Super App หรือ Super Abnormal โบว์แดงหรือโบว์ดำของ‘เผ่าภูมิ’

23 พ.ค. 2567 - 08:22

  • มาแบบเรื่อย ๆ ไม่คึกคักเหมือนตอนที่หาเสียง

  • เงิน 10,000 ดิจิทัล ยังหาทางใช้เงินไม่ได้ ต้องรอ Super App

  • ความเป็นไปได้ของการทำ App ใหม่ดูสับสน และไม่ใกล้ความจริง

economy-digitalwallet-money-SPACEBAR-Hero.jpg

ในสายตาของคนการเมืองในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ พี่ ‘อ้วน’ ภูมิธรรรม เวชยชัย อาจจะเห็นแววบางอย่าง ของเด็กหนุ่มหน้าตี๋วัย 41 ปี อย่าง ‘อ๊อฟ’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล ที่มีดีกรีด้านเศรษฐศาสตร์ ระดับดอกเตอร์จากชิคาโก แถมยังเคยทำงานอยู่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาในช่วงต้นของการทำงาน จึงดึงตัวมาทำงานด้านนโยบายให้กับพรรค เพื่อหวังช่วยสร้างภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่

ที่ผ่านมา ‘อ๊อฟ’ เผ่าภูมิ คงทำงานเข้าตาโดยเฉพาะการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจให้กับพรรคเพื่อไทย จึงสามารถถีบตัวขึ้นมาเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายกฯเศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี ยังถึงให้มานั่งในตำแหน่ง เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฯ เศรษฐา) ก่อนที่จะก้าวข้ามชั้นโดดขึ้นมานั่งในตำแหน่ง รมช.คลัง ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ผลงานที่หวังจะเป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ สร้างชื่อของอ๊อฟ เผ่าภูมิ คือ การผลักดันโครงการ ‘เรือธง’ ดิจิทัลวอลเล็ต เคียงคู่กับ รมช.คลังอีกคนคือ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ โดยเขาจะเน้นในเรื่องของการพัฒนา Super App หรือ แพลตฟอร์มการชำระเงินที่คาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งในนวัตกรรมสร้างชื่อของพรรคเพื่อไทยในอนาคต

แต่ในสายตาของคนในแวดวง Fin Tech แล้ว โดยเฉพาะคนที่ถูกเชิญเข้าไปร่วมในคณะทำงานชุดนี้ต่าง ‘ส่ายหัว’ ไปตาม ๆ กัน

ถึงขนาดมีบางคนปรามาสว่า ในตอนจบโครงการนี้อาจจะกลายเป็นผลงานชิ้น ‘โบว์ดำ’ ที่จะทำให้ อ๊อฟ เผ่าภูมิ ‘สิ้นชื่อ’ ก็เป็นไปได้ เพราะมาจนถึงวันนี้โครงการยังคืบหน้าไปได้ไม่ถึงไหน จนบางคนถึงกับประชดประชันว่าการประชุมในแต่ละครั้ง ‘ไม่เคยสร้างความผิดหวัง’ คือเป็นไปตามที่คาดว่าในที่สุดโครงการนี้คงจะ ‘ประสบความล้มเหลว’ อย่างแน่นอน  

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะทำงานจัดทำ Super App แพลตฟอร์มการชำระเงินสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อนที่จะมีการทำเรื่องนำเสนอขออนุมติของบ 95 ล้านบาท ในที่ประชุม ครม.ในวันถัดมาให้กับสำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กโทรนิกส์ (DGA) องค์กรมหาชน เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบดังกล่าว ซึ่งบรรดาคนในแวดวง Fin Tech ที่เข้าร่วมประชุมต่างมีความเห็นตรงกันอย่างมั่นใจว่า โครงการนี้คงถึงบท ‘อวสาน’ ในไม่ช้าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนตัวโครงการให้มีความเป็นไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่

ในภาพรวม DGA ยังคงพยายามนำเสนอโครงการในแบบจัดเต็มงัด ‘Buzz Word’ ของคนในวงการ Fin Tech มานำเสนอ ชนิดชุดใหญ่ ไฟกระพริบ โดยระบุว่ารัฐบาลต้องการจะจัดทำแพลตฟอร์มการชำระเงิน Payment Platform เพื่อให้เป็น ‘แพลตฟอร์มการชำระเงินกลางของประเทศ’ ที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย Open Loop ซึ่งจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศไทย ลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนารัฐบาลดิจิตอล ในรูปแบบของ Super App ที่มีระบบBlock Chain และนำ AI มาประยุกต์ใช้

แต่ทั้งหมดก็ดูจะเป็นเพียงการขายศัพท์แสงเท่ๆหรูๆให้ฟังดู ‘อลังการ’ และเป็นเพียง ‘ภาพฝัน’ ที่ยังคลุมเครือ สับสน ที่มีโจทย์ใหญ่ และคำถามที่ต้องแก้ปัญหาตามมาอีกมากมาย จนแทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ว่าจะสามารถพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือ Super App สุดล้ำเสร็จได้ทันตามกำหนดได้อย่างไร

คงเพราะเหตุนี้ตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงอดไม่ได้ที่จะต้องส่งจดหมายน้อยตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะชนิด ‘ฉีก’ หน้ารัฐบาลแบบสุภาพอีกรอบ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ในเอกสารของแบงก์ชาติ เริ่มร่ายยาวมาตั้งแต่ ขอบเขตความชัดเจนของแพลตฟอร์มชำระเงินที่จะจัดทำขึ้นว่าจะฝันไกลถึงขนาดตั้งโจทย์ให้เป็นแพลตฟอร์มชำระเงินกลางของประเทศ หรือจะทำหน้าที่เป็นเพียงแพลตฟอร์มเพื่อ **‘ตรวจสอบ’**การทำธุรกรรมให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด (Transaction Process System) 

เพราะหากจะพัฒนาไปถึงขั้น Payment Platform กลางของประเทศ ควรจะ ‘ต่อยอด’ จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ( Prompt pay ) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลดทั้งต้นทุน และระยะเวลาในการพัฒนาระบบจะดีกว่าหรือไม่ 

พูดง่ายๆคือ แบงก์ชาติกำลังเตือนซ้ำอีกรอบว่า การพัฒนา Super App แพลตฟอร์มระบบการชำระเงินกลางของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อน ไม่ใช่ของทำกันเล่นๆ ควรพิจารณาให้ดี ตั้งแต่เรื่องระบบลงทะเบียน เพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนที่จะมีจำนวนถึง 50 ล้านคน และร้านค้าที่จะลงทะเบียนอีกหลายแสนราย 

ที่สำคัญจะใช้ระบบอะไรที่จะสามารถรองรับการลงทะเบียนของคนจำนวนมหาศาล ที่ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนว่าจะมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ในระยะเวลาที่รวดเร็ว

เมื่อมีการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีระบบการชำระเงินอย่างไรที่จะสามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นในรายวินาที ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขการชำระเงินที่แสนสลับซับซ้อน หลายชั้นตามที่มีการออกแบบไว้ เช่นให้ใช้รอบแรกเฉพาะในเขตอำเภอ มีการกำหนดชนิดของสินค้าและบริการ ไปจนถึงการเบิกถอนเงินสดออกมาหลังจากมีการซื้อขายรอบที่สอง 

อีกทั้งยังต้องมีระบบการตรวจสอบย้อนหลัง และการป้องกันการทุจริต ซึ่งอาจจะทำให้ต้องยกเลิกธุรกรรมและเรียกคืนสิทธิ์จากประชาชน และร้านค้าจำนวนมาก 

นอกจากนี้การเลือกพัฒนาเป็นระบบเปิด Open Loop เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับ ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงินของ ธนาคารพาณิชย์รายอื่น ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือ เพราะอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในระบบที่อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างหากมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย หรือระบบ “ล่ม”

ทั้งหมดมีการประเมินว่า การพัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินในลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนดังกล่าวไม่มีทางที่จะทำได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนด เพราะแม้แต่ แพลตฟอร์ม Mobile Banking Appiclation พื้นฐานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สร้างความประหลาดใจ แกมสงสัยมากที่สุด ในสายตาของแบงก์ชาติ หรือบรรดาคนในแวดวง Fin Tech  คือ จากโจทย์การพัฒนาแพลตฟอร์มที่สุด ‘โหดหิน’ ดังกล่าว แต่ทำไม DGA จึงหาญกล้าที่จะเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณในการพัฒนาเพียง 95 ล้านบาท ที่เป็นราคาที่ต่ำจนแม้แต่แบงก์ชาติยังต้องสอบถาม เพราะการพัฒนาระบบ Mobile Banking ของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง มีต้นทุนเริ่มต้นสูงถึงประมาณ 300 ล้านบาท  

บางคนในคณะทำงานถึงกับถอดใจ และยอมรับว่า โอกาสความเป็นไปได้ในการพัฒนา Super App สำหรับเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินกลาง ตามเงื่อนไขและยังต้องทำให้ทันตามไทม์ไลน์ที่กำหนดนั้น แทบไม่เหลือความเป็นไปได้ และอาจกลายสภาพเป็น Super Abnormal แพลตฟอร์มการชำระเงินพิสดารเสียมากกว่า หาก ‘อ๊อฟ’ เผ่าภูมิ สามารถสร้างปาฎิหารย์นี้ได้สำเร็จ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์