สำหรับหลายคนที่อยู่ในตลาดหุ้น ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ อาจจะต้องย้ำถามตัวเองหลายๆ ครั้งว่า “เราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
เราเดินมาถึงจุดที่ SET Index ของไทยหลุดจากระดับแนวรับอันแข็งแกร่งที่ 1,300 จุด ลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี และหากมองย้อนกลับไปตั้งแต้ต้นปี ตลาดหุ้นไทยติดลบไปแล้วถึง 8% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นโลก MSCI All Country World Index พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกราว 10% ทำให้เรากลายเป็นตลาดหุ้นที่เลวร้ายที่สุดในโลกไปแล้ว
แต่หากใครคิดว่ามันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุด และกำลังจะกลับมาสู่แสงสว่างของ “อรุณรุ่ง” อีกครั้ง ต้องขอบอกว่า กำลังคิดผิดอย่างร้ายแรง เพราะมีสัญญาณเตือนหลายอย่างที่บ่งบอกว่าตลาดหุ้นไทยกำลังจะตกไปสู่ “หลุมดำ” อันน่าสะพรึงกลัว
นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังจะเผชิญกับหายนะรอบใหม่ที่ห้วงเวลาอันแสนเหน็บหนาว**“Winter is coming”** อาจจะปกคลุมตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง และมันอาจจะสายเกินไปที่จะหยุดยั้งและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว
บางคนอาจจะโทษว่าตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในสภาพแบบนี้ เป็นเพราะสภาพแวดล้อมและบรรยากาศทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพมายาวนานนับทศวรรษ ที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เห็นได้ชัดจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหรือ GDP ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยเหลือเพียงปีละ 2% เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในโลกใบเก่า ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมส่งออกในยุคเดิม มีเพียงการท่องเที่ยวที่กลายเป็น “หัวลาก” ให้เศรษฐกิจไทยพอจะยังคงขับเคลื่อนไปได้
ถึงแม้มาถึงวันนี้ หลังการเลือกตั้งเราจะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่มีเสียงในสภาฯ ดูเหมือนจะเข้มแข็ง หมดยุคของสงครามสีเสื้อ แต่เราก็ยังก้าวข้ามไม่พ้นสงครามระหว่างขั้วอำนาจของ 3 ก๊ก ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอนุรักษ์รุ่นเก่า กลุ่มทุนสามานย์ทางการเมือง และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า และนำไปสู่วังวนของคดีความทางการเมืองที่ยังเป็นตัวกดดัน และอาจจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพได้ตลอดเวลา
ขณะเดียวกันการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลทีมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำของ นายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ (ฉายาใหม่) ก็ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งในการกำหนดนโยบายด้านการเงินและการคลัง ที่ต้องการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดอัตราดอกเบี้ย และอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลถึง 5 แสนล้านบาท แจกเงินหมื่นให้ประชน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย จนทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานไปได้อย่างที่ต้องการ
แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คือ ปัญหาภายในของตลาดหุ้นไทยเอง ที่มีปัญหาในการสร้าง Trust and Confidence ที่ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรงจนยากจะเยียวยา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการกำกับและตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายของหน่วยงานอย่าง ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ กลต. ที่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงธุรกรรมการซื้อขายในยุคใหม่ และนำไปสู่กรณีอื้อฉาวหลาย ๆ ครั้ง จนทำให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับการปกป้อง และสูญเสียความเชื่อมั่นต่อกลไก
คงปฎิเสธไม่ได้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยติดอยู่ในกับดักของตลาดหุ้นในยุคเก่าที่ขาดเสน่ห์ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เพราะไม่มีหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนที่จะเป็น “เครื่องจักรของการเติบโต” Engine of Growth ที่จะขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยไปสู่ยุคใหม่
เพราะเหตุนี้จึงกลายเป็นโอกาสแจ้งเกิดของบรรดาหุ้นเก็งกำไร ที่มีเจ้าของผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเจ้ามือหรือขาใหญ่ในตลาดหุ้น ในการสร้าง Story หรือ Content ให้เกิดภาพฝันที่แสนบรรเจิดให้กับนักลงทุน ในการวาดแผนธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งในเรื่องของ พลังงานสะอาด การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า
หุ้นเก็งกำไรเหล่านี้จะถูกสร้างราคาให้พุ่งสูงขึ้น ควบคู่ไปกับข่าวการเพิ่มทุน หรือ ออกหุ้นกู้ เพื่อระดมทุน ล่อให้นักลงทุนหลงตามกระแสไปอย่างง่ายดาย ในขณะที่เจ้าของหุ้นก็จะใช้วิธีนำหุ้นของตัวเองไป “ตึ๊ง” หรือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพื่อการซื้อหุ้น หรือ “มาร์จิน” กับโบรคเกอร์ ซึ่งหากราคาหุ้นปรับตัวลดลงก็ต้องเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่ก็จะถูกบังคับขายหรือ ที่เรียกว่า “ฟอร์ตเซล”
ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เหมือนสภาพ “ฝีแตก” เมื่อต่างชาติยังคงขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทยจากปัจจัยลบในเรื่องการเมือง และทิศทางเศรษฐกิจที่ขาดความชัดเจน จึงมีแรงเทขายออกมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดจิตวิทยาในเชิงลบกับตลาดหุ้นอย่างรุนแรง จนทำให้ดัชนีหุ้นไทยหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,300 จุด และลุกลามไปถึงหุ้นเก็งกำไรยอดนิยมทั้งหลายเป็น “โดมิโน”
สุดท้ายนักลงทุนก็เพิ่งตระหนักว่า เรื่องราวที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมาของหุ้นเก็งกำไรเหล่านี้เป็นเพียงภาพฝันที่ไม่เป็นจริง และลุกลามจากตัวหนึ่งไปถึงอีกตัวหนึ่ง ทำให้หุ้นเก็งกำไรนับสิบตัวมีอาการสิ้นฤทธิ์ หมดสภาพ ถูก “ฟอร์ตเซล” ร่วงติด “ฟลอร์” กันระเนระนาด จนตลาดหุ้นไทยตกอยู่ในสภาวะเสียขวัญอย่างหนัก
วิกฤตตลาดหุ้นรอบนี้หนักหนาสาหัสจริง ๆ เพราะถึงแม้ราคาหุ้นแทบทั้งตลาดปรับตัวลงมาถูกมาก จนหุ้นบางตัวน่าซื้อเก็บ เพื่อลงทุนระยะยาว เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท แต่ชั่วโมงนี้ดูเหมือนไม่มีใครคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานแล้ว เพราะตกอยู่ในอาการ “ขวัญหนี ดีฝ่อ” กันหมด
ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีหนทางอย่างไรที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาในสภาพที่ตลาดหุ้นก้าวข้ามไปอยู่ใน “เรดโซน” ขนาดนี้ เพราะดูเหมือน กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนปัจจุบัน ภากร ปีตธวัชชัย กำลังเข้าสู่โหมดนับถอยหลังที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนกันยายน
บางทีอาจจะถึงเวลาที่ นายกฯ เศรษฐา และ รมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร อาจจะต้องลงมาช่วยหามาตรการที่จะพลิกฟื้นตลาดหุ้นให้กลับมา เพราะหากจะรอถึงวันที่ อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนที่ 14 มารับตำแหน่ง ตลาดหุ้นไทยอาจจะล้มทั้งกระดาน และในที่สุดหายนะของตลาดหุ้นไทยอาจจะส่งผลลบที่รุนแรงกับเศรษฐกิจไทยจนเกินเยียวยา