เหลือเวลาอีกเพียง 13 วันก็จะถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นเส้นตายที่จะตัดสินว่าบรรดาเจ้าหนี้ของ JKN จะยอมโหวตให้ ‘แอน’ จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ฉายาหญิงข้ามเพศ ผู้ก่อตั้ง JKN รักษา ‘จักรวาล’ ของเธอไว้ต่อไป
โดยเข้าไปบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ JKN ร่วมกับผู้ทำแผนที่เสนอโดยฝั่งลูกหนี้ คือ ‘บริษัทเพลินจิต แอดไวเซอรี่ แอนด์ แพลนเนอร์ (PCAP)’ และ ‘บริษัทฟินิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (PAS)’ หรือไม่?
สถานการณ์มาถึงจุดนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า ยังก้ำกึ่งยากที่จะ ‘ฟันธง’ ว่าผลจะออกมาอย่างไร หลังจากในการชี้แจงกับบรรดาเจ้าหนี้ครั้งล่าสุด มีการปรับเงื่อนไขแนวทางการชำระหนี้ใหม่ เพื่อหวังให้เจ้าหนี้โดยเฉพาะเจ้าหนี้หุ้นกู้ยอม ‘โหวตเห็นชอบ’ ผ่านแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งต้องการเสียงโหวตถึง 2/3 จากตัวแทนเจ้าหนี้ทั้งหมด
ตามข้อเสนอล่าสุด ‘แอน จักรพงษ์’ ประกาศแนวทางชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้JKN ทุกราย โดยตั้งเป้าจะคืนหนี้เงินต้นกว่า 4.7 พันล้านบาท ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด 50% ภายใน 4 ปี ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะจ่ายคืนทั้งหมดภายในปีที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอีก 1.7% ต่อปี โดยคาดว่างวดแรกเริ่มจ่ายได้ภายในปี 2568
นอกจากนี้ยังสร้างความหวังให้กับเจ้าหนี้อีกว่า ‘ราอูล โรชา คานตู’ นักธุรกิจชาวเม็กซิโกและมหาเศรษฐีลาตินอเมริกา ที่เข้ามาถือหุ้นครึ่งหนึ่งใน JKN Legacy ที่ครองสิทธิ์ขององค์กรนางงามจักรวาล Miss Universe Organization (MUO)พร้อมที่จะอัดฉีดเม็ดเงิน 1,750 ล้านบาท เพื่อมาช่วย**‘เสริมสภาพคล่อง’** ในการดำเนินการของ JKN แต่เงื่อนไขสำคัญคือต้องให้ ‘แอน จักรพงษ์’ ยังทำหน้าที่เป็นผู้บริหารต่อไป
ปฎิกริยาจากกลุ่มเจ้าหนี้ หลังมีข้อเสนอใหม่ดังกล่าว ยังคงลังเลว่าจะยอมโหวตผ่านแผนฟื้นฟูฯให้หรือไม่ เพราะยังคงไม่เชื่อมั่นกับการทีมงานบริหารชุดเดิมว่า จะสามารถทำได้ตามแผนจริง และยังอยากฟังแนวทางจากตัวแทนฝั่งเจ้าหนี้ ที่ต้องการเข้ามาเป็นฝ่ายแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯแทน
ล่าสุดตัวแทนเจ้าหนี้ ‘บริษัทมอร์แกน แสตนลีย์ (Morgan Stanley)’ ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่และผู้ถือหุ้นในนาม ‘นอร์ธ เฮเวน ไทย ไพรเวท เอควิตี้ เจ็มมิไน คอมพานี (ฮ่องกง)’ ยืนยันที่จะเสนอ ‘บริษัทเอินส์ท แอนด์ ยัง (Ernst & Young) หรือEY’ ให้เข้ามาเป็นผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูฯ และได้เชิญบรรดาเจ้าหนี้ร่วมประชุมเป็นครั้งที่สอง หลังจากมีการประชุมไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อหารือเรื่องผู้ทำแผนและแนวทางการดำเนินงานถัดไป หลังจากที่ EY ได้นำเสนอไปครั้งก่อน
การประชุมคราวนี้จะมีการเปิดโอกาสให้มีการซักถาม และแลกเปลี่ยนความเห็นกันในระหว่างตัวแทนเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ และ ตัวแทนโบรกเกอร์ที่เสนอขายหุ้นกู้ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการที่จะมีการนำเสนอแผนฟื้นฟูฯในฝั่งเจ้าหนี้ หากมีการ ‘โหวตล้ม’ แผนฟื้นฟูฯ ของฝั่งลูกหนี้คือ JKN
กรมบังคับคดี ในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ได้กำหนดวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ให้มีการประชุมบรรดาเจ้าหนี้ทุกกลุ่มของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN เพื่อมีการโหวตหาผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ตามคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลางที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดนัดประชุมที่ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี
ปัจจุบันตัวแทนกลุ่มเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีทั้งหมด 14 กลุ่ม ประกอบด้วย
1.กลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้จำนวน 1,857 ราย โดยนางสาวธีรดา รุ่งโรจน์สลากุล
2.บริษัทมิตซูบิชิ เอชซี แคปปิตอล (ประเทศไทย)จำกัด
3.นางรุ่งนภา รัตนภิญโญพิทักษ์
4.นายนราธิป ลิขสิทิพันธุ์
5.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน)
6.ธนาคารกรุงไทยจำกัด(มหาชน)
7.ธนาคารทหารไทยธนชาติ จำกัด (มหาชน)
8.นายเธนศ อภิบุญญชัย
9.บริษัทเดอะ การูด้า เพาเวอร์ จำกัด
10.นายวิชัย ทองแตง
11.นายพิชัย อร่ามเจริญ
12.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
13.นอร์ธ เฮเวน ไทย ไพรเวท เอควิตี้ เจ็มมิไน คอมพานี (ฮ่องกง)
14.กลุ่มเจ้าหนี้หุ้นกู้จำนวน 47 ราย โดยนางสาวธีร์วรา เพชรรักษ์
บางทีการประชุมบรรดาเจ้าหนี้ในวันพุธที่จะถึงนี้ จึงอาจจะพอทำให้เห็นแนวทางว่า ผลโหวตในวันที่ 24 มิถุนายน จะออกมาในทิศทางอย่างไร แต่เชื่อว่า โอกาสที่ แอน จักรพงษ์ จะชิงมงกุฎกลับมาเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูฯ ในฐานะตัวแทนฝั่งลูกหนี้น่าจะเป็นไปได้ลดลงไปทุก ๆ ที...