ซอฟต์พาวเวอร์สงกรานต์ ปั้น ‘อุ๊งอิ๊ง’ให้เป็นนายกฯ
ใครจะค่อนแคะ คัดค้าน แคมเปญ ‘สงกรานต์สาดน้ำทั้งเดือน’ของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อย่างไรก็ตามแต่ สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว เรื่องนี้คือ ยุทธศาสตร์ ในการ ‘ปั้น’ อุ๊งอิ้ง ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ต่อจากเศรษฐา ทวิสิน ในเร็ววันนี้
หลาย ๆ คน อาจะตั้งคำถามเชิงลบต่าง ๆ นานากับแนวคิดดังกล่าวว่าเป็น กิจกรรมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สร้างภาพชั่วครั้งชั่วคราว เพราะใช้งบประมาณสูงถึง 1,000 ล้านบาท แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า แคมเปญนี้ ถูกทีมงานแบ๊คอัพ ที่ม คีย์แมนคนสำคัญอย่าง หมอเลี๊ยบ นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วางจังหวะในการเดินเกมเไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
หลังที่ประชุมบอร์ดพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อนุมัติโครงการจัดเทศกาลมหาสงกรานต์ทั่วประเทศ (World Water Festival – The Songkran Phenomenon )ทุกอย่างก็ถูก ‘กดปุ่ม’ เดินหน้าทันที โดยไม่ต้องรอ ‘ไฟเขียว’ จากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติที่มี นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานให้ความเห็นชอบใน การประชุมที่กำหนดไว้ในเดือนมกราคมปีหน้าด้วยซ้ำ
ถึงขนาดกำหนดการ Kick-off เปิดตัวโครงการ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ที่มีฉากหลังเป็นวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคมนี้ โดยมี นายกฯ เศรษฐา มาเป็นประธานในพิธี
ยังไม่สิ้นปี กว่าจะถึงสงกรานต์อีกตั้ง 4 เดือน จะรีบเปิดตัวไปไหน
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะต้องเร่งเกมให้ทันกับ การเฉลิมฉลองในวาระที่องค์การUNESCO จะประกาศให้ ‘สงกรานต์’ ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก ประเภทมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมประจำปีของ UNESCO ที่ บอสวานา ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้
ประเทศไทยผลักดัน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 4 อย่าง คือ เทศกาลสงกรานต์ โขน นวดแผนไทย และโนราห์ ให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โขน และโนราห์ ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว คาดว่า สงกรานต์จะได้รับการพิจารณาในปีนี้
ในงานเฉลิมฉลองดังกล่าวจึงเป็นอะไรที่แสนจะลงตัว ในการที่จะเปิดตัวโครงการเทศกาลมหาสงกรานต์ทั่วประเทศ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยจะมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเปิดตัว นอกเหนือจากการจัดขบวนแห่มหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ยังจะมีขบวนตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 วัน ที่นำโดย แอนโทเนีย โพซิ้วรองอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 มาในชุด ‘นางมโหธรเทวี’ ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำปี พ.ศ.2567
เห็นเส้นทางการเดินสู่ตำแหน่ง นายกฯหญิง ของอุ๊งอิ๊ง แล้วก็อดเปรียบเทียบกับ นายกฯเศรษฐา ไม่ได้ ที่ต้องอดตาหลับขับตานอน เดินสายไปนั่นไปนี่ตลอดเวลาเพื่อสร้าง ‘เรทติ้ง’ จนมีอาการ ‘เครียดสะสม’ แถมยังมีสารพัดปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้กันรายวัน จนหลายคน ต้องลุ้นว่าไม่รู้จะผ่าน 6 เดือนได้หรือไม่?
นี่แหละ พลังของซอฟต์ พาวเวอร์ ปั้นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ให้ครอบครัวชินวัตร ตามสโลแกน หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์
ศึกชิงหัวหน้าปชป.มาดามเดียร์ เกมของใคร?
สองมุ้งใหญ่ประชาธิปัตย์ วิน-วิน’ รอมชอมอำนาจ-ใครหลอกใคร?
ภารกิจ ‘มาดามเดียร์’ มาเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นพรรคเก่าหรือแค่มาเฝ้าสมบัติให้ ‘ปู่โสม’ การเมืองในประชาธิปัตย์
หลังเป็นพรรคการเมืองที่ไร้หัว ขาดผู้นำมานานนับจากวันที่รู้ผลการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่เสียที
ส่วนจะเป็นใครระหว่างคู่ของ ‘มาดามเดียร์-ชัยชนะ’ กับคู่ของ ‘นราพัฒน์-เดชอิศม์’ ดูจาก
โหงวเฮ้งการเมืองชั่วโมงนี้ คู่แรกน่าจะมาแรงสุด หยุดไม่อยู่ เพราะเป็นเหมือนความลงตัวของสองกลุ่มในประชาธิปัตย์ ที่ขับเคี่ยวกันมาตลอดสองยก ระหว่าง ‘ชวน-เฉลิมชัย’
แต่คำถามคือ ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค เป็นคนของใครในสองกลุ่มนี้ เป็นการรอมชอมทางอำนาจกันได้จริง ๆ หรือมีใครที่เหนือชั้นกว่า วางแผนหลอกล่ออีกฝ่ายให้เล่นตามเกมของตัวเอง
ในวันแถลงเปิดตัว ‘มาดามเดียร์’ ที่พรรคประชาธิปัตย์ เช้าวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน มี ‘นายหัวชวน’ เข้ามาอยู่ในเฟรมช่วงท้าย ๆ ด้วย ที่บังเอิญเดินทางเข้าพรรคในจังหวะที่แถลงเสร็จพอดี จึงได้มีการทักทายและให้กำลังใจ ตามประสาผู้ใหญ่ เมตตาเด็ก
ย้อนเวลาไปก่อนที่ ‘มาดามเดียร์’ จะเข้ามาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ไปยื่นหนังสือลาออกกับประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นโดยตรง ซึ่งก็คือ ชวน หลีกภัย อันเสมือนเป็นสัญญาณเล็ก ๆ ว่าจะออกไปอยู่กับพรรคใด
ขณะที่ในวันแถลงเปิดตัวลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ‘มาดามเดียร์’บอกว่าไปพบผู้ใหญ่ในพรรคมาหมดแล้ว โดยเฉพาะ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ที่ไปพบเป็นคนแรกด้วยซ้ำ
จึงเป็นเหตุเป็นผลที่พออธิบายได้ถึงคำว่า ‘รอมชอม’ ของสองมุ้งใหญ่ในประชาธิปัตย์ได้ระดับหนึ่ง หากไม่นับรวมข่าวที่ว่า ‘เฉลิมชัย’ เคยปฏิเสธคำเชิญจากคนชั้น 3 ตึกหน้าของประชาธิปัตย์ ที่ขอเปิดเจรจาเพื่อพบกันครึ่งทาง แบ่งเก้าอี้ "หัวหน้า-เลขาฯ" กันคนละตัว
แต่ ณ เวลานั้น ด้วยความที่ถือไพ่เหนือกว่า เนื่องจากมีสส.ในมือมากถึง 21 เสียง จากทั้งหมด 25 เสียง ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ นอกจากปัดเทียบเชิญไม่เจรจาแล้ว ยังออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงปมปัญหาองค์ประชุมล่มอย่างเผ็ดร้อน ชนิดหันหลังให้กันแบบผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ
เมื่อประเมินจากเหตุการณ์ตรงนี้ จึงทำให้คำว่า ‘รอมชอม’ ดูจะมีน้ำหนักไม่มากนัก และน่าจะทิ้งข้างค่อนไปทางใครหลอกใคร ใครถูกซ้อนแผนมากกว่า
สุดท้ายเรื่องนี้ คนในประชาธิปัตย์ บอกให้รอดูความชัดเจนไม่เกินวันที่ 6-7 ธันวาคมนี้ จะได้เห็นภาพชัด เพราะตอนนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในซีกของ ‘เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย’ ที่กำลังแก้เกมเรื่องถูกตีท้ายครัว สูญเสีย ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ ที่นำ 5 สส.ย้ายข้างไปอยู่กับอีกฝ่าย
ชั่วโมงนี้ฝ่าย ‘เสี่ยต่อ’ ยังตรึง 16 สส.เอาไว้ได้ ในขณะที่ ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ ที่นำ 5 สส.มาสวามิภักดิ์กับกลุ่ม ‘นายหัว’ ที่มีอยู่ 4 เสียง รวมเป็น 9 เสียง จะต้องออกแรงไปดึงมาอีกอย่างน้อย 4 เสียง เพื่อให้ได้ 13 เสียง ถึงจะเอาชนะอีกฝ่ายที่จะเหลือเพียง 12 เสียงได้
ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อคุมเสียงข้างมากในสัดส่วน 70:30 ที่เป็นโหวตเตอร์ ลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคมนี้ ซึ่งดูเหมือนจะยาก แต่น่าจะยังอยู่ในวิสัย เพราะครั้งหนึ่ง ‘ชัยชนะ’ เคยเบียดเอาชนะ ‘เดชอิศม์’ ขึ้นนั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.ตำรวจมาแล้ว
เอาเป็นว่า ศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หนนี้ จะเป็นสูตรรอมชอมทางอำนาจของสองมุ้งใหญ่ หรือใครจะซ้อนแผนใคร ให้รอดูการสัปยุทธ์ต่อจากนี้ คือ
หนึ่ง ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ จะถอนตัวเพื่อเปิดทางให้ ‘มาดามเดียร์’ หรือไม่
สอง ‘นราพัฒน์’ แม้ไม่ถอนตัว แต่ต้องดูว่าจะมีคำสั่งถึงไพร่พลไม่ต้องลงคะแนนให้หรือเปล่า ประมาณว่าลงชิงเป็นตัวประกอบหรือคู่เทียบทางการเมือง ให้เห็นถึงบรรยากาศการแข่งขัน ที่เป็นความสวยงามของประชาธิปไตยในพรรคการเมืองเก่าแก่ก็เท่านั้น
ส่วนคำประกาศของ ‘มาดามเดียร์’ ในวันก่อนที่ว่าจะเข้ามาฟื้นฟูพรรค ให้กลับมาเป็นพรรคอุดมการดังเดิมนั้น หากเทียบกับชุดความคิดของ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองปัญหาของประชาธิปัตย์ ที่ก้าวพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2562 จนมาถึงการเลือกตั้งหนล่าสุดปีพ.ศ. 2566 พร้อมกับนำเสนอทางออกไว้ให้ ‘มาดามเดียร์’ ถือว่ายังขาดชุดความคิดในทางปฏิบัติ
หากได้เข้ามาสร้างประวัติศาสตร์การเมือง ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคหญิงคนแรกในรอบ 77 ปีของประชาธิปัตย์ อย่างมากก็คงเป็นแค่คนกลาง ที่มาทำให้สองมุ้งใหญ่ในประชาธิปัตย์ ‘พักรบชั่วคราว’
หรือไม่ก็มาเฝ้าสมบัติให้ ‘ปู่โสม’ การเมืองในพรรคประชาธิปัตย์
อนาคตฟุตบอลไทย เชื่อ ‘แป้ง’ ได้ไหม
‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ แถลงข่าวเปิดตัว ชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล ประกอบด้วย ทีมสภากรรมการ 18 ราย และที่ปรึกษาเนวิน ชิดชอบ ภายใต้ สโลแกน Better Together : Team Thailand บอลไทยรวมใจ พัฒนาไปด้วยกัน
การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ จะมีขึ้นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ปีหน้า เพราะพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกฯ คนปัจจุบัน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคม ในวันเดียวกัน เวลา 12.30 น.
ความจริง พล.ต.อ สมยศ ไม่ต้องลาออก เพราะอีก 3 วันก็จะครบวาระอยู่แล้ว คือ ครบวาระวันที่ 11 กุมภาพันธ์
พล.ต.อ.สมยศ ลาออกเที่ยงครึ่งวันที่ 8 กุมภาพันธ์ อีกครึ่งชั่วโมง เลือกตั้งนายกสมาคม และกรรมการชุดใหม่ทันที ไม่รู้ว่าทำไมต้องวางไทม์ไลน์กันอย่างนี้ ในเมื่อการสืบทอดอำนาจไม่ขาดตอนอยู่แล้ว เพราะสมยศไป นวลพรรณมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับวงการฟุตบอลไทย เพราะยังอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าของทีมใหญ่ที่ มีนโยบาย สโมสรต้องมาก่อนทีมชาติ สมยศกับมาดามแป้ง มาได้เพราะเจ้าของทีมใหญ่คนเดิม ไฟเขียว
การชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล มาดามแป้ง มีคุ่แข่งคือ วรงค์ ทิวทัศน์ อดีตเลขานุการไทยลีก และพอลลีน งามพริ้ง อดีตแกนนำกลุ่ม เชียร์ไทยพาวเวอร์ เทียบกับกลุ่มอำนาจเดิมที่มี มาดามแป้ง เป็นแคนดิเดทนายกฯแล้ว มองไม่เห็นโอกาสชนะเลือกตั้ง
การก้าวสู่ตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลของมาดามแป้ง เป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง หลังจากเป็นประธานสโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย ‘ช้างศึก’
ระหว่างแถลงข่าวเปิดตัวทีมสภากรรมการ มาดามแป้งประกาศออกจากตำแหน่งประธานสโมสรท่าเรือในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาความไม่เป็นกลาง ถ้าเธอเป็นนายกสมาคมฯ และจะลาออกจากการเป็นผู้จัดการทีมช้างศึก ในวาระต่อไปด้วย
มาดามแป้งเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่ หรือทีมช้างศึกและทีมชาติชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม ปีพ.ศ. 2564 ก่อนหน้านั้น เธอเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงไทย พาทีมเข้ารอบไปแข่งฟุตบอลโลก 2 สมัย ในปีพ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2562
สองปีของทีมช้างศึก ภายใต้มาดามแป้ง ไปได้ไกลที่สุดแค่ เป็นแชมป์อาเซียน เมื่อปีที่แล้ว เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลเอเชียนคัพ 2023 ซึ่งจะแข่งในเดือนมกราคมปีหน้า ล่าสุดในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2016 รอบคัดเลือก นัดแรกแพ้จีน 1-2 นัดที่สองชนะสิงคโปร์ 3-1 ยังไม่หมดหวังที่จะเข้ารอบ แม้จะต้องเจอกับเกาหลีใต้ ในเดือนมีนาคมปีหน้า
วงการฟุตบอลไทยในยุคที่ พล.ต.อ สมยศ เป็นนายกสมาคมฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตกต่ำ ไม่มีแผนการพัฒนานักเตะทั้งในระดับประเทศ และทีมชาติ ยอมให้สโมสรใหญ่ๆ ทำอะไรตามใจ ไม่ปล่อยตัวนักเตะมาเล่นให้ทีมชาติ
ในขณะที่มาดามแป้งก็ถูกมองว่า ไม่ได้มีความรู้ ความสามารถในการทำหน้าที่ผู้จัดการทีมชาติ ทำได้ดีที่สุดคือ อัดฉีดเงินรางวัล ให้นักเตะแลกกับชัยชนะ และเลือกโค้ชที่เชื่อฟัง ทำตาม มากกว่าโค้ชที่เก่ง
อย่างไรก็ตาม ความสิ้นศรัทธาในสมาคมฟุตบอลกีฬายุคที่ผ่านมา ทำให้มาดามแป้ง เป็นความหวังใหม่ของแฟน ๆ กีฬาฟุตบอลไทยว่า เธอน่าจะทำให้วงการฟุตบอลไทยและทีมชาติไทยมีอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้