ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ภายใต้เงื้อมมือของ‘เพื่อไทย’

7 มิ.ย. 2567 - 10:52

  • อาจจะเป็นข่าวปล่อย หรือข่าวจริง แต่ข่าวคุมแบงก์ชาติก็ส่งผลแล้ว

  • ตลาดทุนขานรับทันทีด้วยการทิ้งดิ่ง ทำ New Low กระแทกรัฐบาล

  • กิตติรัตน์ ณ ระนอง กับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ 2 ชื่อที่ถูกหยิบขึ้นมากำราบแบงก์ชาติ

economy-chairman-bank-board-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่รู้ว่าผู้สื่อข่าวคนไทยของสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ระดับ ‘เอ็กซ์คลูซีฟ’ หรือข่าวปล่อยมาจากไหน แต่ข่าวเรื่องความพยายามของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะเข้าไป ‘คอนโทรล’ หรือ ‘แทรกแซง’ ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ โดยการจะส่งคนที่มาจากสายตรงของพรรคเพื่อไทย เข้าไปนั่งในตำแหน่งประธานกรรมการแบงก์ชาติ กลายเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน

เห็นได้ชัดจากปฎิกริยาจากตลาดทุนที่ ‘สั่นไหว’ ทันทีหลังจากมีข่าวดังกล่าว และทำให้ดัชนีตลาดหุ้นในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (6 มิถุนายน  2567) หัวคะมำ **‘ดิ่งลง’**ไปปิดที่ระดับ 1,328.41 จุด ลดลง 9.91 หลุดลงไปทำ New Low ในรอบ 4 ปี โดยมีแรงเทขายจากต่างชาติถึงกว่า 3,184 ล้านบาท ในขณะที่ นักลงทุนรายย่อยและกองทุนฯต้องรับบทเดอะแบกต่อไป 

ถึงแม้จะเริ่ม ‘รีบาวด์’ กลับมายืนเหนือระดับ 1,330 จุดได้อีกครั้งในวันศุกร์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังคงมีความเสี่ยงจะหลุดแนวรับนี้ไปได้ตลอดเวลาท่ามกลางปัจจัยลบทางการเมืองหลาย ๆ เรื่องของไทยในเวลานี้

บลูมเบิร์ก อ้างว่า นายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี กำลังหาช่องทางที่จะเข้าไป**‘ควบคุม’** แบงก์ชาติให้มากขึ้น เนื่องจากต้องการให้มีการกำหนดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลัง ‘อ่อนแรง’ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ทั้งนายกฯ เศรษฐาและพรรคเพื่อไทย อยากให้มีการ ‘ปรับลดลง’ เสียที

ต้องยอมรับว่าตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา นายกฯ เศรษฐาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่พอใจกับการที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ไม่นำพากับเสียงเรียกร้องที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนอกเหนือจากมีการเปิด ‘วอร์’ ยิงใส่ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ หลายครั้ง แถมยังได้รับแรงหนุนจากระดับที่ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เศรษฐา อย่าง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง และระดับหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ที่ออกตัวมาช่วยอีกแรง โดยระบุว่าตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 

ตามข้อมูลที่บลูมเบิร์กได้รับจากแหล่งข่าว อ้างว่ากำลังมีความพยายามที่จะส่งคนที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยเข้าไปนั่งเป็น ‘ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย’ ซึ่งแม้ตำแหน่งนี้จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงิน แต่ก็สามารถประเมินการทำงานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ รวมถึงสามารถให้ความเห็นในคณะกรรมการนโยบายการเงินได้

ชื่อของคนที่จะถูกส่งเข้าไป ถูกระบุว่ามี 2 แคนดิเดต คือ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ และ ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ ให้นั่งเป็นประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ ‘สภาพัฒน์ฯ’ โดยจะเข้าไปแทนที่ ‘ปรเมธี วิมลศิริ’ ประธานกรรมการแบงก์ชาติคนปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งในเดือนกันยายน หลังจากนั่งในตำแหน่งนี้มาสองสมัยและจะครบวาระในเดือนกันยายนปีนี้ 

มีการคาดหมายว่า หากส่งคนเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติได้สำเร็จก็จะสร้างแรง ‘กดดัน’ และมีอิทธิพลทางความคิดให้กับคนในแบงก์ชาติ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ได้มากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่สามารถ ‘ปลด’ แต่ก็สามารถจะปูทางไปสู่การส่งคนเข้ามานั่งในตำแหน่งแทนผู้ว่าฯเศษฐพุฒิ ที่ครบวาระในเดือนกันยายบนปีหน้า 

ความพยายามที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อแบงก์ชาติมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากความเห็นต่างหลายครั้งระหว่างนายกฯ และแบงก์ชาติ ซึ่งรัฐบาลมีความเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ แบงก์ชาติยังมีความเห็นต่างในเชิงนโยบายที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลลวอลเล็ต ที่เป็นโครงการ ‘เรือธง’ มาโดยตลอด

การปะทะกันทางความคิดระหว่างแบงก์ชาติ และพรรครัฐบาลที่เชื่อมโยงกับอดีตนายกฯทักษิณ เคยเกิดขึ้นแล้วก่อนหน้านี้เมื่อปี 2544 

เมื่อ นายกฯ ทักษิณ ปลดผู้ว่าฯ ‘หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล’ ออกในปี 2544เพราะไม่ยอมปรับอัตราดอกเบี้ยตามคำขอ และในสมัยรัฐบาล **‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’**ในปี 2556 ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ที่นั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง ในช่วงนั้นก็เคยกดดันอย่างเปิดเผยไปยัง ‘ประสาร ไตรรัตน์วรกุล’ ผู้ว่าการแบงก์ชาติในยุคนั้นเช่นกัน จากกรณีการลดอัตราดอกเบี้ย แต่ปลดไม่สำเร็จ

ยังไม่ชัดเจนว่าข่าวทั้งหมดจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ในความเห็นของคนในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุน ค่อนข้าง ‘วิตก’ และกังวลกับท่าทีดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลลบและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่ต้องการเห็นภาพของความเป็น ‘อิสระ’ ของแบงก์ชาติมากกว่าที่จะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง ที่มีตัวอย่างที่เลวร้ายในหลาย ๆ ประเทศ 

ถึงแม้จะไม่มีการยืนยันว่า รัฐบาลมีแนวความคิดนี้จริงหรือไม่ แต่คงยังไม่สายเกินไปที่จะ ‘ชักม้าที่ริมผา’ เพราะหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าเรื่องนี้ นอกเหนือจากจะ ‘ทำลายความเชื่อมั่น’ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน ที่กำลังอ่อนไหวในช่วงนี้ 

แถมยังอาจจะทำให้เกิดแรงต้านและบานปลายกลายเป็นอีกปัญหาที่จะสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาหนักมากขึ้นไปเสียอีก...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์