นับตั้งแต่ รมว.แรงงาน พิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำของนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร แต่ดูเหมือนเขาเองก็ดูจะสนับสนุน และมุ่งมั่นที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั้งประเทศให้สำเร็จ
ถึงแม้จะมีเสียง**‘ค้าน’**อย่างแข็งขันจากฝั่งนายจ้าง โดยมีความพยายามที่จะกดดันผ่านกลไกของคณะกรรมการไตรภาคีให้มีมติไฟเขียวให้ขึ้นค่าแรงออกมา โดยยืนยันว่าจะทำให้ทันภายในวันที่ 1 ตุลาคม
แต่ **‘ดูทรง’แล้ว มาถึงนาทีนี้คงหมดหวัง และต้องบอกว่าแทบไม่มีความเป็นไปได้เลยที่จะสามารถดำเนินการได้ทัน เพราะแม้แต่รัฐบาลเองก็ยังมีความ‘สับสน’**ในตัวบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 22) หรือคณะกรรมการไตรภาคี จนทำให้แม้แต่ปลัดกระทรวงแรงงาน **‘ไพโรจน์ โชติกเสถียร’**ที่กำลังจะเกษียณในอีกไม่กี่วันข้างหน้าก็ยังดูเหมือนจะออกอาการ **‘ถอดใจ’**สารภาพบาปว่าคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด
ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่าจะ**‘ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ’**ทั่วประเทศเป็นวันละ 600 บาท และเมื่อรัฐบาลของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เข้ามารับตำแหน่งก็พยายามที่จะกดดันให้มีการปรับค่าแรง โดยตั้งเป้าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ในปีแรกเป็นอัตราวันละ 400 บาททั้งประเทศ
ความพยายามดังกล่าวถูก**‘คัดค้าน’จากฝ่ายนายจ้างอย่างแข็งขัน เพราะมองว่าไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ และยืนยันว่าการปรับอัตราค่าจ้างมี‘กลไก’**ของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะเป็นผู้พิจารณาโดยมีองค์ประกอบจากตัวแทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน และจำเป็นต้องมีเสียงเห็นชอบเกิน 2/3 จาก คณะกรรมการฯทั้ง 15 คน
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีความพยายามในการปรับค่าจ้างไปแล้วสองครั้งคือ
วันที่ 1 มกราคม ปรับ 17 อัตราทั่วประเทศ ระหว่างวันละ 330-370 บาท เฉลี่ยปรับขึ้น 2.37%
วันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้างวันละ 400 บาท เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว และปรับบางเฉพาะพื้นที่โดยเฉลี่ยค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 15.9%
ถึงแม้จะ อดีตนายกฯ เศรษฐา จะต้องพ้นตำแหน่งไปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลที่นำโดย นายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ก็ยังคงมีความพยายามกดดันให้มีการปรับค่าจ้างขึ้นไปเป็นวันละ 400 บาท ภายในวันที่ 1ตุลาคม 2567 และจะให้ไปถึงอัตรา 600 บาท ภายในปีสุดท้ายของรัฐบาล
มีความพยายามกดดันอย่างต่อเนื่องให้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 22) เพื่อลงมติในเรื่องนี้ถึง 2 โดยในครั้งแรกองค์ประชุม **‘ล่ม’**เนื่องจากตัวแทนจากนายจ้างไม่ได้มาร่วมประชุม และในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาก็ ‘ล่ม’ และจำเป็นต้องเลื่อนไปอีก
ที่น่าแปลกคือในการประชุมครั้งล่าสุดตัวแทนจากฝั่งนายจ้างมาครบทั้ง 5 คน แต่ฝ่ายลูกจ้างกลับขาด 2 คน และฝ่ายรัฐบาลขาดไป 4 คน
ถึงแม้จะมีการนัดประชุมกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 24 กันยายนนี้ แต่ดูเหมือนล่าสุดก็อาจต้องเลื่อนไปอีกครั้ง เพราะความสับสนจากตัวแทนในฝั่งของรัฐบาลเอง เนื่องจากหนึ่งในกรรมการฯที่เป็นตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ ‘เมธี สุภาพงษ์’ พ้นจากตำแหน่งในแบงก์ชาติไปแล้ว
ปลัดแรงงาน ไพโรจน์ เข้าใจว่า ธปท.ต้องมีการ**‘แต่งตั้งตัวแทนคนใหม่’**ให้มานั่งในกรรมการไตรภาคีแทน จึงคาดว่าจะไม่ทันวันที่ 24 กันยายน และหากเลื่อนออกไปตัวเขาเองก็จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ จึงอาจจะทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาในคณะกรรมการไตรภาคีออกไปอีกระยะหนึ่ง
แต่เมื่อมีการตรวจสอบไปยัง แบงก์ชาติ กลับได้รับการยืนยันว่า ‘เมธี’ ยังเป็นตัวแทนแบงก์ชาติในบอร์ดค่าจ้าง เพราะเป็นการแต่งตั้งโดยระบุชื่อบุคคล ไม่ได้แต่งตั้งตามตำแหน่ง แม้เกษียณแล้วก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าจะครบวาระ โดยในการลาประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน เป็นการลาไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
เมื่อไม่มีปัญหาเกี่ยวกับตัวแทนจากฝั่งแบงก์ชาติ หากปลัดแรงงานไพโรจน์จะเดินหน้าให้มีการประชุมเหมือนเดิมในวันที่ 24 กันยายนตามกำหนดเดิม เพื่อให้มีการลงมติในคณะกรรมการไตรภาคีให้ทันก่อนที่ตัวเขาจะเกษียณพ้นจากตำแหน่งก็ยัง**‘สามารถทำได้’** แต่ดูเหมือนปลัดฯไพโรจน์ ไม่เลือกที่จะ**‘เสี่ยงเดินหน้าต่อ’**เพราะอาจจะเกรงว่าเสียงโหวตอาจจะไม่ถึง 2/3 หากมีกรรมการฯในฝั่งภาครัฐ หรือ ลูกจ้าง คนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยและยืนอยู่ในฝั่งนายจ้าง จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ที่มารับไม้ต่อรับ ‘เผือกร้อน’ ไปแทน
ถึงแม้ตามแนวทางในการประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทในรอบใหม่นี้ จะพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้แรงงานหรือมีการจ้างแรงงานไม่น้อยกว่า 200 คนขึ้นไป โดยจะ**‘ลดการนําส่งเงินสมทบ’** สําหรับนายจ้าง 1% เข้าสู่กองทุนประกันสังคม ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2568 เป็นเวลาหนึ่งปี
นอกจากนี้กระทรวงคลังจะมีมาตรการช่วย**‘ลดหย่อนภาษี’** โดยให้นำค่าแรงส่วนที่เพิ่มขึ้นมาหักเป็นค่าใช้ได้ 1.5 เท่า ก่อนหักภาษี เพื่อช่วยผู้ประกอบการ รวมทั้งจะมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
แต่ทั้งหมดก็คงต้องร้องเพลงรอ ซึ่งทั้งหมดอาจะเป็นเพราะจนถึงนาทีนี้รัฐบาลเองก็ยังไม่มั่นใจว่า เสียงโหวตในคณะกรรมการไตรภาคีเองจะมีสูงถึง 2/3 นั่นเอง ตราบเท่าที่ตัวแทนจากฝั่งนายจ้างทั้ง 5 เสียงยังคง ‘ยืนกราน’ ไม่ยอมให้ปรับขึ้นค่าแรงตามที่รัฐบาลต้องการ...