จัดทัพใหม่กันไปแล้ว ในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อบรรดากรรมการบริหาร สส.พรรคประชาชน และชาวพรรคสีส้ม พากันไปปิดห้องคุย จัดสัมมนา ระดมสมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการทำงานในช่วงที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้น
ทำไมถึงผลิตผลงานไม่ออก ไม่ว่าจะในสภาหรือนอกสภา?!
แถมยังแพ้เลือกตั้งติด ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นที่พิษณุโลก ราชบุรี ที่สำคัญเป็นการแพ้ในบ้าน เมื่อ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา เจ้าของเก้าอี้สส.เขต 1 พิษณุโลก แชมป์สองสมัยซ้อน ไม่สามารถส่งต่อเก้าอี้ให้ผู้สมัครในทีมได้ในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เคยทำคะแนนเอาชนะผู้สมัครคู่แข่งไว้มากถึง 4 หมื่นกว่าคะแนน
แต่หนนี้เกิดอาการวูบเอาดื้อ ๆ คะแนนหายไปกว่า 1 หมื่นคะแนน
ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นของชาวพรรคสีส้ม ไม่ว่าจะสรุปบทเรียนหรือถอดบทเรียนกันอย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะความเห็นของผู้นำจิตวิญญาณอย่าง ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ที่มองเป็นการสนธิกำลังของชนชั้นนำ 3 ฝ่าย ทั้งชนชั้นนำดั้งเดิมจารีต ชนชั้นนำการเมืองจากทุกพรรค ทุกค่าย และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ
ในสายตาของปิยบุตร มองว่า นี่คือ ‘พิษณุโลกโมเดล’ ที่กำลังจะถูกนำไปขยายผลในการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศ ครั้งต่อไป ที่ชาวพรรคสีส้มต้องเตรียม **‘ตั้งรับ’**ไว้ให้ดี
ขณะที่นักวิชาการอย่าง ‘ดร.สุวิชา เป้าอารีย์’ จากนิด้าโพล แม้จะไม่ได้ให้นิยามการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ แบบเดียวกับที่ปิยบุตรเรียก แต่ก็มองความพ่ายแพ้ของพรรคสีส้มในหลายสนาม เกิดจากการรวมตัวเป็น**‘พันธมิตรของกลุ่มบ้านใหญ่’** ที่ไม่ส่งผู้สมัครตัดคะแนนกันเอง แถมรวมตัวสู้กับพรรคส้มด้วย
การรวมตัวกันของกลุ่มบ้านใหญ่ลักษณะนี้ ดร.สุวิชา มองว่า ในอนาคตอาจได้เห็นการรวมตัวกันของ ‘พรรคอัมโน’ ในแบบฉบับของประเทศไทย เพื่อเอาชนะพรรคสีส้มในหลาย ๆ สนาม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สองความเห็นของสองนักวิชาการข้างต้น ก็เป็นเหตุผลของชัยชนะและความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งที่ผ่านมาด้วย แต่คงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะยังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง ที่เป็น**‘อิทัปปัจจยตา’**ทางการเมือง ชนิดที่สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด
อย่างแรกเลย หลังพรรคก้าวไกลถูกยุบและแปลงร่างมาเป็น ‘พรรคประชาชน’ ในเวลาต่อมา โดยได้ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ สส.เท้ง มาเป็นผู้นำคนใหม่
แต่กระบวนการคัดสรร ‘คนแถว 3’ มาเป็นผู้นำคนใหม่ มีความแตกต่างจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ มาเป็นก้าวไกลในอดีต เพราะการส่งไม้ต่อจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จนมาถึง ชัยธวัช ตุลาธน เป็นการส่งผ่านทางความคิดจากรุ่นสู่รุ่น
เป็นการสืบทอดทางความคิดแบบไร้รอยต่อ
ทว่ามาถึงการส่งไม้ต่อให้กับ สส.เท้ง กลับมีภาพที่แตกต่างไปจากเดิม โดยได้เห็นภาพของพรรคการเมืองที่มี **‘เจ้าของ’**เด่นชัดขึ้น เมื่อมีรายงานข่าวว่า ผู้นำพรรคคนใหม่หวยมาออกที่ สส.เท้ง เพราะเป็นสายตรงของธนาธร
จึงทำให้พรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่พรรคนี้ ก็เป็นพรรคที่มีเจ้าของไม่แตกต่างไปจากพรรคอื่น ๆ
อย่างที่สอง เมื่อผู้นำพรรคคนใหม่ มาด้วยเหตุผลข้อแรก จึงทำให้บทบาทการทำงานตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งในฐานะแม่ทัพในสภาและในฐานะหัวหน้าพรรคบนเวทีปราศรัย ไม่มีความโดดเด่นพอ และยังขาด**‘ออร่า’**ทางการเมือง ที่ไม่สามารถเปล่งรัศมีออกมาได้
โดยหากมองบุคคลิก สส.เท้ง ในช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ผ่านมา น่าจะเหมาะกับการเป็นหนึ่งในคณะทำงาน มากกว่าขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยตัวเอง
อย่างที่สาม การพยายามปรับตัวของพรรคส้มในระยะหลัง ที่ต้องการ**‘ลดเพดานบิน’ลง เพื่อให้อยู่กับโลกปัจจุบัน ไม่ให้ถูกมอง‘สุดโต่ง’**เกินไป แต่ดูจะเป็นการปรับแบบเก้ๆ กังๆ เสียมากกว่า ตัวอย่างจากการออกมาวิวาทะกับ ‘จักรภพ เพ็ญแข’ เรื่องพรรคปฏิวัติกับพรรคปฏิรูป
หรือแม้แต่ข้อเสนอของผู้นำจิตวิญญาณ ที่ให้เลิกทำการเมืองแบบโดดเดี่ยวตัวเอง!!
มันจึงทำให้พรรคสีส้ม ที่เคยมีจุดแข็งและจุดอ่อนอยู่ในที่เดียวกัน เกิดอาการเครื่องรวนและต้องมาค้นหาตัวเองกันใหม่อีกครั้ง
สุดท้าย ที่ผ่านมาแกนนำพรรคสีส้ม ยังติดหล่มอยู่กับเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร และเรื่องนิติรัฐ-นิติธรรม ที่พอลุกขึ้นอภิปรายไม่ว่าจะในโอกาสไหน ก็ต้องเปิดหัวด้วยเรื่องนิติรัฐทุกครั้งไป
ไม่ต่างอะไรกับพนักงานร้านสะดวกซื้อ ที่ถูกสอนให้ท่องจำคำว่า ‘ขนมจีบ ซาลาเปา เพิ่มไหมค่ะ’
พรุ่งนี้ ถ้าคนในพรรคสีส้มตอบตัวเองในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ และยังทำตัวเป็นฝ่ายค้านที่ชกไม่เต็มหมัด ก็คงต้องเดินยักไหล่แล้วไปต่อ แต่จะหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงอยู่ในช่วงขาลง?!