ชื่อของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล ‘ปู’ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ ผู้มากบารมี กลับมามีบทบาทอีกครั้งในช่วงแรก ๆ ของการจัดตั้งรัฐบาลในราวเดือนกันยายนปีที่แล้ว
ถึงแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งในฐานะฝ่ายบริหารเหมือนในอดีต แต่ก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย เมื่อนายกฯ เศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี แต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับที่ปรึกษาอีก 8 คน รวมเป็น 9 คน
ที่ปรึกษาทั้ง 8 คน กิตติรัตน์ เป็นคนรวบรวมมาจาก ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทั้งกฎหมาย การเงิน เกษตร อสังหาฯ กีฬา และการเมือง ที่รู้จักและใกล้ชิดกับ นายกฯ เศรษฐา มาก่อนเข้ารับตำแหน่ง ประกอบไปด้วย เทวัญ ลิปตพัลลภ, พิชัย ชุณหวชิร, ศุภนิจ จัยวัฒน์, พิมล ศรีวิกรม์, พิชิต ชื่นบาน, ชลธิศ สุรัสวดี, ชัย วัชรงค์ แล สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์
ทีมที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่ได้อยู่ในฐานะข้าราชการการเมือง เพราะหลังจากนั้นราวหนึ่งเดือน ก็มีการแต่งตั้ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีก 5 คน ที่เป็นตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร, ชัยเกษม นิติสิริ, พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก, พิชัย นริพทะพันธุ์ และสงคราม กิจเลิศไพโรจน์
ความแตกต่างของที่ปรึกษาทั้งสองชุดก็คือ ทีมที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นตำแหน่งที่ตัวนายกฯ เศรษฐา เป็นคนตั้งเองเพื่อให้เป็นทีมงานส่วนตัว ในขณะที่ทีมที่ปรึกษานายกฯ จะส่งมาจากพรรคเพื่อไทยโดยตรง
ซึ่งดูเหมือนในช่วงแรก ๆ นายกฯ เศรษฐา ในฐานะ ‘มือใหม่ป้ายแดง’ ทางการเมืองก็ให้ความสำคัญกับทีมที่ปรึกษาของนายกฯชุดนี้เป็นพิเศษเนื่องจากมีความใกล้ชิดส่วนตัวมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่การเมือง โดยเฉพาะกับ โต้ง กิตติรัตน์ ในฐานะ ‘รุ่นพี่’ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยยังอยู่ในแวดวงธุรกิจ ขณะที่การใช้ชีวิตส่วนตัว ทั้งคู่ยังมีความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลเหมือนกัน
ที่สำคัญทั้งคู่ก็ถือเป็น ‘สายตรง’ ของ ปู ยิ่งลักษณ์ จึงทำให้นายกฯ เศรษฐา เชื่อใจและมอบหมายงานด้านเศรษฐกิจในหลายเรื่องให้ช่วยดูแลในช่วงแรก ๆ เช่นการขอให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหายุ่ง ๆ ในตลาดหุ้น รวมทั้งให้ช่วยเข้าไปดูแลนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะเรื่องหนี้นอกระบบ โต้งก็เป็นคนในรัฐบาลคนแรก ๆ ที่ออกมาให้ความเห็นแบบเปิดศึกกับแบงก์ชาติ ในเรื่องการลดดอกเบี้ย
แต่ยิ่งนานวันเริ่มมีกระแสข่าวหนาหูว่า ทีมงานที่ปรึกษาของนายกชุดนี้ โดยเฉพาะ โต้ง กิตติรัตน์ เริ่ม ‘ถูกลดบทบาทลง’ ส่วนหนึ่งเนื่องอาจเป็นเพราะนายกฯ เศรษฐาดึงที่ปรึกษาฯหลายคนเข้าไปนั่งในตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไล่ตั้งแต่ ‘หมอชัย วัชรงค์’ ที่ไปนั่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในการปรับ ครม.ล่าสุดทั้ง ‘พิชิต ชื่นบาน’ และ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ ก็ถูกดึงเข้าไปร่วมในคณะรัฐมนตรี
พิชัย ได้รับความไว้วางใจถึงขนาดให้เข้าไปนั่งในตำแหน่ง รมว.คลัง หลังจากที่ นายกฯ เศรษฐา เริ่มยอมรับความจริงว่า การนั่งในตำแหน่งนี้แบบ ‘พาร์ทไทม์’ ทำให้มีปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ จำเป็นต้องให้ รมว.พิชัย เข้าไปบริหารจัดการแบบเต็มตัว โดยมีคนใกล้ชิดอีกคน คือ ‘เบ้ง’ ทศพงศ์ จารุทวี อดีตผู้บริหารของ N Park ช่วย ‘แบ็คอัพ’ อีกแรง จึงยิ่งทำให้เริ่มมีระยะห่างระหว่าง นายกฯ นิด เศรษฐา กับ โต้ง กิตติรัตน์ มากขึ้นเรื่อย ๆ
มีข่าวจากทำเนียบฯบางกระแส ถึงขนาดระบุว่า ตอนนี้เริ่มมีรอยร้าวลึก ๆ ในระหว่างคนทั้งสอง เพราะนายกฯ เศรษฐา มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น และหันมาใช้บริการของ พิชัย และ อดีตคู่เขยคือ ‘เบ้ง’ ทศพงศ์ มากกว่า ประกอบกับ นายกฯ เศรษฐา เริ่มรู้สึกว่า โต้ง กิตติรัตน์ ยัง ‘ไม่มีพาวเวอร์’ ในพรรคมากพอที่จะช่วยประสานงานกับบรรดา สส.หรือนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยให้ราบรื่นอย่างที่คิด
ยิ่งไปกว่านั้น บางกระแสถึงกับระบุว่า โต้ง กิตติรัตน์ ยังมีความเห็นต่างเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิตอลวอลเล็ตในบางจุด ทำให้นายกฯ เศรษฐา มองว่าไม่เต็มใจช่วยงาน และล่าสุดถึงขนาดมีข่าวการ ‘ริบ’บัตรเข้าทำเนียบฯ คนใกล้ชิดของ ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ เพราะไม่พอใจในการปฎิบัติบางอย่างที่ดูเหมือนจะ ‘ข้ามหน้า’ ยิ่งทำให้กลายเป็นปัญหาลุกลาม จนเริ่มทั้งคู่เริ่มมองหน้ากันไม่ติด
หากไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้ เชื่อกันว่าอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงในเร็ว ๆ นี้...