ลำพังการเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชั่วโมงนี้ต้องถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญที่ท้าทาย และแบกแรงกดดันอย่างมหาศาลอยู่แล้ว สำหรับ “กวาง” อัสสเดช คงสิริ ยิ่งในสภาพที่ตลาดหุ้นไทยปกคลุมไปด้วยบรรยากาศของความท้อแท้ สิ้นหวัง ที่จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูความชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับคืนมา
มันจึงดูจะเป็นเรื่องโหดร้ายพอสมควรที่ อัสสเดช ยังต้องเผชิญกับ “ปฎิบัติการรับน้อง” ของนักลงทุนที่ดูจะไม่ค่อยต้อนรับการมาของเขาสักเท่าไร หากประเมินจากปฎิกริยาตลาดหุ้นไทยในวันจันทร์ที่เปิดตลาดเป็นวันแรกของสัปดาห์ ที่ SET Index ปรับตัวลงไปทำ “นิวโลว์” ในรอบ 4 ปี หลุดระดับ1,300 จุด
ดัชนีหุ้นในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ทันที่เปิดตลาดก็เจอแรงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ดัชนีดิ่งหลุดระดับ 1,300 จุด และไหลลงไปทำ “นิวโลว์” ลึกสุดที่ระดับ 1,288.58 จุด ติดลบไปถึง 17.98 จุด ถึงแม้ในการซื้อขายช่วงบ่ายอาการจะกระเตื้องขึ้นสามารถประคองตัวปรับขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายก็ยังคงปิดตลาดติดลบที่ 9.97 จุด ปรับตัวไปอยู่ที่ 1,296.59 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 40,684 ล้านบาท
นอกเหนือจากปัจจัยลบในเรื่องการเมืองที่มีคดีความสำคัญ ที่อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจกับทิศทางการเมืองไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีผลกระทบโดยตรงมาจากว่าที่ “เอ็มดี” คนที่ 14 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ อัสสเดช ที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องของความขัดแย้งกันของผลประโยชน์ Conflict of Interests
ประเด็นมาจากความเกี่ยวข้องกับการถือหุ้นและเป็นหัวหน้าทีมที่ปรึกษาการเงินของ_“ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา”_ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือดีลอยท์ฯ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ Stark Corporation หรือหุ้น STARK ที่เป็นหนึ่งในมหากาพย์ของการตกแต่งบัญชี เพื่อสร้างราคาหุ้น ที่สร้างความเสียหายและบาดแผลให้กับบรรดานักลงทุนอย่างหนัก และยังเป็นคดีความฟ้องร้องกันอยู่จนถึงเวลานี้
เรื่องนี้ “ร้อน” ถึงขนาดประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ป้ายแดง ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ต้องออกมาชี้แจงเพื่อสยบข่าว จึงทำให้ตลาดฯเริ่มคลายความกังวล ประกอบกับตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นตามตลาด “ดาวโจนส์” เมื่อคืนนี้ ช่วยให้ดัชนีหุ้นไทย “รีบาวน์” กลับขึ้นมายืนเหนือระดับ1,300 จุดได้ใหม่ในวันนี้
ประธานกิติพงศ์ ยืนยันในเรื่องคุณสมบัติของ อัสสเดช โดยระบุว่า ทำงานที่บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา จำกัด ซึ่งเป็นคนละบริษัทกับ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ที่เคยสอบบัญชี STARK
นอกจากนี้ นายอัสสเดช ยังได้เริ่มงานที่ "ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ ที่ปรึกษา" เมื่อเดือน มิ.ย.2565 ในขณะที่ "ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี” เข้าไปตรวจสอบบัญชีของ STARK มาก่อนหน้านั้นและหยุดตรวจตรวจสอบในพ.ศ.2564โดยผู้สอบบัญชีของ STARK ในปี 2565 คือ PWC ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัสสเดช จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับกรณีของ STARK
ในประเด็นการถือหุ้นของนายอัสสเดช ในบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ โฮลดิ้ง จำนวน 15.78% ก็ไม่ใช่การลงทุนหรือถือครองหุ้นส่วนตัว แต่เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายระดับโลกที่ Authorized Director จะได้รับโอนหุ้นหลังได้รับการแต่งตั้ง และเมื่อลาออกก็จะโอนออกให้ Partner คนอื่นตามวิถีปฎิบัติของบริษัท
หลังจากได้รับเลือกให้นั่งในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ อัสสเดชก็ได้ยื่นใบลาออกจาก ดีลอยท์ฯในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ผ่านมา และจะโอนหุ้นออกและเคลียร์เรื่องลูกค้าต่าง ๆให้เรียบร้อยก่อนมาร่วมงานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
ประธานกิ๊ต กิตติพงศ์ ยังการันตี ความสามารถของว่าที่ เอ็มดี.ตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ด้วยว่า โจทย์แรกที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือ การสร้าง Trust & Confidence เพราะหากความเชื่อมั่นกลับมาบรรยากาศในตลาดหุ้นฯก็จะดีขึ้นตามมา
คงจะจริงอย่างที่ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นเพราะในบรรยากาศตลาดหุ้นในเวลานี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวและเปราะบาง เพียงแค่มีเสียงเหรียญสลึงตกลงพื้นสักเหรียญบรรดานักลงทุนยังหันมองหากันอุตลุด จังหวะย่างก้าวจากนี้ไปของ อัสสเดช จึงต้องมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างความั่มนใจของนักลงทุนให้กลับคืนมาเป็นหลัก
คนในแวดวงตลาดทุนส่วนหนึ่ง ยังฝากการบ้านที่เป็นโจทย์ข้อใหญ่ให้กับอัสสเดช คือ ภารกิจที่จะต้องเข้ามาจัดการกับเรื่องของธุรกรรมการซื้อขายหุ้นที่เปิดโอกาสให้มีการทำ “ชอร์ตเซล” ด้วยระบบ ROBOT ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ที่จำเป็นต้องหามาตรการที่จะปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนมากขึ้น
ยังไม่รวมถึงการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้มีคุณภาพมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้มี “หุ้น” ของบริษัทที่ตกอยู่ในสภาพ “ซอมบี้” ที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหวอยู่ในตลาดนับร้อย ๆ บริษัท โดยการซื้อขายส่วนใหญ่กลับกระจุกตัวอยู่เฉพาะหุ้นใหญ่ ๆ และหุ้นที่มีการปั่นราคาขึ้นมาจากบรรดาขายใหญ่ในตลาดหุ้นบางกลุ่ม
ไม่มีใครปฎิเสธว่า “กวาง” อัสสเดช เป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์ด้านตลาดเงินและตลาดทุนในฝั่งโบรคเกอร์มานาน ทั้งที่ “เมอร์ริล ลินช์” และยังเคยนั่งเป็น เอ็มดี อยู่ที่ บล.ฟินันซา จึงน่าจะเข้าใจโจทย์ความต้องการของฝั่งลูกค้านักลงทุนได้เป็นอย่างดี
แต่สิ่งหนึ่งที่ อัสสเดชต้องระวังก็คือ การรักษาระยะห่างไม่ให้เกิดภาพของการขัดกันของผลประโยชน์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะยังไม่ทันไรก็เริ่มมีเสียงลอยมาจากไกล ๆ แล้วว่า ตลาดหุ้นไทย หลังจากปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ กำลังจะเดินเข้าสู่ยุคที่มีคนการเมืองของนายกฯ ในตำแหน่งเข้ามาขับเคลื่อนอย่างเต็มแรงมากขึ้นเรื่อยๆ...