ครอบงำ ‘การบินไทย’ จุดชนวนระเบิดเวลาลูกใหม่

6 พ.ย. 2567 - 03:00

  • 'ครอบงำ’ การบินไทย เริ่มก่อตัว

  • อาจเป็นชนวนระเบิด

  • ปัญหาใหม่ที่อาจสั่นสะเทือนรัฐบาล

economic-business-thaiairways-airline-finance-SPACEBAR-Hero.jpg

การกลับมาครองอำนาจในฐานะแกนนำรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในรอบนี้ ชื่อของ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร พ่อของนายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ที่เคยได้รับการยอมรับว่ามี ‘จุดแข็ง’ ในเรื่องของเกมการเมือง และเศรษฐกิจ กลับดูเหมือจะต้อง ‘คำสาป’ ทางการเมืองไม่มี ‘มนต์ขลัง’ เหมือนแต่ก่อน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นกลับกลายเป็น ‘จุดอ่อน’ เสียด้วยซ้ำไป 

ไม่เพียงเขาจะถูกนำไปเป็น ‘สารตั้งต้น’ ที่ถูกรุมถล่มจากบรรดา ‘นักร้อง’ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายแค้น ที่ใช้ ‘นิติสงคราม’ ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยพุ่งเป้าไปที่ตัวอดีตนายกฯ ทักษิณแล้วยังส่งผลไปถึงพรรคเพี่อไทยในหลาย ๆ คดี 

ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายหลาย ๆ อย่างที่ ‘พ่อคิด ลูกทำ’ ที่เคยมุ่งหวังจะให้เป็นจุดขาย กลับไม่สามารถผลักดันไปได้ง่าย ๆ เกือบทุกเรื่อง ไล่มาตั้งแต่นโยบายแจกเงินดิจิทัลหมื่นบาท นโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาท โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ หรือแม้แต่เรื่องของพลังงานที่มีความพยายามในการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่าง ไทย-กัมพูชา ทั้งหมดตกอยู่ในสภาพ ‘ฝันไกลแต่ไม่ถึง’ สักเรื่อง

ทั้งหมดคงเป็นผลพวงมาจาก ‘ตราบาป’ ในอดีตของอดีตนายกฯทักษิณ ที่ทำให้เกิดความระแวงในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และถูกตั้งคำถามเรื่อง ‘วาระซ่อนเร้น’ ในการดำเนินนโยบายในเกือบทุกเรื่อง

ความไม่ไว้วางใจยังลุกลามไปจนถึงความพยายามในการ ‘แทรกแซง’ แต่งตั้งคนในสายการเมืองเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ ๆ ด้านเศรษฐกิจ อย่างตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการผลักดัน ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เข้าไปปรับแนวคิดในเรื่องนโยบายด้านการเงินให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จนเกิดกระแสต้านอย่างรุนแรง

อีกเรื่องที่กำลังจะกลายเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง คือความพยายามในการกลับเข้าไปแทรกแซง และครอบงำ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) อีกครั้งหนึ่งผ่านกระทรวงการคลังที่ขอใช้สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ ยื่นขอเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จากที่เหลือเพียง 3 คน โดยเสนอขอเพิ่มชื่ออีก 2 คนจากภาครัฐ คือ ‘พลจักร นิ่มวัฒนา’ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จากกระทรวงการคลัง และ ‘ปัญญา ชูพานิช’ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) จากกระทรวงคมนาคม ทำให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลกำลังมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างหรือไม่?

ในหนังสือที่มีไปถึง ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ‘ธีรลักษ์ แสงสนิท’ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการคลัง ให้เหตุผลของการเสนอแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเพิ่มอีก 2 คน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’

มีการระบุว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญก่อนออกจากการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญและมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ในอนาคต จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทยมาร่วมตัดสินใจ และสนับสนุนในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ถือหุ้นของการบินไทย เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการและการออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

ที่ผ่านมา หลังจากการบินไทยต้องเดินเข้าสู่เส้นทางของการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่กลางดือนมิถุนายนปี 2565 และต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯมากว่า 3 ปี และกำลังเข้าสู่ ‘เฟสสุดท้าย’ ก่อนจะกลายร่างเป็น ‘นกฟินิกซ์’ กลับมาโบยบินด้วยความภาคภูมิใจ ‘Fly for The New Pride’ ในราวปีหน้า   

กว่าสามปีแห่งความเจ็บปวดที่การบินไทยต้องฝ่าฟันในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ จากตอนแรกที่มีผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ 5 คน ที่ศาลแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่บริหารการบินไทยให้เป็นไปตามแผน แต่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ จากธนาคารกรุงเทพ ลาออกไป 2 คน ทำให้เหลือผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเพียง 3 คน คือ ‘ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์’ อดีตดีดีการบินไทย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ‘พรชัย ฐีระเวช’ และ ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ อดีตซีอีโอของ ปตท. 

การเสนอขอแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯเพิ่มอีก 2 คนครั้งนี้จะพิจารณาพร้อมกับวาระการปรับโครงสร้างทุน หรือการแปลงหนี้ให้เป็นทุนและเพิ่มทุนใหม่ ซึ่งเป็นวิธีใช้ในการล้างขาดทุนสะสมที่มีราว 6 หมื่นล้านบาท โดยงบการเงินเฉพาะกิจการของการบินไทยยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท โดยศาลล้มละลายกลางนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตให้ความเห็นชอบในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด ทำให้เจ้าหนี้ในกลุ่มอื่น ๆ ไม่สามารถเรียกประชุมนอกรอบเพื่อประชุมภายในเพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันได้ทัน ทำให้คาดว่าอาจทำให้เจ้าหนี้กลุ่มใหญ่อย่างกระทรวงการคลัง สามารถโหวตผ่านแผนฟื้นฟูฯ และแต่งตั้งผู้บริหารแผนตามรายชื่อที่เสนอเข้ามาได้ 

สิ่งที่หลายฝ่ายทั้งเจ้าหนี้และคนในการบินไทยกำลังกังวลในตอนนี้ คือ หากผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯมาจากตัวแทนจากภาครัฐถึง 3 คน ก็จะส่งผลทำให้การบินไทยกลับมามีความเสี่ยงที่จะถูกแทรกแซงในการบริหารงาน และวิตกว่าอาจจะมีผลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยหลังจากนี้ และอาจจะ **‘ย้อนรอย’**ทำให้การบินไทยกลับไปตกอยู่ในอำนาจของการเมืองและถูกแทรกแซงไปตามที่รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยต้องการ โดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตร Strategic Partner ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนตามแผนเพิ่มทุนรอบใหม่ และการจัดซื้อฝูงบินใหม่

ที่ต้องกังวลก็เพราะก่อนหน้านี้ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย เคยแสดงท่าทีเป็นห่วงในเรื่องการจัดซื้อฝูงบินใหม่ แบบ ‘เกินเบอร์’ โดยเฉพาะการจัดซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 โดยตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ พร้อมกับตัดพ้อว่าเข้าไป ‘ล้วงลูก’ ไม่ได้ เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกระทรวงการคลัง ทำให้มีเสียงคัดค้านจาก ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี ในฐานะกรรมการเจ้าหนี้ โดยมีการทำจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าการเพิ่มผู้บริหารแผน จะทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจการบริหารแผนฟื้นฟูในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาครัฐ เพราะจะมีอำนาจสำคัญในการคัดเลือกกรรมการบริษัทที่จะกำหนดชะตากรรม และอนาคตของบริษัท โดยเฉพาะเรื่องการบริหารฝูงบินและการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม

ในฐานะตัวแทนเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ไม่เชื่อว่าการเพิ่มจำนวนผู้แทนจากกระทรวงการคลังมาเป็นคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู จะเกิดประโยชน์แก่เจ้าหนี้ หรือ การบินไทย รวมทั้งเกิดประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด กลับจะเป็นการเพิ่มต้นทุน และภาระกับบริษัท และอาจถูกแทรกแซงจากภาครัฐ และเห็นว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ฯ ครั้งที่ 7/2567 ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ จะแสดงจุดยืน ‘ไม่เห็นด้วย’ และ ‘ไม่ยอมรับ’ การเพิ่มจำนวนผู้บริหารแผนฯ 

ขณะเดียวกันกลุ่มอดีตพนักงานการบินไทย ที่มี ‘แจ่มศรี สุกโชติรัตน์’ ก็เริ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน และเรียกร้องให้เจ้าหนี้รายใหญ่ ๆ แสดงจุดยืน Vote No คัดค้านตัวแทน 2 คนจากภาครัฐเช่นกัน โดยเรียกร้องให้การบินไทยเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงจากการเมือง 

ในฝั่งฝ่ายค้าน ‘ไหม’ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ล่าสุดโพสต์ใน Facebook ระบุว่า ‘Leave การบินไทย alone!’ โดยระบุว่า รัฐบาลวางแผนยึดการบินไทย หลังกลับมากำไรต่อเนื่อง แม้ไม่เอากลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ส่งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพิ่ม 2 คน กุมเสียงข้างมาก ซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสิทธิ ทั้ง ๆ ที่จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า
‘ไหม’ ศิริกัญญา ระบุว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เป็นตัวแทนจากฝั่งเจ้าหนี้ไม่ใช่ตัวแทนผู้ถือหุ้น รัฐบาลให้การบินไทยกู้ 12,800 ล้าน จากยอดหนี้ 129,000 ล้าน หรือ 10% เท่านั้น แต่จะขอเป็นเสียงข้างมากในคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู เท่ากับเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้รายอื่น
เมื่อตอนการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูฯ รัฐบาลไม่ได้ให้การบินไทยกู้เพิ่ม แต่เรื่องเดียวที่ช่วยได้จนเกิดมรรคเกิดผล คือปลดการบินไทยจากสถานะ ‘รัฐวิสาหกิจ’ ทำให้การบริหารคล่องตัวขึ้นมาก แต่พอมาถึงวันนี้ การบินไทยกลับมายืนได้อีก ต้องยอมกลืนเลือดปลดคนออกไปกว่าครึ่ง ต้องปลดขายเครื่องบินและทรัพย์สินจำนวนมาก ปฏิรูปองค์กรให้กลับมาทำกำไรได้ต่อเนื่อง รัฐบาลกลับแสดงท่าทีว่าอยากกลับมามีส่วนร่วมในการบริหาร

ที่สำคัญจนถึงวันนี้ คนในการบินไทยยังคงเข็ดขยาดหวาดผวากับการที่รัฐบาลเข้ามายุ่มย่ามเรื่องการจัดซื้อเครื่องบิน A340 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ทำให้ขาดทุนยับเยินจนถึงวันนี้
ในเมื่อรัฐบาลเองก็ไม่ค่อยจะมีเงินที่จะเข้าไปเพิ่มทุน และที่มีหุ้นอยู่ในตอนนี้ก็มีอำนาจควบคุมการบินไทยเพียงพอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุน หรือส่งผู้บริหารแผนเข้ามาเพิ่มอีก ถ้าคนในรัฐบาลไม่ได้เล็งเป้าผลประโยชน์อื่น ๆ ที่อยู่ในการบินไทย ศิริกัญญา ระบุในโพสต์

ทั้งนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนปรับโครงสร้างทุน หลังจากยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)

ขณะนี้อยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์ และดำเนินการตามกระบวนการทางการตลาด เพื่อแจ้งข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้นรายเดิมในการยื่นเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนที่จะสิ้นสุดการใช้สิทธิ์ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป้าหมายของการปรับโครงสร้างทุน เพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลายเป็นบวก

ตามแผนการแปลงหนี้ให้เป็นทุนและการเพิ่มทุนใหม่ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น แยกเป็น 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น
  2. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมตามแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมโดยความสมัครใจของเจ้าหนี้
  3. การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุนโดยความสมัครใจของเจ้าหนี้

ขณะเดียวกัน หลังจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วเสร็จ การบินไทยจะเสนอขาย ‘หุ้นเพิ่มทุน’ จำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฯ พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยคาดว่าจะดึง Strategic Partner จากต่างประเทศ และอยู่ในธุรกิจสายการบินเข้ามา 

หลังจากดำเนินการปรับโครงสร้างทุนเสร็จภายในปีนี้ 2567 การบินไทยจะส่งงบการเงินปี 2567 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงต้นปี 2568 แล้วคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และกลับเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ฯ ได้ภายในเดือนมิถุนายนปี 2568

ภายหลังการปรับโครงสร้างทุน คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สัดส่วนหุ้นจะลดลง โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ จะถือหุ้นราว 45% และไม่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถบริหารในรูปแบบเอกชนเต็มตัว สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆได้อย่างเต็มที่  

ในช่วง 4 ปีที่ผ่าน การบินไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งในเรื่องการทำงาน การบริหาร การจัดการ เรื่อง network การบริหารจัดการต้นทุนที่ลดลงไปอย่างชัดเจน ทำให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ และเจ้าหนี้มั่นใจว่าบริษัทจะมีความยั่งยืนและสามารถสร้างผลกำไรได้ต่อไปในอนาคต

สำหรับแผนจัดหาฝูงบิน จากนี้จนถึงปี 2572 การบินไทยจะจัดหาเครื่องบินเข้ามาเป็น 143 ลำ เพื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในตลาดการบิน และมีแผนจะเพิ่มเป็น 150 ลำในปี 2576 โดยในระหว่างนี้การบินไทยจะจัดหาเครื่องบินนำมาใช้ชั่วคราวก่อน โดยในตอนนี้มีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำ มีจุดบิน 62 จุดใน 27 ประเทศ และมีเที่ยวบินสัปดาห์ละ 803 เที่ยวบิน

กระแสต้านความพยายามในการเข้าไป ‘ครอบงำ’ การบินไทย ของรัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ แพรทองธาร เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว และพร้อมที่จะถูกจุดระเบิดจนอาจกลายเป็นปัญหาใหม่ที่อาจจะสั่นสะเทือนรัฐบาลได้อย่างแน่นอน หากยังแข็งขืนไม่ยอม ถอดสลักระเบิด!!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์