มาถึงวันนี้ สมโภชน์ อาหุนัย เจ้าของและอดีต CEO ของบริษัทพลังงานบริสุทธิ์หรือ EA ในวัย 57 ปี คงตระหนักและรับรู้ในความเป็นจริงที่โหดร้ายในเรื่องของ ‘ความรัก-ความแค้น’ เมื่อต้องเผชิญกับพลังของการไล่ล่าแบบไม่ยอมเลิกรา ที่ดูเหมือนจะมีอานุภาพการทำลายล้างที่รุนแรงอย่างไม่เคยคิดฝันมาก่อน จากหญิงที่ ‘เคยเคียงข้าง’ กันมาตั้งแต่เริ่มก่อร่างสร้างตัวเมื่อ 18 ปีที่แล้ว
วิบากกรรมที่สมโภชน์กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ หากย้อนไทม์ไลน์กลับไป ทั้งหมดเกิดจากจุดพลิกผันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ สมโภชน์และ EA กำลังอยู่ในช่วง **‘ขาขึ้น’**สุดๆ จากการปลุกปั้น EA ที่ขยายจากโรงงานผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน เข้าสู่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากสายลมและแสงแดด
จนสามารถนำหุ้นเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งผลให้มูลค่าตลาดของ EA ขึ้นไปพรวดพราดสูงถึงระดับ ‘แสนล้านบาท’ และทำให้สมโภชน์ก้าวขึ้นไปติดอันดับมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆของเมืองไทยในตอนนั้น
แต่อาการ ‘สำลักความสำเร็จ’ ที่สมโภชน์ได้มากลับต้องแลกกับชีวิตส่วนตัวที่ ‘แตกร้าว’ มีปัญหาและจบลงด้วยการ ‘หย่าร้าง’ ต้องฟ้องร้องแบ่งสินสมรสกับ ‘บลังก้า ชูหลาน หวาง’ หรือ Blanca Huang โดยว่ากันว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ‘แตกสลาย’ ชนิดถึงขั้นต่างประกาศ
‘ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ’
รอยรักรอยแค้นฝังลึก ถึงขนาดอดีตภรรยา ‘ชูหลาน’ ที่ดูจะยึดคติ ‘10 ปีล้างแค้นยังไม่สาย..’ ปักป้ายเอาคืน รวบรวมข้อมูลและหลักฐานความไม่ชอบมาพากลต่างๆในการบริหาร EA ของอดีตสามี ส่งเรื่องร้องไปยังหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.เพื่อต้องการเอา ‘ผิด’ สมโภชน์
ตั้งแต่เมษายน ปี 2559 ที่อดีตภรรยาของสมโภชน์ ยื่นคำฟ้องต่อ ก.ล.ต. เปิดเผยถึง ‘ความไม่ชอบมาพากล’ ในการร่วมกันทำ ‘ทุจริต’ ของผู้บริหารระดับสูงและพวก ในการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการที่ นครสวรรค์ และลำปาง โดยมีเอกสารที่ชี้ว่ามีการ ‘ไซฟอน’ เงินออกไปถึง 3.46 พันล้านบาท เพื่อเข้ากระเป๋าและนำกลับมาซื้อหุ้นตัวเองผ่าน **‘นอมินี’**หลายราย
กว่า 8 ปี ที่ ‘ชูหลาน’ พยายามส่งข้อมูลและเอกสารไปให้กับ ก.ล.ต. เพื่อให้มีการดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายหลายรอบ แต่ก็ดูเหมือนเรื่องจะ ‘เงียบหายไป’ แต่เธอก็ยังคงไม่ยอมแพ้
จนกระทั่งเมษายนปี 2565 นอกจากจะมีการส่งเอกสารในการกล่าวโทษสมโภชน์และพวกให้กับ ก.ล.ต.อีกครั้งแล้ว เธอยังตัดสินใจ ‘เปิดบันทึกลับ’ของคำให้การเป็นพยานซึ่งได้ยื่นต่อก.ล.ต. เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ที่มีความยาวถึง 64 หน้า ลงบนเฟซบุ๊ก Blanca Huang ของเธออย่างละเอียด
ในบันทึกดังกล่าวซึ่งมีการลงลายเซ็นตัวเธอเองกำกับทุกหน้า ระบุว่าในฐานะ Co-Founder เธอและสมโภชน์ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ซึ่งเดิมชื่อ ‘ซันเทค ปาล์มออยล์’ จำกัด เมื่อ 6 มีนาคม 2549 และต่อมาแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัทพลังงานบริสุทธิ์’ จำกัด (มหาชน) EA เมื่อ 27 มีนาคม 2551
หุ้นของ EA นำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อ 30 มกราคม 2556 ในตอนแรกเน้นในเรื่องการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล และผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมี โรงไฟฟ้าจำนวน 4 โรง กำลังการผลิตรวม 278 เมกะวัตต์ ที่ ลพบุรี นครสวรรค์ ลำปาง และพิษณุโลก และมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมอีก 8 โครงการ กำลังการผลิต 386 เมกะวัตต์
มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ช่วงระหว่าง ตุลาคม 2555-มีนาคม 2559 ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ นครสวรรค์และลำปาง ของบริษัทย่อย ‘อีเอ โซล่า นครสวรรค์’ (ESN) และ ‘อีเอ โซล่า ลำปาง’ (ESL) ซึ่งเธอเริ่มพบข้อมูลเอกสารบางอย่างผิดสังเกตและส่อพฤติกรรมไปในทางทุจริต
สิ่งที่น่าแปลกคือ มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาหลายบริษัทที่จะมาทำธุรกรรมในการจัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าและวัสดุที่ใช้สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าในลักษณะซ้ำซ้อนหลายชั้น โดยมีการจัดตั้งบริษัท Emerald และ Brics ที่ฮ่องกงขึ้นมา ทำหน้าที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายต้นทางในราคาถูก และนำมาขายต่อให้กับ บริษัท ไฮโดรไชน่า จงหนาน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Hydro) ในโครงการ ESN ที่นครสวรรค์ และ บริษัทพาวเวอร์ไชน่า จงหนาน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Power) ในโครงการ ESL ที่ลำปาง โดยมีส่วนต่างจำนวนมหาศาลรวมกันกว่า 3.45 พันล้านบาท
ทั้งสองบริษัทคือ Hydro และ Power ดูเหมือนจะถูก ‘อุปโลกน์’ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่จัดซื้อจัดหาและขายอุปกรณ์และวัสดุเหล่านั้นให้กับ ESN และ ESL ที่เมืองไทย โดยมี ‘กำไรเพียงเล็กน้อย’ คือราว 2% ของราคาสินค้าที่ขายให้กับ ESN และ ESL
ยกตัวอย่างกรณีของ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นครสวรรค์ ESN มีบริษัท ‘อิเลกทรอนิก้า ซานเทอโน เอสพีเอ’ (Electronica Santerno SPA) เป็นต้นทางผู้ขายอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า Inverter ให้กับ Emerald จำนวน 182 หน่วย มูลค่า 8,384,340 เหรียญสหรัฐฯ แต่ Emerald นำมาขายต่อให้กับ Hydro ในราคาสูงถึง 22,236,200 เหรียญ กำไรสูงถึง 13,851,859 เหรียญ
หลังจากนั้น Hydro จะนำอุปกรณ์ทั้งหมดมาขายต่อให้กับ ESN ที่เมืองไทย ในราคา 22,680,000 เหรียญ โดยได้รับส่วนต่างเพียง 443,800 เหรียญ
วัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในส่วนอื่น เช่นกล่องควบคุมระบบ แผงติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 720 หน่วย ขั้วต่อสายไฟฟ้า สายเคเบิล ยาวกว่า 3 ล้านเมตร สปอตไลท์ 480 ชุด และ แผงโซล่า มีการซื้อผ่านอีกบริษัทคือ Brics ในราคาต่ำแบบเดียวกัน ก่อนจะนำมา ‘ขายต่อ’ ให้กับ Hydro ในราคาที่มี ‘กำไรมหาศาล’ หลังจากนั้นจึงให้ Hydro ขายต่อมายัง ESN ที่เมืองไทย โดยมีกำไรเพียงนิดหน่อย
จากธุรกรรมอำพรางดังกล่าว ทั้ง Emerald และ Brics สามารถ ‘ทำกำไร’ จากการขายอุปกรณ์และวัสดุต่าง ๆ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้านครสวรรค์ หรือ ESN ได้สูงถึง 55,435,428 เหรียญ
รูปแบบเดียวกันถูกใช้กับ โครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลำปาง ESL คือ Emerald และ Brics จะทำหน้าที่ในการซื้อจากผู้ขายต้นทาง และนำมาขายต่อให้กับ พาวเวอร์ไชน่า จงหนาน เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Power) โดยมีส่วนต่างหรือกำไรมหาศาลราว 70,649,387 เหรียญ ก่อนที่จะให้ขายต่อมาให้ ESL โดยมีกำไรเพียงเล็กน้อย
รวมทั้งสองโครงการ Emerald และ Brics สามารถเก็บกำไรจากส่วนต่างในการจัดซื้อจัดหาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งสองโดรงคิดเป็นเงินสูงถึง109,324,925 เหรียญ หรือราว 3,450 ล้านบาท
เงินจากส่วนต่างถึง 3,450 ล้านบาทดังกล่าวจะถูกพักไว้ที่ Emerald และ Brics ที่ฮ่องกง ก่อนที่จะใช้กลวิธีที่สุด ‘พิสดาร’ ในการผ่องถ่ายเม็ดเงินมาให้กับ ‘พรเลิศ เตชะรัตโนภาส’ จำนวน 98% ของกำไร ที่สมอ้างว่าเป็นค่านายหน้า หรือ ‘คอมมิชชั่น’
พรเลิศจะให้โอนเงินจำนวนดังกล่าวทยอยเป็นงวด ๆ ไปยังบัญชีของบริษัท ‘เมลิต้า อินเตอร์เนชั่นแนล’ จำกัด ที่ฮ่องกง ก่อนที่จะมีการถ่ายเทเงินส่วนต่างจำนวนดังกล่าวกลับมาเมืองไทย ในรูป**‘ธุรกรรมอำพราง’** โดยสมโภชน์จะทำสัญญากู้ยืมเงินจาก เมลิต้า อินเตอร์ฯ และมีการออกใบรับคืนเงินกู้ยืมไว้ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อเป็นหลักฐานว่าเมลิต้า อินเตอร์ฯ ได้รับหนี้เงินกู้ยืมแล้ว โดยมีเจตนาอำพรางการถ่ายโอนเงินดังกล่าวกลับมาเมืองไทย
คาดว่าเม็ดเงินที่โอนกลับมาเมืองไทย จะมีการกระจายโอนเข้าบัญชีบุคคลหลายๆคนที่เป็นพวกพ้องกับสมโภชน์ ก่อนที่จะนำไปเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเข้าซื้อหุ้นของ EA และบริษัทย่อยเพื่อสร้างราคาใหม่อีกครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะหลังมีการนำหุ้นที่ซื้อไว้ไป ‘วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน’ ที่นำเงินออกมาซื้อหุ้นใหม่อีกครั้งกับ กองทุนและโบรกเกอร์ต่างชาติบางราย เพื่อ ‘ดันราคา’ หุ้นEA และบริษัทย่อยให้พุ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง จนนักลงทุนรายย่อยสนใจเข้าไปเล่น ‘เก็ง’ ลงทุนและเก็งกำไร เพราะถูกมองว่าเป็นหุ้นเติบโตที่มีอนาคต
แต่อาจเป็นเพราะ ‘คนคำนวณไม่เท่าฟ้าลิขิต’ เมื่อสภาวะตลาดหุ้นเกิดอาการผันผวนจากปัจจัยลบหลายด้านในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จนทำให้ดัชนีหุ้นพลิกกลับมาอยู่ในช่วง ‘ขาลง’ ทำให้เป็นโอกาสของกองทุนและโบรกเกอร์ที่จะทำกำไร
โดยการทำ ‘ชอร์ตเซล’ หุ้นในกลุ่มของ EA หลายตัว หุ้นที่นำไปจำนำเอาไว้ จึงถูกบังคับขาย หรือ ‘ฟอรต์เซล’ จนทำให้ราคาหุ้น EA และหุ้นในกลุ่มมีอาการ **‘ทรุดลง’**อย่างหนัก และนำไปสู่สถานการณ์ ‘น้ำลด ตอผุด’ จนต้องสมโภชน์ที่ปกติมักจะเก็บตัวต้องออกมาแถลงข่าวเพื่อสยบความผันผวนอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดเกือบสองเดือนที่ผ่านมา
ในบันทึกลับดังกล่าว อดีตภรรยาของสมโภชน์ ระบุว่าหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2559 ซึ่งเธอได้ยื่นคำร้องต่อ ก.ล.ต. เกี่ยวกับกรณีทุจริตดังกล่าว ทำให้ถูก **‘ปลด’**ออกจากการเป็นกรรมการ แต่เธอก็พยายามติดตามเรื่อง และเสนอข้อมูลหลักฐานเพิ่มเติม จนนำไปสู่การตรวจสอบในเชิงลึกของ ก.ล.ต.และมีการกล่าวโทษ สมโภชน์ และพวก ต่อ DSI และ ปปง.ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในเอกสารยังเปิดเผยลึกไปถึง ‘ความสัมพันธ์’ ที่เชี่อมโยงในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘หญิงสาว’ คนหนึ่งในการรับงานขนส่งสินค้าทางเรือ ตั้งแต่ปี 2557 รวมทั้งเปิดเผยถึง ‘เครือข่าย’ กลุ่มและตัวบุคคลในเครือญาติ และเพื่อนสนิทอีกนับสิบรายที่ได้รับประโยชน์
อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของบันทึก ‘ซูหลาน’ เปิดเผยว่า ในฐานะแม่ของลูกชาย เธอไม่อยากเห็นการกระทำผิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อไป จึงพยายามที่จะออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ และทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นข้อมูลหลักฐานและเบาะแสชิ้นสำคัญที่ก.ล.ต. ใช้นำไปสู่การกล่าวโทษสมโภชน์ และพวก ในเวลานี้...