วิกฤตการศึกษาไทย ในมือรัฐมนตรีโลกลืม
เถียงกันไม่จบ ตกลงไทยเรากำลังเผชิญ วิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่?
แต่เรื่องการศึกษาไทย ณ นาทีนี้ วิกฤต ชนิดไม่ต้องเถียง ไม่ต้องนิยาม ไม่ต้องถามความเห็นหน่วยงานไหนทั้งสิ้นเพราะตัวเลขมันฟ้อง และไม่เคยโกหกใคร
ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา คนขยัน คงต้องลงมือทำอะไรสักที ?
ไม่ต้องไปดูตัวเลขเพื่อหา ซตพ. (ซึ่งต้องพิสูจน์) จากที่ไหน แค่ดูผลจากตัวเลขจากการสอบวัดสมรรถนะด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ตามโปรแกรมมาตรฐานสากลที่ เรียกว่า PISA -Programme for International Student Assessment ประจำปี 2022 ซึ่งประเมินจากนักเรียน 81 ประเทศ ที่ร่วมทดสอบเกือบ 700,000 คน ก็เห็นชัดกับสายตา เมื่อผลปรากฏว่าเด็กไทยของเราได้คะแนนร่วงในทุกทักษะ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ผลการทดสอบประเทศไทย เราแพ้เพื่อนบ้านในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ยิ่งไปกว่านั้นนักเรียนไทยได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรก โดยเราได้คะแนนด้านคณิตศาสตร์ 393.5 ด้านการอ่าน 378.66 และด้านวิทยาศาสตร์ 409.26 ซึ่งทั้งหมดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 81 ประเทศ
อาจจะไม่น่าแปลกใจที่เด็กสิงคโปร์จะเก่งกว่าเด็กไทย และได้อันดับ 1 ในทุกทักษะ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และเรายังคงแพ้ มาเลเซีย แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือ เราแพ้กระทั่งเวียดนาม ที่มีคะแนนสูงกว่าเราทุกด้าน
ปัญหาการศึกษาระดับมัธยมของเด็กไทยที่ตกต่ำขนาดนี้ นักวิชาการด้านการศึกษา อาจจะมองว่าสาเหตุมาจาก หลักสูตรการศึกษาส่วนหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญน่าจะมาจากคุณภาพของบุคลากรด้านการศึกษา หรือครูไทยหรือไม่
เพราะหากเราหันไปดูตัวเลขอีกชุด ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่เปิดตัวเลขเกี่ยวกับ หนี้สินครู เราก็จะพบว่าจริงที่น่าตระหนกว่า ครูไทย จำนวนกว่า 6.87 แสนคน ตกอยู่ในสภาวะหนี้ล้นพ้นตัวกันทั้งนั้น
โดยกว่า 4.85 แสนคน มีหนี้สินที่ต้องชำระ และทำให้มีเงินเหลือใช้แต่ละเดือนไม่ถึง 30% ของรายได้ มีกว่า 1 แสนคน ที่อาการสาหัส มีเงินเหลือไม่พอใช้ และเข้าขั้นวิกฤติ ถูกฟ้องดำเนินคดีราว 2.8 พันคน มีครูที่ไม่มีปัญหาเรื่องหนี้สินเพียง 9 หมื่น ไม่ถึงแสนคน
หากเราเชื่อว่า การศึกษา คือหนทางที่พาคนไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น คำถามคือ เราจะหวังให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากประเทศที่ติด ‘กับดักรายได้ปานกลางได้อย่างไร’ หากแม้แต่ ครู ที่เปรียบเสือนแม่พิมพ์ของชาติ ยังตกอยู่ในสภาพ ‘จมหนี้’ ขนาดนี้
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การศึกษาในระดับมัธยมของเรา อยู่ในสภาพย่ำแย่ยังไม่พอ แต่พอหันไปดูการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเราก็มีอาการไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก เพราะหากดูจากผลการจัดอันดับ 10 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในอาเซียน จากการจัดอันดับ US News Best Global Universities ผลปรากฎว่า มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ของเราอยู่ในอันดับ 9 และ 10 ตามหลัง สิงคโปร์ เวียดนาม และ มาเลเซีย เช่นกัน
ปัญหาการศึกษาของไทยที่กำลังเดินมาถึงจุดวิกฤตในเวลานี้ จึงน่าจะถึงคราวจะต้องมาแก้ไขกันอย่างจริงจัง ถึงขึ้นอาจจะต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ อีกเรื่องหรือไม่ แต่ช้าก่อน เราจะฝากเรื่องนี้ไว้ในมือของใคร ?
เป็นเรื่องน่าเศร้า พอ ๆ กับอีกหลาย ๆ เรื่องในเมืองไทย ทุกครั้งที่มีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ กระทรวงศึกษา ดูจะเป็นกระทรวงเกรด A+ ที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลหมายปอง เพราะมีงบประมาณสูงที่สุด และครั้งนี้ก็เช่นกัน กระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในโควตาของ พรรคภูมิใจไทย ของครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ และ อนุทิน ชาญวีรกุล
แต่หากไปถามชาวบ้านร้านตลาดจะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่า เจ้ากระทรวง ‘เสมาธรรมจักร’ ในตอนนี้มีนามว่าอะไร เพราะแม้แต่ AI ปัญญาประดิษฐ์ ยังอาจจะตอบโจทย์นี้ไม่ได้ เพราะครูใหญ่เนวิน เล่นส่งน้องชาย ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ มานั่งเป็นเจ้ากระทรวง และมี สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล มานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ ชนิด ‘โนสน โนแคร์’
จากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ มีชาวบ้านสักกี่คนจะเห็นหน้า หรือเห็นข่าวเกี่ยวกับ รัฐมนตรีเพิ่มพูน ซึ่งก็มีสภาพไม่ต่างจากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ‘มเหสี’
ที่อยู่ในมือของพรรคภูมิใจไทยเช่นกัน โดยชื่อของ ‘มาดามผึ้ง’ ศุภมาส อิศรภักดี ก็แทบจะไม่เคยปรากฏเป็นข่าวสักกี่ครั้งในรอบ 100 วันที่ผ่านมา
ปัญหาการศึกษาไทยวิกฤติขนาดนี้ แต่ นายกฯ เศรษฐา จะกล้าลงไปล้วงลูกหรือไม่ คงต้องไปวัดขนาดของ ‘หัวใจ’ หรือไม่ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
นิรโทษกรรมครึ่งเข่ง?!
ล้างอาถรรพณ์กฎหมายนิรโทษกรรม จากฉบับสุดซอยของพรรคเพื่อไทย ถึงฉบับ ‘เหมาเข่ง’ ของพรรคก้าวไกล จะไปได้ไกลสุดถึงไหน..ที่สุดท้ายคงได้ไม่เกินครึ่งเข่ง
นับจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือกฎหมาย ‘ลักหลับ’ ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสิบปีที่แล้วในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ผ่านมาถึงวันนี้ยังไม่เคยมีการนำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมใด ๆ กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาอีก อย่างมากก็แค่ยกร่างขึ้นมานำเสนอให้สังคมร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเวทีต่าง ๆ เท่านั้น
วันนี้เมื่อพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง จึงถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าจะไปได้ไกลสุดถึงไหน หรือจะทำแค่สื่อสารกับมวลชน ‘ด้อมส้ม’ ตามนโยบายที่ประกาศไว้ช่วงหาเสียง เพราะเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาโหล ‘ยกเข่ง’ ไม่เว้นแม้ความผิด
มาตรา 112 ที่ถือเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองมาตลอด
ในวันที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายไปพบใครต่อใคร เพื่อขอรับการสนับสนุน ซึ่งไม่เว้นแม้แต่ ‘อดีตพระพุทธอิสระ’ แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ยังถูกประธานวิปรัฐบาล ‘อดิศร เพียงเกษ’ ตั้งฉายาให้เป็น ‘ชัยธวัย อ้อน้อย’ อันสะท้อนให้เห็นถึงพรรคเพื่อไทย ไม่เอาด้วยกับนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล
ต่อมาเมื่อกระแสนิรโทษกรรมเริ่มจุดติด คนในพรรคเพื่อไทยจึงเริ่มปรับท่าทีลง ไม่ถึงกับลั่นดาล ปิดประตูนิรโทษกรรม แต่ไม่อยากเป็นฝ่ายเริ่มต้นเพราะมีอดีตในเรื่องนี้อยู่ ล่าสุด ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ยอมรับการนิรโทษกรรมเป็นฉันทานุมัติของหลายภาคส่วน แต่จะต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่ และต้องหาข้อยุติร่วมกันให้ได้ก่อน โดยเฉพาะมาตรา 112
ล่าสุด ‘สรวงศ์ เทียนทอง’ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาสื่อสารกับสังคมว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกบกับร่างของพรรคก้าวไกลด้วย โดยอยู่ระหว่างให้ฝ่ายกฎหมายไปยกร่าง ส่วนรายละเอียดอยากให้ไปพูดกันในสภา โดยให้ไป ‘ตกผลึก’ ในชั้นของ กมธ.วิสามัญฯ เพราะกลัวประเด็นจะแตกเกินไป..
เท่ากับเป็นการการันตีว่า ในสมัยประชุมสภาที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะมีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากที่มีความพยายามเสนอมาหลายหนก่อนหน้านี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ย้อนไปดูเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเจ้าปัญหา ที่ตามหลอนพรรคเพื่อไทยมาตลอด 10 ปี และทำให้สังคมติดหล่มความขัดแย้งมาจนถึงวันนี้ มีเนื้อหาที่เป็นหัวใจสำคัญอยู่ใน มาตรา 3 ที่เขียนนิรโทษกรรมแบบเปิดกว้างไว้ว่า
‘ให้การกระทำทั้งหลายของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ ให้การกระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง’
ตรงนี้แหละที่เรียกกันว่าเป็นการนิรโทษกรรมแบบสุดซอย!!
ขณะที่ฟังจากสุ้มเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภา ต่างเห็นพ้องให้มีการนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อหลากสี กลุ่มราษฎร รวมถึงเยาวชนสามนิ้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ที่นิรโทษกรรมแบบเหมายกเข่ง แม้ในเนื้อหาจะมีข้อยกเว้น เปิดช่องให้บุคคลแสดงความจำนงค์ต่อคณะกรรการไม่ขอรับสิทธินิรโทษกรรมบางเรื่องเอาไว้ก็ตาม
ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามา น่าจะมีโอกาสสูงที่สภาผู้แทนราษฎร จะได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอีกครั้งในรอบ 10 ปี จากการล้างอาถรรพณ์ของพรรคเพื่อไทย แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล ที่จัดเต็มมาแบบยกเข่ง เมื่อถูกนำมาพิจารณารวมกับร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย
งานนี้มากสุดพรรคก้าวไกลคงนิรโทษกรรมได้ไม่เกินครึ่งเข่ง
อดีตนายกฯจุฬาของขึ้น โดนโบ้ยทำบอลประเพณีล่ม
‘จตุรมิตร’ ฟุตบอลประเพณี 4 โรงเรียนมัธยมชายเก่าแก่ ซึ่งปีนี้โด่งดังเพราะถูกนักจัดตั้งคนรุ่นใหม่ เอาไปปั่นกระแสยกเลิกแปรอักษร จบไปไม่ถึงเดือน ฟุตบอลประเพณีจุฬา -ธรรมศาสตร์ ทำท่าว่าจะสร้างกระแส ดังก่อนเตะได้ไม่แพ้กัน ด้วยเรื่อง ใครเป็นต้นเหตุที่ทำให้ การแข่งขันที่กำหนดขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ฟุตบอลประเพณีจุฬา -ธรรมศาสตร์ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 75 ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ถูกเลื่อนมา 3 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2563-2566 ด้วยสาเหตุจากโควิด ซึ่งกิจกรรมอื่น ๆ ของสมาคมธรรมศาสตร์ ในช่วงดังกล่าวก็งดจัดด้วย
ปกติฟุตบอลประเพณี มีขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ แต่ครั้งที่ 75 จะจัดวันที่ 30 มีนาคม 2567 มีการตั้งทีมงานประชาสัมพันธ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย ชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ จัดประกวดออกแบบเสื้อเชียร์ และโลโก้งาน ภายใต้แนวคิด ‘Commencement with the masterpiece’ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน กำหนดประกาศผลวันที่ 18 ธันวาคมนี้
จู่ๆ วันที่ 6 ธันวาคม ชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ร่วม เลื่อนการแข่งขันออกไปไม่มีกำหนด โดยอ้างว่า สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนจ.) แจ้งกับสมาคมธรรมศาสตร์ (สมธ.) ขอเลื่อนการแข่งขันออกไปก่อน **
แถลงการณ์นี้ ทำให้นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯคนก่อน อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย อดีตปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ‘ของขึ้น’ ทันที เพราะเนื้อความในแถลงการณ์ ทำให้เข้าใจได้ว่า สนจ .เป็นต้นเหตุทำให้ฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 ล่ม
อัจฉรินทร์นั้นเป็นที่รู้จักกันของผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งที่บีโอไอ และกระทรวงดีอีว่า ถ้ามีเรื่องไม่ถูกต้อง มีอะไรไม่ถูกใจ ปลัด‘จิ๊’ จะจี๊ดขึ้นมาทันที เป็นที่มาของการโพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว ตอบโต้ทันทีว่า สมาคมธรรมศาสตร์ (สมธ.) เคยแจ้งด้วยวาจาว่า เดือนตุลาคมจะไม่จัดงานตอนต้นปี 2567 หลังจากนั้น มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน แจ้ง สนจ.ว่า จะจัดงานวันที่ 30 มีนาคม 2567 และขอให้ สนจ.ไปร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดงานในวันที่ 28 พฤศจิกาย คือ บอกล่วงหน้าแค่ 10 วัน ไม่มีการหารือกันทาง สนจ. ก่อนเลย
ทาง สนจ. ประชุมกันแล้ว เห็นว่า การจัดฟุตบอลประเพณีวันที่ 30 มีนาคม จะชนกับงานวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มีนาคม จึงตอบว่า ไม่พร้อมร่วมจัดงาน
อัจฉรินทร์ ยังขอให้ สมธ. ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าทำไมพูดกลับไปกลับมา ทำไมแจ้ง สนจ. กะทันหัน เพราะชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์และ สโมสรนิสิตจุฬาฯ ซี่งประกาศเลื่อนจัดงาน ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบงานฟุตบอลประเพณี
ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ เจ้าของงาน คือ สมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองมหาวิทยาลัย หน้าที่หลักคือ หาเงินมาจัด มหาวิทยาลัย และนักศึกษารับผิดชอบการแปรอักษร การจัดขบวนพาเหรดล้อการเมือง
ฟุตบอลประเพณีครั้งที่75 สมาคมธรรมศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพ ต้องหางบประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนจุฬาฯ 6 ล้านบาท
สมาคมธรรมศาสตร์ มีท่าทีไม่อยากจะจัด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยากจัด โดยเฉพาะ อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย ผลักดันเต็มที่ คงไม่อยากให้ประเพณีนี้หายไป เพราะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรม แสดงออกทางการเมือง และเลื่อนมา 3 ปีแล้ว เกรงว่า ถ้าไม่จัดอีก สุดท้ายก็จะกลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์
นั่นเป็นที่มาของความไม่ชัดเจนของสมาคมธรรมศาสตร์ ที่มี ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกสมาคม ไม่ชัดเจนว่า จะจัดหรือไม่จัด จะจัดเมื่อไร ไม่มีการหารือกับทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ปล่อยให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินหน้าไปฝ่ายเดียว กระทั่ง การประกาศเลื่อนฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 75 ออกไป ก็ประกาศโดย ‘น้อง’ นักศึกษา ซึ่งเป็นคนทำงาน ไม่ใช่เจ้าของงาน
อย่างนี้ จะไม่ให้ นายกฯ สนจ. ของขึ้นได้อย่างไร