กว่าจะคิดได้ แต่ก็ยังไม่สายเกินไป เมื่อรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ‘แบงค์’ พิชัย ชุณหวชิร จะนัดหมายเพื่อเปิดใจคุยกับ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ดร. ‘นก’ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ในสัปดาห์หน้าเพื่อปรับทัศนคติและหารือเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายด้านการเงิน ทั้งในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และค่าเงินบาท
ต้องยอมรับว่า หากดูตัวบุคคลแวดล้อมที่ทำหน้าที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีของและต้องเล่นบท ‘พี่เลี้ยง’ ให้กับ นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร ในด้านต่าง ๆ รมว.พิชัย อาจจะเป็นเพียงไม่กี่คนที่พอจะเป็นความหวังมากที่สุด ในฐานะ ‘แกนหลัก’ คนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้นโยบายเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ขับเคลื่อนไปได้ หลังจากกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยต้องสูญเสียโอกาสไปในยุคของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันในหลาย ๆ เรื่อง
ที่ผ่านมาเพราะคนในฝั่งการเมืองของพรรคเพื่อไทยไม่พยายามเข้าใจบทบาทและความหมายของคำว่า ความเป็น ‘อิสระ’ ของแบงก์ชาติ จึงมองว่า ผู้ว่าฯเศรษฐพุฒิ มี ‘อคติ’ กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย ‘อารยะขัดขืน’ ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลาย ๆ โครงการ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และยังไม่ให้ความร่วมมือในการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
คนในรัฐบาลตั้งแต่ยุคของอดีตนายกฯ เศรษฐา จนมาถึงล่าสุด รมว.พาณิชย์ พิชัย นริพทะพันธุ์ ยังคงมีอารมณ์ค้าง เปิด ‘วอร์’ อัดแบงก์ชาติแบบขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ จนโดนกลุ่ม Save ผู้ว่าฯ ตอบโต้ เปิดลานรถ ‘ทัวร์’ กระหน่ำยับเยินจนแทบเสียผู้เสียคน
ความจริงหากคนในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าใจในหลักคิดและความสำคัญของความเป็นอิสระของแบงก์ชาติว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ปัญหาทั้งหมดคงไม่เกิดขึ้น
‘Trust & confidence’ คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางของทุกประเทศจำเป็นต้องรักษาความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายด้านการเงิน เพราะหากปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงในการกำหนดนโยบายด้านการเงิน ก็อาจถูกดดันให้ต้องดำเนินนโยบายที่ตอบสนองการเมืองจนอาจจะทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เหมือนที่เกิดขึ้นหลาย ๆประเทศ
การตัดสินใจที่จะ ‘ปิดปาก ปิดทวาร’ ของคนในรัฐบาล และเปิดช่องสื่อสารโดยตรงระหว่าง รมว.คลัง กับผู้ว่าแบงก์ชาติจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการกดดันผ่านสื่อแบบที่ รมว.พาณิชย์ พิชัย เปิด ‘วอร์’ ล่าสุดนอกจากจะทำให้ความ ‘ขัดแย้งยิ่งบานปลาย’ ยังทำให้เกิด ‘ปฎิกิริยาสะท้อนกลับ’ ที่ทำให้แบงก์ชาติไม่กล้าดำเนินนโยบายไปในทิศทางที่ฝ่ายการเมืองต้องการ เพราะจะทำให้เกิดคำถามในเรื่องของความเป็นอิสระและส่งผลกระทบต่อความเชี่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ
รมว.พิชัย เดินมาถูกทางที่เลือกแนวทางในการหยิบประเด็นในการพิจารณาทบทวนเรื่องกรอบเงินเฟ้อที่รัฐบาลและแบงก์ชาติกำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3%โดยรัฐบาลอยากเห็นเงินเฟ้อที่ระดับใกล้ ๆ 2% ที่น่าจะเป็นตัวเลขที่เหมาะสม
“วันนี้วัน 8 เดือนแล้ว เงินเฟ้อขึ้นมาเพียง 0.15% อยู่ต่ำกว่ากรอบล่าง ย้อนกลับไปตั้งแต่ 2558 ถึงวันนี้เกือบ 8 ปี หลุดต่ำกว่ากรอบมา 6 ครั้งเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบล่าง ก็เป็นเรื่องที่เราต้องตกลงกัน ได้เวลาตกลงกันแล้วว่าเงินเฟ้อเป็นอย่างไรซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน หรือ อัตราดอกเบี้ย”
รมว.พิชัย เชื่อว่า เมื่อตกลงกรอบเงินเฟ้อได้แล้ว จะมีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะหากอยากให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ก็จะนำไปสู่การ**‘ปรับลดอัตราดอกเบี้ย’** เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลง
ในเวลาเดียวกันหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการปรับลดลงถึง 0.50% ก็จะทำให้ ‘ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงโดยธรรมชาติ’ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ มีเม็ดเงินไหลออกจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศที่พัฒนาและประเทศไทยที่ยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยลงจึงเป็นกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว
รมว.พิชัย ยังเชื่อว่า ผลจากการที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำเป็นเวลายาวนานเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง หากไม่มีนโยบายการเงินและการคลังที่ไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น หนี้ SME เพิ่มขึ้น ตอนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นใน ‘ขาเดียว’ ซึ่งส่งผลให้มีหนี้สาธารณะมากขึ้น
“ผมอยากจะเชิญชวน มานั่งคุยกัน ถอดใจมาคุยกัน เพื่อมองเห็นข้อมูลชุดเดียวกัน มาทำงานร่วมกัน ให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับนโยบายการคลัง น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟันฝ่าเศรษฐกิจที่เรื้อรังมานาน”
จากนี้ไปคงได้แต่หวังว่า คงไม่มีใครหิว ‘แสง’ ออกเปิด ‘วอร์’ กดดัน ทำลายบรรยากาศ จนทำ ‘วงแตก’ อีกเพราะเชื่อว่าในที่สุดบทสรุปที่ได้ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร แต่ก็น่าจะทำให้เกิดภาพความเชื่อมั่นในความเป็น **‘อิสระ’**ของแบงก์ชาติว่าไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง แต่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดนโยบายการเงินที่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องของเสถียรภาพการเงินและการคลังเป็นหัวใจสำคัญ
บางทีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เราอาจจะได้เห็น ‘เซอร์ไพรส์’ ที่ แบงก์ชาติ ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก็เป็นได้...