ดิจิทัลวอลเล็ตแปลงร่าง ไม่ตอบโจทย์กระตุ้น ศก.

29 ส.ค. 2567 - 04:00

  • เปลี่ยนจากแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินสด

  • ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงชั่วคราว

  • มรสุมอาจกำลังก่อตัว พร้อมปล่อยแรงกระแทก

economy-digitalwallet-stimulus-SPACEBAR-Hero.jpg

“คณะกรรมการฯ เขาเล่าให้ฟังว่าจะใช้งบฯ ราว 1.45 แสนล้านบาท ไปแจกให้กับกลุ่มเปราะบาง 13.5 ล้านคน และคนพิการอีก 1 ล้านคน รวม 14.5 ล้านคน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเบื้องต้นในเดือนกันยายนนี้ พอเดือนตุลาคมงบประมาณใหม่ออก คนที่ลงทะเบียนกับ “ทางรัฐ” ทั้งหมดก็จะถูกคัดว่าคุณสมบัติครบหรือไม่ ซ้ำกับกลุ่มเปราะบางหรือผู้พิการหรือไม่ เหลือเท่าไรก็เอางบฯปี 2568 ไปจ่ายให้กับกลุ่มที่ลงทะเบียนที่เหลือ

หลังจากการประกาศบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ Vision for Thailand 2024 ของพ่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เปิดเผยถึงแนวทางในการผลักดันโครงการดิจิทัลลวอลเล็ตให้สามารถเดินต่อไปได้

ชาวบ้านที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ จำนวนกว่า 14.5 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางก็เริ่มกลับมามีความหวังที่และมีอาการ “ใจจด ใจจ่อ” รอที่จะได้เงินหมื่นจากรัฐบาลเป็นกลุ่มแรกก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้  

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพลิกแผนหลายตลบในการ “ดิ้นรน” หาเม็ดเงินเพื่อมาใช้ในโครงการนี้ จนมาได้ข้อสรุปในการวางกรอบการใช้เงินจากงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการนี้เอาไว้สูงถึง 4.5 แสนล้าน โดยคาดว่าจะแจกเงินหมื่นบาทผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้กับคนไทยราว45 ล้านคน โดยจะใช้เม็ดเงินจากงบประมาณในปี 2567 ในวงเงินราว 1.65 แสนล้านบาท และ งบประมาณปี 2568 อีกราว 2.85 แสนล้านบาท 

แต่กว่าจะ “ปลดล็อค” เรื่องงบฯ ในการทำโครงการได้สำเร็จ ก็เกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” ที่ทำให้อดีตนายกฯ เศรษฐา ต้องหลุดจากตำแหน่งจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ ในขณะที่ระยะเวลาค่อนข้างกระชั้น เนื่องจากต้องเร่งการใช้งบประมาณในปี 2567 ให้ทันในวันที่ 30 กันยายน 2567 

“เดดไลน์” หรือเส้นตายสำคัญ ทำให้ต้องมีการปรับแผนใหม่อีกครั้ง เพราะหากจะเดินหน้าตามแผนเดิม ถึงแม้รัฐบาลจะเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติอยู่ในข่ายที่จะได้รับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหมื่นบาท กลุ่มแรกที่มีลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมีราว 30 ล้านคนไปแล้ว แต่หากจะแจกในรูปแบบเดิมที่ยังมีเงื่อนไขและขั้นตอนอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีความพร้อม ทำให้ไม่สามารถเริ่มได้ทันในปีงบประมาณ 2567 

การแจกในรูปของเงินสดผ่านกลุ่มเปราะบางที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวนราว 14.5 ล้านคนอยู่แล้ว จึงเป็นตัวเลือกเป็นอันดับแรก เพราะสามารถโอนเงินให้ได้ทันที ส่วนที่เหลือต้องรอแจกในรอบที่สองในปีงบประมาณ 2568 เพราะหากไม่ทันก็ต้องพับโครงการไปเลย

เพราะความเร่งรีบ และต้องเร่งรัด ในการใช้เม็ดเงิน ถึงแม้รัฐบาลของ นายกฯ ”อุ๊งอิ๊งค์” อาจจะสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแจกเงินหมื่นให้กับกลุ่มเปราะบางได้ทัน “เดดไลน์” ก่อนสิ้นเดือนกันยายน แต่เม็ดเงินกว่า 1.45 แสนล้านบาทที่หว่านลงไป อาจจะไม่ได้ช่วยสร้าง “พายุหมุนทางเศรษฐกิจ” หรือช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายอย่างที่วาดหวังไว้ นอกจากจะเป็น “การขายผ้าเอาหน้ารอด” เพื่อแจกเงินหมื่นให้ได้ตามสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ 

สาเหตุเพราะการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแจกเป็นเงินสดแทนเข้าไปในบัญชีของผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมการใช้ได้เลย ชาวบ้านสามารถจะเอาเงินไปใช้ซื้อหรือจับจ่ายใช้สอยอะไรก็ได้ เท่ากับเป็นการเอาเงินงบประมาณนับแสนล้านบาท ไปใช้ในสิ่งที่อาจไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในตอนแรก 

เม็ดเงินกว่า 1.45 แสนล้านบาท อาจจะกลายเป็นเพียงเม็ดเงินที่จะไปช่วยอุดหนุนการอุปโภคบริโภค ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงชั่วคราว ไม่เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ Multiplier Effect หรือ “พายุหมุน” ที่อาจทำให้เกิดคำถามในเรื่องของการคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ

ในยุคแห่งนิติสงคราม และยุคสมัยแห่ง “นักร้อง” รัฐบาลของ นายกฯ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร อาจจะต้องตอบคำถามจากบรรดานักร้อง ที่อาจจะหยิบยก พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ มาเล่นงานอย่างแน่นอน

เพราะหากพิจารณาจากมาตรา 6-7 ของ พรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ระบุไว้ว่าการจัดทำงบประมาณต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ และในมาตรา 9 ยังระบุว่าในการจัดทำนโยบายการคลังและงบประมาณ ต้องพิจารณาถึงภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

ที่สำคัญ นอกจากนี้ มาตรา 9 วรรคสองยังบัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

ต้องไม่ลืมว่า การแจกเงินตามโครงการนี้ เข้าข่ายการสร้างความนิยมทางการเมืองให้แก่พรรคเพื่อไทย ในขณะที่โครงการดังกล่าวได้สร้างภาระทางการคลัง จากเม็ดเงินที่ต้องใช้สูงถึง 4.5 แสนล้านบาท ที่ทำให้รัฐบาลต้องมีการกู้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จนอาจจะเข้าข่ายก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

จากจุดเริ่มต้นที่พ่อของนายกฯ “อุ๊งอิ๊งค์” เจ้าของ “ไอเดีย” กล่าวไว้ว่า "ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการยิงนก 3 ตัวด้วยกระสุนนัดเดียว คือกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้าง EcoSystem ให้คนไทยก้าวเข้าสู่สังคม “ดิจิทัล” และ สร้างฐานข้อมูลเพื่อต่อยอดการทำนโยบายเศรษฐกิจเชิงมหภาคในอนาคต แต่มาถึงวันนี้ โครงการดิจิตอลวอลเล็ต ที่ต้อง “เปลี่ยนปกเปลี่ยนเนื้อ” กันรายวัน ทำท่าจะเป็นเพียง “กระสุนด้าน” ไม่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อเสียแล้ว

ถึงแม้อาจจะช่วยให้พรรคเพื่อไทยรักษาและสร้างความนิยมทางการเมืองกับกลุ่มคนเปราะบางที่เป็นฐานสำคัญของพรรคเอาไว้ได้ แต่ก็คงต้องเตรียมรับแรงกระแทกที่จะตามมาจากฝ่ายค้านและฝ่ายแค้นที่กำลัง “ลับมีด” รออยู่อย่างแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์