รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินวัดใจ ‘ซีพี’ พอแล้วหรือยัง

24 พ.ค. 2567 - 02:30

  • รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินมีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

  • บอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยินยอมตามความต้องการของซีพี

  • ซีพีสามารถ สร้างไปเบิกไป และผ่อนจ่ายสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงค์ ตามที่ขอมา

Deep_Space_SPACEBAR_Hero_c4d7c71b17.jpg

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่หยุดนิ่งไม่ได้ตอกเสาเข็มแม้แต่ต้นเดียวหลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เซ็นสัญญากับบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ของกลุ่มซีพี ไปแล้ว 4 ปี 7 เดือน มีข้อสรุปแล้วว่า จะไปต่ออย่างไร จากการประชุมบอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้

ข้อสรุปก็คือ ‘ยอมตามความต้องการ’ของซีพี  ที่ให้รัฐคือ รฟท.จ่ายเงินร่วมทุน 117,727  ล้านบาทให้เร็วขึ้น  จากเดิมเงื่อนไขตามสัญญาที่เซ็นกันไปเมื่อวันที่ 24  ตุลาคม 2562 ซีพีต้องลงทุน ก่อสร้างไปให้เสร็จ และเปิดให้บริการก่อน 1 ปี รวมแล้วเป็น 6 ปี รัฐจึงจะเริ่มจ่ายเงินอุดหนุน  ภายใน 10  ปี โดยแบ่งจ่ายเป็น 10  งวด ๆ ละ 1 ปี

เงื่อนไขใหม่เปลี่ยนเป็น ‘ สร้างไป เบิกไป’ ซีพีไม่ต้องรอถึง 6 ปี รฟท. จะจ่ายให้เร็วขึ้นคือ หลังจาก รฟท.ส่ง ‘หนังสือให้เริ่มงาน’ หรือ NTP ( Notice  To Proceed) ให้ซีพีไปแล้ว 18 เดือน หรือ 1 ปีครึ่ง ซึ่งใกล้เคียงกับที่ซีพี ขอรับเงินอุดหนุนในปีที่ 2 ของการก่อสร้าง 

เผลอ ๆ ซีพี อาจจะได้เงินเร็วกว่าที่เคยขอไว้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อได้รับ NTP แล้ว ไม่ได้ลงมือก่อสร้างทันทีต้องมีการเตรียมการอย่างน้อย 3-6 เดือน

การเปลี่ยนเงื่อนเวลาการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐจาก จ่ายเมื่อสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้รับสัมปทานจะก่อสร้างให้เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญา จะได้รับเงินเร็วๆ หรือไม่ทิ้งงาน  มาเป็นการสร้างไป เบิกไปตามความต้องการของซีพี ทำให้ซีพี ‘ไม่ต้องกู้เงิน’ เป็นจำนวนมาก ‘ประหยัดค่าดอกเบี้ย’ ได้มหาศาล เพราะใช้เงินอุดหนุนจากรัฐมาทำงานได้

ถ้า ‘บีทีเอสอาร์’ ซึ่งเข้าร่วมแข่งขันประมูลโครงการด้วยเมื่อ  6 ปีที่แล้ว รู้ว่าทำอย่างนี้ก็ได้ ก็อาจจะไม่ขอเงินอุดหนุนจากรัฐสูงถึง 169,934  ล้านบาท มากกว่าซีพี ถึง 52,000 ล้านบาท ทำให้ซีพี เป็นผู้ชนะเพราะ ‘ขอเงินอุดหนุนน้อยกว่า’ พอได้สัมปทานไปแล้ว ค่อยมาแก้ไขสัญญาเพื่อลดต้นทุนการเงิน 

เรื่องสำคัญอีกข้อหนึ่ง ในมติที่ประชุมวานนี้ คือแก้สัญญา ค่าใช้สิทธิ์ แอร์พอร์ตลิงค์ที่ซีพีต้องจ่ายให้ รฟท.ทันทีที่รับโอนสิทธิ จำนวน 10,671 ล้านบาท ซีพีขอแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด 7 ปี  โดยอ้างว่าโควิดทำให้ผู้โดยสารแอร์พอร์ตลิงค์น้อยลงไปมาก

ซีพี รับโอนแอร์พอร์ตลิงค์ไป เมื่อเดือนตุลาคม 2564 โดยวางเงินมัดจำ 1,067 ล้านบาท หลังจากนั้น ‘ยังไม่เคยจ่ายเงินที่ค้าง’ อยู่อีก 9 ,604 ล้านบาทเลย เพราะรอการแก้ไขสัญญา

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ แต่ ‘ไม่เห็นชอบ’ การจ่ายเงินอุดหนุนแบบ ‘สร้างไป เบิกไป’ จนล่วงเข้าสู่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่ง‘ไม่ให้ความสนใจ’ กับโครงการอีอีซี  เพราะเป็นโครงการการริเริ่มโดยรัฐบาลที่แล้ว กลับไปขายฝัน‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลยแม้แต่ เปอร์เซ็นต์เดียว   

ซีพีนั้นได้เปรียบตรงที่ รฟท. ยังไม่ออก NPT ให้ ทำให้โครงการยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่ง  เงื่อนไขในการออก NPT  คือ  

1. รฟท. ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งส่งมอบไปเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี 2565 เหลือเพียงช่วง บางซื่อ พญาไท ที่รอการรื้อถอนท่อส่งน้ำมัน

2\. ต้องเพิกถอนสถานะลำรางสาธารณะ ในบึงมักกะสัน เป็นอำนาจของ สภา กทม. ซึ่งน่าแปลกที่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ

3.ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ

เอเชีย เอราวัน หรือซีพี ได้บีโอไอ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 จนหมดอายุ และได้รับการต่ออายุไปแล้ว 2 ครั้ง  ครั้งที่ 3  บีโอไอ รอให้มาต่อจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ซีพี ก็ไม่มาปล่อยให้บีโอไอ หมดอายุ ทั้ง ๆ ที่ ‘เป็นฝ่ายได้ประโยชน์’เต็ม ๆ ในเรื่อง การยกเว้น ลดภาษี

ความล่าช้าในการเพิกถอน ลำรางสาธารณะในมักกะสัน การไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ 100 % และการที่ซีพีไม่ไปต่ออายุบีโอไอเอง ทำให้ รฟท. ออก NPT ไม่ได้ ซีพีจึงไม่ต้องกลัวว่า จะถูก รฟท. ยกเลิกสัญญาหรือปรับ เพราะ รฟท. ยังไม่ได้สั่งให้เริ่มงานเลย จะมาบอกว่าซีพีไม่ทำอะไรเลย  ปล่อยให้เวลาผ่านไปเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ไม่ได้

บอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้จึงมีมติ ‘ให้แก้เงื่อนไขการออก NPT ใหม่’ โดยไม่ต้องให้ซีพีได้ บีโอไอ  เพื่อไม่ให้ซีพีใช้เป็นข้ออ้างในการ ‘ยื้อ’ โครงการต่อไปอีก

มติบอร์ด รฟท. เมื่อวานนี้คงมีการ ‘พูดคุยเจรจานอกรอบ’ กับทางซีพีมาแล้ว ก่อนจะมีการประชุม อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายด่านที่ต้องให้ไฟเขียว ตั้งแต่คณะกรรมการกำกับสัญญา  คณะกรรมการอีอีซี รมต. กระทรวงคมนาคม ที่เป็นต้นสังกัด รฟท. และสุดท้ายต้องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 

จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ได้ออกจากสถานีเสียที  นอกจากจะขึ้นอยู่กับพรรคเพื่อไทยที่คุมกระทรวงคมนาคม และบอร์ดอีอีซีว่า จะมี‘ข้อต่อรอง’อะไรให้โครงการไปต่อไหม  

ยังต้องถามใจซีพีว่า พอแล้วหรือยัง หรือจะขออีก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์