แก้ รธน.อุ้มนักการเมืองสีเทา ระวังซ้ำรอยนิรโทษกรรมสุดซอย?!

19 ก.ย. 2567 - 02:39

  • ภาพรวมการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่คืบหน้า

  • พรรคเพื่อไทยผลักดันแก้ไขรายมาตราคู่ขนานไปด้วยกัน

  • ระวังซ้ำรอยนิรโทษกรรมสุดซอย

economy-government-politics-amnesty-constitution-SPACEBAR-Hero.jpg

ย้อนไปดูเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อ 11 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะเกิดเหตุพลิกผันทำให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตัดสินใจประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพราะกระแสต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ซึ่งเป็นเสมือนการจุดไฟเผาตัวเองของรัฐบาลในตอนนั้น

ผ่านมาถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทย ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีทายาทรุ่น 3 แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน ที่ประสบอุบัติเหตุทางการเมือง พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้รัฐบาลอิ๊งค์ 1 เพิ่งเข้ามานั่งบริหารประเทศยังไม่ทันถึงเดือน พรรคเพื่อไทย ก็ด่วน**‘ใจร้อน’**จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา คู่ขนานไปกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ต้องใช้เวลาอีกนานและอาจไม่ทันกาล คงกลัวว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียก่อน ดีไม่ดีทั้งถั่วทั้งงา แถมกะทะก็อาจจะไม่เหลือเอาด้วย 

จึงต้องชิงปลดล็อกแก้ไขรายมาตราที่เป็นปัญหาเสียก่อน

แต่ดูแล้วเหมือนจะเอามากเกินกว่าคำว่าพอดีด้วยซ้ำ ซึ่งเห็นแล้วก็ให้นึกหวาดเสียวแทน เพราะมาตราที่จะขอแก้ไขล้วนแต่เป็น**‘กลไกสำคัญ’**ของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แถมแต่ละประเด็นก็ล้วนเอื้อประโยชน์ให้นักการเมืองทั้งสิ้น

มองไม่เห็นว่าประชาชนทั่วไปจะได้อานิสงส์จากการแก้ไขตรงไหน ลองไปไล่ดูทั้ง 6 ประเด็น ที่เพื่อไทยจะขอแก้ไขและสื่อนำมาเสนอให้อ่านกันชัด ๆ อีกครั้งก็ได้ว่ามีอะไรบ้าง

1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย  

2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ  

(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น  ‘ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต’โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขบังคับใช้ 

(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ‘ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา’

(7)  ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไข ‘ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน’

3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246 

4.แก้ไข มาตรา 211  ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน

5.แก้ไข มาตรา 235  ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ  ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 

6.แก้ไข มาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่สามารถทำได้  

7.แก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด1 บททั่วไป หมวด2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก

เอาเป็นว่า ลองได้แก้กันมูมมามขนาดนี้ หากรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ถูกสร้างขึ้นเป็นเหมือนมังกรตัวหนึ่ง ก็คงถูกถอดเขี้ยว ถอดเล็บ ตัดหนวด แม้แต่เกล็ดก็คงไม่เหลือ จากมังกรก็คงมีสภาพไม่ต่างจากงูดินตัวหนึ่งเท่านั้น

ทำให้นึกถึงรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนมากมายในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเริ่มจากต้นซอย ไปกลางซอย สุดซอย จนทะลุซอยในที่สุด แถมยังถูกตั้งฉายาเป็นกฎหมายฉบับ ‘ลักหลับ’ อีกต่างหาก เพราะลักไก่ลงมติวาระ 3 กันช่วงกลางดึก ที่ไม่มีฝ่ายค้านเหลืออยู่ในห้องประชุม

ก็เพียงนำเหตุการณ์ในอดีตมาย้อนให้ดู ส่วนจะเหมือนหรือจะต่างกันอย่างไร ก็ต้องรอดู เพราะตอนนั้นฝ่ายค้านไม่เอาด้วย แต่ตอนนี้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างมีชนักปักหลังเลยผนึกเป็น ‘รวมการเฉพาะกิจ’ ไปด้วยกัน

เหลือแต่ประชาชนคนนอกสภาที่เฝ้าดูอยู่นั่นแแหละว่าจะเห็นดีเห็นงามตามไปด้วยหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็คงเป็นประเด็นให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวตรงข้ามรัฐบาล แต่จุดไม่ติดนำไปเป็นหัวเชื้อได้บ้าง  ดีไม่ดีอาจจะถูกนักร้องนำไปเป็นประเด็นร้อง‘สอยยกเข่ง’ ทั้งสภาบนสภาล่างก็เป็นได้ หากเห็นว่าการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์