‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง’ ข้อคิดเชิงปรัชญาของ ซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงคราม ยังคงใช้ได้ดีในการสัปะยุทธ์ทั้งในสมรภูมิสงครามที่ใช้กำลังและอาวุธ ไปจนถึงสงครามการค้า-การลงทุนในยุคปัจจุบัน
แต่ดูเหมือนกลยุทธ์ดังกล่าวดูจะห่างไกลกับวิธีคิดของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถุงเท้าหลากสี ที่มีต่อการดำเนินนโยบายเรื่องโครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท ชุมพร-ระนอง ที่ไปคว้ามาจากพรรคภูมิใจไทย และพยายามจะปลุกปั้นให้เป็นอีกหนึ่ง ‘เรือธง’ ของรัฐบาลชุดนี้โดยแทบจะไม่ทันศึกษาให้ลึกซึ้ง เห็นได้จากอาการผลีผลามออกเดินสาย ‘โรดโชว์’ แบบมือเปล่า มีเพียงร่างกระดาษแผ่นเดียว ของนายกฯ เศรษฐา ที่ไปสร้างภาพขายฝันให้นักลงทุนต่างชาติชนิดไร้กระบวนท่า
ที่เป็นแบบนี้ อาจเป็นเพราะพรรคเพื่อไทยยังคงยึดติดกับ ‘กับดัก’ ของคำว่า ‘คิดใหญ่ ทำเป็น’ เมื่อหลาย ๆ โครงการเรือธงของตัวเองยังคงติดขัด จึงต้องหยิบฉวยโครงการระดับ ‘เมกะโปรเจกต์’ บางโครงการมาย้อมแมวขายใหม่ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ระดับมันสมองของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้ อาจทำได้แค่ **‘คิดใหญ่’**แต่ ‘ทำไม่เป็น’ จึงทำได้แค่การประกาศคำโตว่า ของนายกฯเศรษฐา ที่ขายโครงการแลนด์บริดจ์ว่าจะทำให้
‘ประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลแข่งกับสิงคโปร์’
ความจริงหากมันสมองของพรรคเพื่อไทย หรือ นายกฯ เศรษฐา พยายามสักนิดในการทำความเข้าใจกับโครงสร้างของการขนส่งทางทะเลก็จะทราบดีว่า สิงคโปร์ ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นจุดพักถ่ายขนส่งสินค้าทางทะเล ระหว่างซีกโลกตะวันออก-ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก กับซีกโลกตะวันตก-ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มาตั้งแต่ในอดีต-ปัจจุบัน และในอนาคตอีกยาวไกล
ต้องยอมรับว่า เส้นทางการขนส่งทางทะเลผ่านช่องแคบมะละกา คือเส้นทางหลักที่บรรดาเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ หรือ ‘เรือแม่’ ใช้บรรทุกสินค้าส่วนใหญ่เป็นปริมาณหลายแสนตัน เพื่อส่งสินค้าจากฝั่งเอเชียไปยังยุโรป หรือจากฝั่งยุโรปไปยังเอเชีย โดยใช้สิงคโปร์เป็นเหมือนจุดพักขนถ่ายสินค้าบางส่วนขึ้นหรือลง เพื่อกระจายไปยังภูมิภาคอาเซียน และออสเตรเลีย
ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดของนายกฯ เศรษฐา ที่เชื่อหรือทึกทักไปเองว่า หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยลดความแออัดของการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว การจราจรทางทะเลของช่องแคบมะละกาไม่ได้แออัด แต่ความแออัดมาจากการขนถ่ายสินค้าบางส่วนที่ท่าเรือซึ่งต้องขนถ่ายกระจายไปยังจุดต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้
เพราะเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงกล้าตัดสินใจลงทุนอีกหลายแสนล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับจำนวนเรือและสินค้าที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยการเร่งขยายท่าเรือ TAUS ซึ่งหากแล้วเสร็จในปี 2583 จะกลายเป็นท่าเรือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของโลก สามารถรองรับตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ได้ถึง 65 ล้านตู้ต่อปี จากปัจจุบันที่สามารถรองรับได้เพียง 40 ล้านตู้
ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดที่เชื่อว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทาง ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะ ‘เรือแม่’ หรือ เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้ามาเต็มลำเรือ คงไม่ยอมเปลี่ยนเส้นทางหลักที่เข้าช่องแคบมะละกา เพื่อวกเข้ามาเมืองไทยแค่ครึ่งทาง และต้องขนถ่ายสินค้าทั้งลำเรือจากฝั่งทะเลฟากหนึ่งลงเพื่อขนส่งผ่านทางรถไฟหรือถนนไปอีกฟากหนึ่งและยังต้องขนถ่ายไปขึ้นเรืออีกลำหนึ่ง ซึ่งเปลืองทั้งเวลาและค่าขนย้ายสินค้ามากกว่าเดิม
ทั้งหมดจึงเป็นคำตอบแบบ ไม่ต้อง ซตพ. ว่าแนวคิดในการจะทำให้ โครงการแลนด์บริดจ์ของไทย กลายเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายแข่งกับสิงคโปร์จึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ไม่มีทางที่จะเลิกใช้เส้นทางหลักที่ผ่านช่องแคบมะละกา เพราะสินค้าส่วนใหญ่ยังคงมีปลายทางระหว่างสองฝั่งซีกโลก ที่ต้องการใช้สิงคโปร์เป็นที่พักขนถ่ายเพื่อกระจายสินค้าบางส่วนไปในภูมิภาคอาเซียน และออสเตรเลีย
นอกจาก ‘ไม่รู้เขา’ คือ สิงคโปร์แล้ว รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ยัง ‘ไม่รู้เรา’ คือไม่รู้ว่า จุดขายหรือจุดแข็งของ พื้นที่บริเวณที่จะสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง นั้นมีสภาพพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และน่าส่งเสริมให้เกิดธุรกิจท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ Medical Tourismโดยการดึงต่างชาติมาลงทุน และมีส่วนร่วมกับชุมชนมากกว่า
พื้นที่ดังกล่าว มีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งที่พักต่างอากาศ โรงแรมระดับ 4-5 ดาว รวมทั้งสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ท่าเรือน้ำลึกเพื่อให้เรือสำราญขนาดใหญ่ หรือท่าเรือสำหรับเรือยอร์ช ของบรรดามหาเศรษฐีจากทั่วโลกเข้ามาเทียบท่า ซึ่งจะกลายเป็นจุดขายใหม่ ที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงได้อีกมหาศาล
แต่ทั้งหมดเพราะ ‘ไม่รู้เขา ไม่รู้เรา’ แถมยังคงติดกับดักความคิดเดิมๆ ที่หลงกับอดีต ‘คิดใหญ่ทำเป็น’ โครงการแลนด์บริดจ์ก็เลยเดินผิดทิศผิดทาง และสุดท้ายคงเป็นได้เพียงโครงการขายฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง...