ปชต.พันธุ์ไทย คนเลือก สว. ต้องจ่าย 2,500 บาท

5 มี.ค. 2567 - 07:59

  • การหมดวาระของสมาชิกวุฒิสภา ทำให้ปีนี้ต้องมีการเลือกตั้ง สว.ใหม่

  • ถือเป็นโมเดลการเลือกตั้ง สว.ที่ซับซ้อนมากที่สุด เข้าใจยากที่สุดครั้งหนึ่ง

  • ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบ อายุครบเลือกตั้ง เดินเข้าคูหา กาเบอร์ที่เลือก

economy-thailand-parliamentary-elections-SPACEBAR-Hero.jpg

อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาจุดพลุเรื่องเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แทนชุดปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ โดยกางไทม์ไลน์ให้เห็นกันชัด ๆ ไปเมื่อวานนี้ (4 มีนาคม 2567) เริ่มตั้งแต่เปิดรับสมัครจนถึงประกาศรับรองผลในเดือนกรกฎาคม

ความจริงก่อนหน้านี้ ตลาดการเมืองในส่วนของสภาสูง มีความเคลื่อนไหวแบบลับ ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว และเพิ่งมาเปิดเผยตัวตนในรูปของกลุ่มให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง สว.เมื่อไม่นานมานี้ แต่มีบางกลุ่มยังพรางตัวอยู่ใต้ดิน จัดตั้งเป็นเครือข่ายเตรียมการลงชิงเก้าอี้ สว.ด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อ กกต.กางปฏิทินเลือกตั้ง สว.ชุดใหม่ชัดเจนแล้ว เชื่อว่าตลาดการเมืองในส่วนของสว.จะมีความคึกคักและถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น แม้จะพยายามสื่อสารกันเฉพาะภายในเครือข่ายของตัวเอง ไม่ประสงค์จะเป็นข่าวให้ใครล่วงรู้ก็ตาม

เรื่องของเรื่องเพราะการเลือกตั้งสว.มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะเป็นผู้มีสิทธิในการลงคะแนน แต่การเลือกตั้งสว.ที่จะมีขึ้นถูกจำกัดจำเขี่ย กำหนดให้เฉพาะผู้ที่เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.เท่านั้น ที่มีสิทธิลงคะแนน

ไม่เปิดให้ผู้มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์เข้าคูหากาบัตรเหมือนทุกครั้ง

ใคร คือ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกสว.จำนวน 200 คน คำตอบอยู่ในพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า 

‘ผู้ซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเองพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานประกอบการสมัคร และชำระค่าธรรมเนียมการสมัครจำนวนสองพันห้าร้อยบาท’

ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือก สว.คือผู้เสนอตัวเป็นผู้สมัคร สว.นั่นแหละ ที่ไปลงคะแนนเลือกกันเอง!!

โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อาทิ มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งมีด้วยกัน 20 กลุ่มอาชีพ เกิดหรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี หรือทำงาน เคยทำงาน เคยศึกษาอยู่ในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี

ที่สำคัญต้องจ่ายเงิน จำนวน 2,500 บาท เป็นค่าสมัคร เพื่อตีตั๋วเข้าไปใช้สิทธิลงคะแนน

การเลือกตั้งหนก่อนในปี2561 ถูกมองเป็นการเลือกตั้งที่ ‘เงียบเชียบ’ ที่สุด เพราะมีผู้ไปลงสมัครไม่ถึงเป้าที่ กกต.วางไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อจำกัดในบทเฉพาะกาล ที่แม้จะผ่านการเลือกมาจาก 3 ด่าน คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศแล้ว ยังต้องมาเจอด่านที่ 4 คือ ให้ คสช.เป็นคนเลือกอีกครั้ง 

แต่เที่ยวนี้ กกต.ประเมินว่าจะมีผู้ให้ความสนใจมาสมัครทั่วประเทศถึง 1 แสนคนเพราะเป็นการเลือกกันเอง ซึ่งหากทะลุมาถึงระดับประเทศได้ และเป็น 10 คนแรกของแต่ละกลุ่มก็จะเข้าไปเป็น สว.ได้เลย ส่วนลำดับที่ 11-15 จะถูกขึ้นบัญชีสำรองไว้

นั่นเป็นการประเมินชั้นเดียวเชิงเดียวของ กกต.ที่ว่าจะมีผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของ 20 กลุ่มใน 928 อำเภอ รวมจำนวน 55,680 คน ก่อนเลือกกันเองมาสู่ระดับประเทศ เหลือ 3,080 คน เพื่อมาเลือกกันเองระดับสุดท้ายให้เหลือ 200 คน

นอกจากข้อจำกัดที่ว่าข้างต้นแล้ว ยังมีลักษณะต้องห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.ด้วย คือ ใครที่เป็น ‘ญาติโกโหติกา’ โดยตรงของบรรดา สส. รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ได้แก่ ‘**บุพการี คู่สมรส บุตร’ ** หรือเป็นผู้สมัคร สว.ในคราวเดียวกัน

บุคคลเหล่านี้ถือเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สว.

ใครที่ว่ามีระบบจัดการดี จะใช้บางโมเดลที่ประสบความสำเร็จกับบางเรื่องมาใช้ยึดสภาสูงผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ลองดูเพราะมีเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีคนที่มีคุณสมบัติครบ และมีเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ ที่จะไปเลือกไขว้กลุ่มกันด้วย

จึงเป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างพิสดาร ต้องตีตั๋วราคา 2,500 บาท ถึงจะได้สิทธิลงคะแนน ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป 50 ล้านคน ก็ไม่ต้องกลัวจะนอนหลับทับสิทธิ์ เพราะไม่มีตั๋วก็ไม่มีสิทธิ

เป็นประชาธิปไตยแบบพันธุ์ไทย ที่ในอนาคตไม่รู้จะมีใครสนใจไปแก้ไขระบบนี้หรือเปล่า?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์