สำหรับรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ เศรษฐา นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ มันอาจจะเป็น ‘อีเวนต์’ สำคัญอีกครั้งในการโชว์วิสัยทัศน์สุดแสนทะเยอทะยานตามแนวคิดIGNITE Thailand ที่วาดหวังจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่ง และยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคอาเซียน Financial Hub เช่นเดียวกับอีก 7 ด้าน คือ การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล อาหาร การบิน ขนส่ง ฐานผลิตยานยนต์แห่งอนาคต และเศรษฐกิจดิจิตอล เหมือนที่ประกาศไว้เมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้
แต่ในสายตาของบรรดานักธุรกิจ โดยเฉพาะในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุน ‘อีเวนต์’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายกฯ เศรษฐาไปเป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว ‘โครงการศูนย์กลางการเงิน (Financial Hub)’ ภายใต้หัวข้อ ‘Ignite Financial : Thailand’s Vision for a Global Financial Hub เปิดทางนำไทยสู่ศูนย์กลางการเงินโลก’ ก็เป็นเพียงอีกงานหนึ่งที่ผู้คนที่ไปร่วมในงานต่างตกอยู่ในสภาพเหมือนได้ดู ‘ตลกร้าย’ ที่ชวนให้รู้สึกหวานอมขมกลืนจนยากจะเก็บอาการของควากระอักกระอ่วนเอาไว้
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะหลังจากการแถลงวิสัยทัศน์ แทนที่จะเกิดอาการไฟ ‘ลุกโชน’ ตื่นเต้นไปกับการประกาศดังกล่าว แต่บรรดาคนที่ไปร่วมงานกลับมีคำถามในใจที่คงไม่แตกต่างกันว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากพอที่จะกลายเป็น ‘ศูนย์กลางการเงินของอาเซียน’ ได้อย่างง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ
ในงานนี้ นายกฯ เศรษฐา ประกาศว่าจะสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงินการลงทุน และการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่ประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว และการพัฒนากฎหมายกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยเชื่อว่า โครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงมายังประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น ‘ศูนย์กลางการเงินระดับโลก’
งานนี้ดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะให้ ‘สปอตไลท์’ ส่องไปที่ รมช.คลัง ‘เผ่าภูมิ โรจนสกุล’ จนผิดสังเกต แทนที่จะเป็นนายกฯเศรษฐา เพราะเขากลับเป็นคนนำเสนอ ‘วิสัยทัศน์’ ในการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกจากธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย
เผ่าภูมิ กล่าวว่า มี ‘กุญแจ’ สำคัญ 3 ดอกที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลก คือ
1.กฎหมายที่พร้อมรับอนาคต มีความยืดหยุ่น โปร่งใส เอื้อต่อการประกอบธุรกิจตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขยายบทบาทภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก
2.สิทธิประโยชน์ในรูปแบบใหม่ การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากรและครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่าศูนย์กลางการเงินอื่น และโครงการเงินสนับสนุน (Grant) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ
3.ระบบนิเวศแห่งอนาคต จะพัฒนากฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใส รวมถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียง ‘วิสัยทัศน์’ ที่บางอย่างถึงจะมีแผนงานและการลงมือทำไปแล้ว เช่นเรื่องของธนาคารไร้สาขา Virtual Bank ที่เป็นแผนงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มทำมาตั้งแต่ยุคของรัฐบาลลุงตู่ แต่อีกหลาย ๆ เรื่องยังไม่มีการขยับนับหนึ่งทำอะไรเลย
การประกาศ ‘วิสัยทัศน์’ จึงเป็นเพียงแค่แรงปรารถนาของรัฐบาลที่พยายาม ‘จุดไฟ’ แต่เป็นได้เพียงแค่ ‘สะเก็ดไฟ’ ที่ดับวูบลงทันทีหลังจากจบงาน
การประกาศวิสัยทัศน์ระดับนี้ ต้องถือว่าเป็นงานใหญ่มาก เพราะเราต้องการจะประกาศให้ไทยเป็น ‘ศูนย์กลางการเงินของโลก’ ไม่ใช่เรื่องประกาศเล่นๆ แต่เท่าที่เห็นจากภาพข่าวกระทรวงการคลัง ก็มีเพียงแค่คนในกระทรวงการคลัง, แบงก์ชาติ , ก.ล.ต. ,สถาบันการเงินต่างๆของรัฐและเอกชน แต่กลับไม่มีชื่อ **‘บิ๊กเนม’**วงการเงิน อย่างนายธนาคาร หรือ ผู้จัดการกองทุนระดับโลก มาร่วมในพิธีอันยิ่งใหญ่นี้ กลับมีแต่คนกันเองนั่ง ‘มองตา’ กันทั้งนั้น
แขกที่ถูกเชิญไปร่วมงานก็ไปกันแบบ ‘ปุปปับ’ เพราะได้รับเชิญแบบ **‘ด่วนที่สุด’**ในวันพุธ แค่สองวันก่อนมีงาน แม้แต่แบงก์ชาติก็ได้รับเชิญแบบด่วนที่สุด ไม่รู้เรื่องมาก่อน ทั้งที่แบงก์ชาติเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ควรจะมีส่วนร่วมมากที่สุด
ความจริงหากลองยืนอยู่ตรงจุดนี้ และมองถึงบริบทแท้จริงที่เป็นอยู่ เราจะพบความจริงเชิงประจักษ์ว่า เส้นทางที่จะไป ‘สู่ฝัน’ อันยิ่งใหญ่ของ นายกฯเศรษฐานั้นยังอีกแสนยาวไกล เพราะธุรกิจหลักทั้ง 5 ประเภท คือ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัยนั้น ต่างอยู่ในสภาพ ‘ติดลบ’ ที่มีปัญหาในตัวเองที่รอการแก้ไขอยู่ทั้งหมด ทำให้ยากจะเดินไปข้างหน้าหากยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเสียก่อน
ถึงขนาดมี ‘ตลกร้าย’ ที่คุยกันว่าระหว่างการเป็น Financial Hub กับการเป็นศูนย์กลางธุรกิจ‘การเงินแบบสีเทา’ ของอาเซียน อย่างหลังน่าจะง่ายกว่าเสียอีก หากดูจากบริบทที่เกิดขึ้นในแวดวงตลาดเงิน-ตลาดทุนของไทยเวลานี้ ที่มีระบบนิเวศหรือ Eco-System ที่มีความพร้อมและเอื้ออำนวยมากกว่าเสียอีก