

‘แป้งไม่ได้เป็นคนก่อหนี้ แต่ต้องมารับผิดชอบ เพราะแป้งทนเห็นสมาคมฯ ล้มละลายไม่ได้’

คำพูดทั้งน้ำตาของ ‘มาดามแป้ง’ ในงานแถลงผลงานหนึ่งปีในฐานะนายกสมาคมฟุตบอลฯ คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนของผู้ที่ตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของ มาเฟียนักการเมือง ในวงการฟุตบอลไทย ที่เข้าไปสูบเอาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลออกไป แต่กวาดขยะซุกไว้ใต้พรม ทิ้งมรดกของความเน่าเฟะที่ส่งกลิ่นเหม็นจนยากที่จะฝังกลบ และในที่สุดก็ถูกกวาดออกมาประจานจนกลายเป็น ‘ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์’  พูดกันสนั่นเมืองในตอนนี้ 

‘อิจฉานายกสมาคมฯ ใหม่ เข้ามาไม่ต้องสร้างอะไรเลย ไม่เหมือนผม มีแค่กุญแจดอกเดียว คนมาใหม่มีพร้อมทุกอย่าง’

แต่ในภาพของความเป็นจริง มรดกที่อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯคนเก่ง ‘บิ๊กอ๊อด’พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ทิ้งไว้ให้  ‘มาดามแป้ง’ ไม่ได้เพียบพร้อมทุกอย่างเหมือนที่เคยกล่าวไว้ แต่กลับกลายเป็น**‘หนี้’** และ**‘คดีความ’** รวมทั้งปัญหาต่างๆอีกมากมายที่รอการสะสาง   

เพราะเหตุนี้ พลันที่ ‘มาดามแป้ง’ หลั่งน้ำตา พร้อมกับพรั่งพรูให้ทราบถึงสภาพปัญหาที่เธอต้องเผชิญมาตลอดหนึ่งปีหลังจากมารับตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ จึงทำให้เกิดแนวร่วมทั้งแฟนบอลและคนทั่วไปบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาลที่นอกจากจะมาให้กำลังใจ ยังถามหาความรับผิดชอบของ ‘บิ๊กอ๊อด’  

‘ใครไม่อาย ผมอายครับ’

วาทะที่เจ็บลึกเขาเคยกล่าวไว้เมื่อตอนทีมชาติไทยในยุคของ **‘โค้ชซิโก้’**เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง พ่ายยับให้กับทีมชาติญี่ปุ่น 0 : 4 ในเกมรอบตัดเลือกฟุตบอลโลกเมื่อปี 2561 ถูกนำกลับมาเพื่อประชดประชัน เสียดสี และถามหาถึงความรับผิดชอบของ ‘บิ๊กอ๊อด’ ที่อาจจะทำให้สมาคมฯเดินเข้าไปสู่ความเสี่ยงของการล้มละลาย

มีบางคนเคยกล่าวว่า ปัญหาในวงการฟุตบอลไทยที่ทำให้ไม่สามารถประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ก็เพราะติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้งภายในที่เหมือนภาพจำลองของเวทีการเมืองระดับชาติ ที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจนกลายเป็น มหากาพย์ของความขัดแย้งระหว่าง ‘สีแดง-น้ำเงิน’ ที่เชือดเฉือนช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์มหาศาลในสมาคมฟุตบอลฯกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2550

‘มาดามแป้ง’ คือคนที่ตกเป็นเหยื่อ ‘สีฟ้า’ ที่พลัดหลงเข้ามารับบาปเคราะห์ หลังจากที่สงครามของทั้งสองสีเริ่มขยับถอยห่างออกไป ทิ้งไว้เพียงขยะกองโตให้เธอที่มาเป็นคนสุดท้ายต้องมาสะสาง 

คงไม่มีใครปฎิเสธว่า ‘ฟุตบอล’ คือ กีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเมืองไทย และแฟนบอลทุกคนต่างมีความฝันสูงสุดที่อยากเห็น ทีมช้างศึกของไทย ไปโลดแล่นใน เมกกะแห่งวงการลูกหนัง คือทัวร์นาเม้นท์ ‘ฟุตบอลโลก’ ถึงขนาดมีคำกล่าวของแฟนบอลไทยว่า ‘บอลนอกแค่สะใจ แต่บอลไทยอยู่ในสายเลือด’  

จุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ฟุตบอลไทยถูกลากเข้าไปผูกโยงกับการเมืองจนแยกไม่ออก ปฐมบททั้งหมดน่าจะเกิดขึ้นนับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพถูกจัดตั้งขึ้นในยุคของ ‘บังยี’ วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลฯ ในช่วงปี 2550-2558 ที่ช่วยในการยกระดับวงการฟุตบอลไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติมากขึ้น

สโมสรฟุตบอลอาชีพจำนวนมากถูกจัดตั้งขึ้นครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย โดยมีเหล่านายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นโดดเข้าร่วมในกระแส **‘ฟุตบอลฟีเวอร์’**ซึ่งหากไปค้นหาชื่อของประธานสโมสรฟุตบอลในไทยลีก เรียกได้ว่าเกือบจะทั้งหมดมีส่วนเชื่อมโยงกับนักการเมือง เพื่อหวังสร้างกระแสนิยมให้กับกลุ่มทุนการเมืองท้องถิ่นในแต่ละจังหวัด 

ต้องยอมรับว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยผลักดันให้วงการฟุตบอลไทยเข้าสู่ยุคเฟื่องฟู โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร ยุบพรรค และตัดสิทธิ์ในปี 2550 ทำให้นักการเมืองติดโทษแบนจำนวนมาก และหันมาใช้ฟุตบอลในการสร้างฐานสนับสนุนทางการเมือง และเมื่อฟุตบอลไทยลีกมีการยกระดับเป็นลีกอาชีพมากขึ้น และเกิดกระแส ‘บูม’ เราจึงเห็นภาพนักการเมืองและเครือญาติพาเหรดเข้ามาทำสโมสรฟุตบอลกันเกือบทุกจังหวัด

ฟุตบอลไทยถูกลากเข้าไปผูกโยงกับการเมือง เมื่อนักการเมืองเริ่มใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการรักษาความนิยมส่วนบุคคลเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า ‘อำนาจรัฐ’ ก็มีส่วนเสริมและเอื้อต่อการทำทีมฟุตบอลอย่างมาก ทั้งในส่วนของ ‘สปอนเซอร์’ หรือ ‘สนามแข่งขัน’ และนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจในการบริหารในสมาคมฟุตบอลฯ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล

มหากาพย์ของความขัดแย้งในสมาคมฟุตบอลฯ ที่ไม่ต่างอะไรกับ ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างค่ายการเมืองจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่ยุคของ ‘บังยี’ วรวีร์ ที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองในฟากฝั่งสีแดงในยุคนั้น ที่มีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับ ‘พี่วิ’ ระวิ โหลทอง สื่อกีฬายักษ์ใหญ่ค่าย ‘สยามกีฬา’ ที่เข้ามามีบทบาทและสร้างอิทธิพลในสมาคมฯ

จากจุดเริ่มต้นที่ล้มลุกคลุกคลาน เนื่องจาก ‘ไทยพรีเมียร์ลีก’ ยังไม่ได้รับความนิยมจากแฟนบอลในยุคแรก ๆ จนค่อย ๆ เริ่มเกิดกระแสบูมขึ้น ในวงการฟุตบอลไทย ทำให้เม็ดเงินและผลประโยชน์ต่างๆเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจากการจัดการแข่งขันทั้งในเรื่องของ สปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ที่ในระยะแรกถูกผูกขาดอยู่ในมือของ บังยี และ สยามกีฬา  

ถึงแม้กระแสบอลไทยจะดีขึ้น แต่ตรงกันข้ามกับผลงานของทีมชาติ คือ ไม่สามารถยกระดับทีมช้างศึกให้ก้าวข้ามชั้นจากระดับแชมป์อาเซียนไปสู่ระดับเอเชียทำให้แฟนบอลเริ่มหมดศรัทธา และเริ่มมีความขัดแย้งกับอีกกลุ่มที่เห็นต่างที่มี ‘ครูใหญ่’ เนวิน ชิดชอบ บิ๊กเนมในแวดวงการเมือง เจ้าของทีมปราสาทสายฟ้า ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดฯ’ ตัวแทนของฝั่งสีน้ำเงิน จนนำไปสู่ความพยายามเข้ามาช่วงชิงอำนาจ และทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งคุกรุ่นและปะทุขึ้นเป็นช่วง ๆ 

อาศัยจังหวะในช่วงที่พลังอำนาจทางการเมืองของ สีแดง ถดถอย ทำให้ค่ายสีน้ำเงิน เปิดสงครามตัวแทนรอบใหม่ในการชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯมาจากบังยี โดยหนุนหลัง ‘บิ๊กอ๊อด’ ให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ในช่วงปี 2559-2567 

การเข้ามาของ บิ๊กอ๊อด มีการฉีกสัญญา 10 ปี ที่ ‘บังยี’ เซ็นให้ ‘สยามกีฬา’ เป็นผู้ถือสิทธิประโยชน์ และยังมีการเปลี่ยนมาให้กับกลุ่มทรู คอปอเรชั่น ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดแทน จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันถึง 3 ศาล และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสมาคมฟุตบอลฯในชั้นฎีกาที่ต้องจ่ายค่าเสียหายชดเชยให้กับ สยามกีฬา เป็นตัวเงิน ถึง 360 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยอีกราว 200 ล้านบาท

ในเวลาเดียวกัน ผลงานของทีมช้างศึก ในยุคของ บิ๊กอ๊อด ก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ จน ‘บิ๊กป้อม’ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯรัฐมนตรี ในรัฐบาลลุงตู่ ต้องขอร้องแกมบังคับ ให้เขาต้องลงจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯคนใหม่ 

‘มาดามแป้ง’ ที่รักฟุตบอลเข้าสายเลือด โดดอาสาเข้ามาชิงตำแหน่งท่ามกลางกระแสเชียร์จากแฟนบอล จึงกลับกลายเป็นคนพลัดหลงที่ต้องเข้ามารับ **‘มรดกบาป’**กับ **‘หนี้กองโต’**และอีกสารพัดปัญหาที่ถูกซุกใต้พรมเอาไว้ จนนำมาสู่ควาอัดอั้นตันใจจนถึงขนาดต้องหลั่งน้ำตาในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

กระแสของ มาดามแป้ง ที่ลุกขึ้นมาเปิดแถลงข่าวเปิดหน้าที่จะต่อสู้ และจะพยายามใช้ กฎหมายไล่เบี้ยเอาผิดกับบิ๊กอ๊อด ให้ต้องรับผิดชอบกับความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน ได้รับเสียงเชียร์จากทุกทิศทาง หลังจากมีการ ‘แฉ’ เรื่องไม่ชอบมาพากลอีกหลายๆเรื่องแบบเปิดหน้าชนเต็มๆแบบไม่เกรงใจ  

ไม่น่าเชื่อว่าจากวันแรกของ บิ๊กอ๊อด ที่เข้ามารับตำแหน่งพร้อมกับประกาศสโลแกนว่า ‘มาจับโจร’ แต่ตอนนี้เขากลับโดนข้อครหามากมาย จนดูเหมือนว่าเขาจะกลายเป็นโจรเสียเอง

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดจากนี้ไปคือ บิ๊กอ๊อด จะออกมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร เพราะเท่าที่มีการให้ข่าวเบื้องต้น ก็เพียงแต่ยืนยันว่าสามารถอธิบายข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด และปิดท้ายว่าไม่ได้กังวลอะไร พร้อมอธิบายและชี้แจงทุกเรื่องในชั้นศาลหากมีการฟ้องร้อง

ในขณะที่คนที่น่าสงสารและต้องให้กำลังใจมากที่สุดในตอนนี้ นอกจาก ‘มาดามแป้ง’ ที่ต้องกลายเป็น ‘เหยื่อ’ ของมาเฟียนักการเมือง ในวงการฟุตบอลไทยแล้ว คงเป็นบรรดาแฟนบอลไทย ที่เมื่อมองไปยังอนาคตของวงการฟุตบอลไทยว่าจะเป็นอย่างไร ความหวังที่จะเห็นบอลไทยไปบอลโลก มันช่างดูสิ้นหวังเหลือเกิน...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์