ความขัดแย้งในเชิงความคิดเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการเงินและการคลังระหว่างคนในรัฐบาลของนายกฯ ‘อิ๊งค์’ แพทองธาร ชินวัตร กับทีมงานแบงก์ชาติของ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยิ่งนานวันก็ยิ่งมีรอยร้าวที่ยากจะประสาน ที่อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ ‘แตกหัก’ ได้ในทุกนาที
ถึงแม้ รองนายกฯและรมว.คลัง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ จะพยายามที่จะลดความขัดแย้งและนัดหมายผู้ว่าฯแบงก์ชาติไปหารือเพื่อปรับมุมมองทางเศรษฐกิจที่เห็นต่างกันในเร็วๆนี้ แต่กลับดูเหมือนบรรดาทีมงานด้านเศรษฐกิจในปีกของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สองรมช.คลัง ทั้ง ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ แถมยังมี **‘ตัวบวก’**เพิ่มอีกคนอย่าง รมว.พาณิชย์ ‘พิชัย นริพทะพันธุ์’ ก็ยังคงพยายามที่จะ ‘โยนฟืนใส่กองไฟ’ ทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นทุกที
ทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยยังคงขาดความเป็นมืออาชีพ และไม่ยอมเข้าใจและเคารพความเป็น ‘อิสระ’ ในการทำงานของแบงก์ชาติ ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเปิด ‘วอร์’ ผ่านสื่อถล่มใส่แบงก์ชาติ โดยไม่ได้ตระหนักว่า บทบาทที่เล่น ‘เกินเบอร์’ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้กำลังกลายเป็นตัว ‘ฉุดรั้ง’ และ ‘บั่นทอน’ ความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจไทยในสายตาของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ เนื่องจากเกิดความวิตกว่าแบงก์ชาติอาจถูกแทรกแซงและกดดันให้ต้องกำหนดนโยบายไปในทิศทางที่มีความสุ่มเสี่ยงตามความต้องการของรัฐบาล
ล่าสุดเสียงบ่นจาก รมว.พาณิชย์ พิชัย เกี่ยวกับเรื่องค่าเงินบาทแข็ง ยังไม่ทันจางหาย เผ่าภูมิ รมช.คลัง คนเก่ง หนึ่งในชาวคณะ ‘มินต์ช็อก’ ที่เดินอยู่ข้างกาย นายกฯ อิ๊งค์ ก็เปิด ‘วอร์’ ซัดอาวุธลับเข้าใส่แบงก์ชาติอีกหนึ่งชุด ถึงแนวคิดในการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank)
รมช.เผ่าภูมิ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการ ‘จำกัด’ จำนวนรายของผู้ที่จะได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank ไว้เพียง 3 รายตามแนวคิดของแบงก์ชาติ โดยเชื่อว่าควรเปิดกว้างให้กับผู้สนใจทุกรายตามคุณสมบัติเป็นหลัก
หากผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ที่ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ก็ควรได้รับใบอนุญาตทั้งหมด ไม่ต้องจำกัดจำนวนราย
‘คลังไม่เห็นด้วยที่จะจำกัดจำนวนใบอนุญาต เป็นจุดยืนของกระทรวงคลังที่พูดมาตั้งแต่วันแรก ประเทศไทยควรจะมี Virtual Bank โดยใบอนุญาตต้องดูที่คุณสมบัติเป็นหลักไม่ใช่จำนวนเป็นตัวตั้ง’
ยิ่งไปกว่านั้นกระบวนการพิจารณาของแบงก์ชาติที่ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ‘ยาวนาน’ เกินไปควรต้องเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถสรุปรายละเอียดเสนอให้กระทรวงคลังพิจารณาเป็นรอบสุดท้าย
แนวคิดของแบงก์ชาติ ‘ธนาคารไร้สาขา’ หรือ ‘Virtual Bank’ คือการเปิดพรมแดนธุรกิจการเงินใหม่ ในการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
โดยมีเพียงการตั้งสำนักงานใหญ่ ไม่มีการเปิดสาขา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทั้งรับฝากเงิน ให้สินเชื่อ โอนและชำระเงิน บริการด้านการลงทุน รวมทั้งบริการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาทุกประการ
คาดว่าธนาคารไร้สาขาจะทำให้ลูกค้ารายเล็กรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น แต่เนื่องจากเปรียบเสมือนเป็นน่านน้ำธุรกิจใหม่ที่น่าห่วงไม่น้อย โดยมี ‘โจทย์ใหญ่’ ก็คือการปิดจุดเสี่ยงรอบทิศทาง เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้าผู้ฝากเงิน และผู้ขอสินเชื่อ จึงต้องมั่นใจว่าผู้ประกอบการจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงินผ่านระบบและช่องทางดิจิทัล
‘Virtual Bank ไม่ได้เป็นธุรกิจที่ง่าย เพราะเกี่ยวพันกับเงินฝากของประชาชน ต้องมีเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งธนาคารต้องปิดตัวไป มันมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก แต่กว่าจะยืนอยู่ได้ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าธุรกิจจะได้กำไรพอที่จะยืนอยู่ได้ ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าทุนมันเพียงพอ ธนาคารมีโอกาสอยู่รอด’
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ เคยให้ความเห็นถึงสาเหตุที่มีการประเมินว่า จำนวนผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาจัดตั้งในประเทศไทยควรจะจำกัดไว้ในระยะแรกไม่เกิน 3 ราย เนื่องจากเป็นจำนวนที่จะน่าจะ ‘เหมาะสม’ กับขนาดของเศรษฐกิจประเทศ และไม่สร้างบรรยากาศการแข่งขันมากจนเกินไป จนอาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ในช่วง 3-5 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วง Phasing แบงก์ชาติกำหนดว่าการดำเนินงานจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน จะต้องมีการ**‘เตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤต’** และมีการพัฒนากรอบและระบบการ**‘ทดสอบภาวะวิกฤต’** หรือ Stress Test จนมั่นใจก่อนเข้าสู่ช่วง Fully Functioning นอกจากนี้ยังต้องมีการกำหนด Exit Plan ในกรณีที่จะเลิกกิจการ หากการดำเนินงานไม่ประสบผลสำเร็จ
ปัจจุบันมีกลุ่มธุรกิจ 5 กลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ประกอบด้วย
- กลุ่ม SCBX จับมือกับ KakaoBank และ WeBank
- กลุ่ม GULF ร่วมกับ AIS ธนาคารกรุงไทย และ PTTOR
- กลุ่ม BTS ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ Sea Group เครือสหพัฒน์ฯ และไปรษณีย์ไทย
- กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น Ascend Money (TrueMoney) และ Ant Group ของจีน
- กลุ่ม ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group ร่วมกับ WeLab
ทั้ง 5 กลุ่มจะต้องผ่านการพิจารณารายละเอียดของแผนการจัดตั้งธนาคารไร้สาขาในด้านต่างๆในราว 6 เดือน ก่อนที่จะเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกต่อคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินพิจารณาเห็นชอบ เพื่อนำเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาให้กับ รมว.คลัง ซึ่งคาดว่าน่าจะทราบผลในราวกลางปีหน้า
หากพิจารณาจากกรอบการดำเนินงานของแบงก์ชาติ จะเห็นว่าทั้ง 5 ราย ต่างมีความพร้อมและโอกาสพอ ๆ กัน ซึ่งคงยากที่จะให้คำตอบได้ว่าในที่สุดแล้ว กลุ่มไหนที่จะมีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การพิจารณาของแบงก์ชาติ
ดูจะเป็นเรื่องน่าประหลาดใจกับท่าทีของ รมช.เผ่าภูมิ ทำไมต้องรีบออกตัว ถึงขนาดเปิด ‘วอร์’กดดันให้แบงก์ชาติไม่กำหนดเงื่อนไขที่จะจำกัดผู้ได้รับใบอนุญาตไว้เพียง 3 ราย สร้างรอยร้าวของความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติให้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น จนอาจจะเดินไปถึงจุดแตกหักในที่สุด