30 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสุดท้ายของข้าราชการที่จะต้องทำงานในตำแหน่ง และอาชีพข้าราชการที่ทรงเกียรติมาเป็นเวลานาน
เกินครึ่งชีวิตของข้าราชการแต่ละคน เป็นช่วงเวลาที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะข้าราชการ หลายคนประคองชีวิตราชการมาไม่ถึงวันที่ 30 กันยายน ในปีที่อายุครบ 60 ปี เพราะเลือกเดินออกจากชีวิตราชการไปประกอบอีพอื่น
บางคนก็ต้องออกจากอาชีพราชการไปด้วยเหตุอื่น โดยเฉพาะรายที่ทนต่อความเย้ายวนของอำนาจและผลประโยชน์ไม่ไหว
ข้าราชการทุกคนเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้ว่า จะชีวิตข้าราชการลงแบบไหน
จบอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
จบแบบโลกจำ
หรือ จบแบบโลกลืม
‘บิ๊กต่อ’ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 43 เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งอำลาชีวิตราชการลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 และหากก่อนเที่ยงคืนวันที่ 30กันยายน 2567 ไม่มีอะไรพลิกผัน หรือไม่มีคำสั่งใดใดลงมา ‘บิ๊กต่อ’ ก็จะเกษียณอายุราชการแบบสมบูรณ์ จบเส้นทางการรับราชการ ในฐานะนายทหารลงบนตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบก
นอกจากนั้น พล.อ.เจริญชัย ก็จะเป็น ผู้บัญชาการทหารบกคอแดงคนแรก ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. นับจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.คอแดงคนที่สอง
พล.อ.อภิรัชต์ และพล.อ.ณรงค์พันธ์ ไม่ได้เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. เนื่องจากก่อนสิ้นสุดอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ทั้งคู่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้โอนย้ายไปเป็นข้าราชการในพระองค์
พล.อ.อภิรัชต์ นอกเหนือจากนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์อยู่แล้ว ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุมัติ โปรดเกล้าฯให้ปรับโอนไปบรรจุเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษ เป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ตามคำสั่งสำนักพระราชวังที่ 182/2563 ลงนามโดย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2563 และให้มีผลในวันที่ 30 ก.ย.2563 อันเป็นวันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดอายุราชการ
ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายทหารปฏิบัติการพิเศษอยู่แล้ว ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปรับโอนไปเป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ในตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลเอกพิเศษ) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 และให้มีผลทันที
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จึงมิได้รับราชการในฐานะ 'ผบ.ทบ.จนถึงวันที่ 30 กันยายนเหมือน 'ผบ.ทบ.' คนอื่น ๆ
ปัจจุบัน พล.อ.อภิรัชต์ กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตลาออกจากราชการ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567
สถานะในวันนี้ พล.อ.อภิรัชต์ จึงพ้นจากการรับราชการ และเป็นเพียงนายทหารนอกราชการเต็มตัว ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2567 เป็นต้นมา
ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ยังคงรับราชการในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
เพราะฉะนั้นก่อนเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายน 2567 หากยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ พล.อ.เจริญชัย ก็จะเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรก ที่เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง
การสวนสนามกองเกียรติยศ เพื่ออำลาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้กับ พล.อ.เจริญชัย และการส่งมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนที่ 44 ให้กับ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ จึงจะเป็นการส่งมอบหน้าที่ และก้าวเดินออกจากกองบัญชาการกองทัพบกถนนราชดำเนินอย่างเต็มภาคภูมิ
เส้นทางการรับราชการกว่า 30 ปีของ พล.อ.เจริญชัย ที่สิ้นสุดลงในฐานะผู้นำหน่วย เป็นเส้นทาง แห่งความภาคภูมิใจของ บิ๊กต่อ ในฐานะทหารเสือราชินี เพราะรับราชการครั้งแรกในตำแหน่ง ผบ.หมวดปืนเล็ก ประจำกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยทหารเสือราชินี
ก่อนเกษียณอายุราชการ บิ๊กต่อ ยืนอยู่บนทางเลือกที่จะก้าวไปในเส้นทางที่ ‘จบแบบโลกลืม’ หรือ ‘จบให้โลกจำ’ เมื่อมีแรงเสียดทาน และแรงกดดันให้เขาต้องตัดสินใจระหว่าง ‘เอาตัวรอด เอาครอบครัวรอด’ หรือ ‘กัดฟันยอมเจ็บ เพื่อส่วนรวม’ เพื่อวางโครงสร้างใหม่ จัดระเบียบการเติบโตในกองทัพ ดึงกองทัพกลับเข้าสู่ระบบอาวุโส ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ปลูกฝังกันมานานในโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
สุดท้าย บิ๊กต่อ เลือกเส้นทางเขียนประวัติศาสตร์ให้โลกจำ ด้วยการจัดวางตำแหน่งการโยกย้ายครั้งใหญ่ในกองทัพบก เฉลี่ยตำแหน่งนายพลหลัก 242 ตำแหน่งในกองทัพบก เข้าสู่ระบบอาวุโส และระบบคุณธรรม
พล.อ.เจริญชัย เลือกการคืนความชอบธรรมให้นายทหารบางรุ่น และชะลอการเติบโตของนายทหารรุ่นน้องบางรุ่น เพื่อให้กลับมาสู่เส้นทางการเติบโตตามระบบ
คำสั่งโยกย้ายนายพลของกองทัพบกประจำปี 2567 ในระดับ 5 เสือ ทบ. จึงมีทั้ง ตท.23 ตท.24 ตท.25 และ ตท.26
ตท.23 ที่เหลืออยู่ คือ พล.อ.เอกรัตน์ ช้างแก้ว ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก
ตท.24 พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร จากที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก เข้าไลน์มาเป็น รองผู้บัญชาการทหารบก อัตราพล.อ.พิเศษ
ตท.25 ที่ออกนอกไลน์ไปแล้ว คือ พล.อ.วสุ เจียมสุข จากตำแหน่งรองผู้อำนวยการ สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก กลับมาเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
ตท.25 พล.ท.ธงชัย รอดย้อย จากรองเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น เสนาธิการทหารบก
ส่วนตท.26 น้องเล็กสุดของ 5 เสือทบ.รอบนี้ นอกจาก พล.อ.พนา ที่เป็นผบ.ทบ.แล้ว ยังมีพล.ท.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ.
ระดับแม่ทัพภาคและแม่ทัพน้อย กระจาย 6 รุ่น
แม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.27) พล.ท.อมฤต บุญสุยา
แม่ทัพน้อยที่ 1 (ตท.28) พล.ต.วรยส เหลืองสุวรรณ
แม่ทัพภาคที่ 2 (ตท.26) พล.ท.บุญสิน พาดกลาง
แม่ทัพน้อยที่ 2 (ตท.24) พล.ต.พรชัย มาหลิน
แม่ทัพภาคที่ 3 (ตท.23) พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ
แม่ทัพน้อยที่ 3 (ตท.25) พล.ต.กิตติพงศ์ ชื่นใจชน
แม่ทัพภาคที่ 4 (ตท.25) พล.ต.ไพศาล หนูสังข์
แม่ทัพน้อยที่ 4 (ตท.26) พล.ต.คมกฤช รัตนฉายา
ส่วนระดับ 'พล.ท.' ในตำแหน่ง รองเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการ และเจ้ากรมสำคัญที่เป็นหน่วยขึ้นตรงผู้บัญชาการทหารบก ส่วนใหญ่ พล.อ.เจริญชัย ให้สิทธิกับน้อง ตท.รุ่น 26 เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำงานให้กับ บิ๊กปู พล.อ.พนา เช่น
พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เป็นรองเสนาธิการทหารบก
พล.ต.ณรงค์ฤทธิ์ คัมภีระ เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
พล.ต.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฏฐ์ เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ
พล.ต.สิรภพ ศุภวานิช เป็นเจ้ากรมทหารช่าง
พล.ต.ธนิศร์ ยูสานนท์ เป็นเจ้ากรมกำลังพล
พล.ต.ชาครีย์ ภัทรพงศ์กุล เป็นเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก
พล.ต.จินตมัย ชีกว้าง เป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก
พล.ต.สุรเทพ หนูแก้ว เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก
…ทั้งหมดเป็นอัตรา พล.ท.
'ส่วนตท 26 ที่เหลือในอัตรา พล.ต.' ยังมี
พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง ขึ้นเป็นผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรอง
พ.อ.พรเทพ ยังรักษา ขึ้นเป็นผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ
ระดับผู้บัญชาการกองพลหลัก ที่เป็นหน่วยคุมกำลังสำคัญทั่วประเทศ พล.อ.เจริญชัย กระจายตำแหน่งให้ตั้งแต่รุ่นพี่ ตท.25 ที่ยังตกค้าง ไปจนถึงดาวรุ่งรุ่นน้อง ตท.32 ที่แม้จะมี 3 กองพลหลักเป็นน้องรักทหารเสือราชินี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทั้ง 3 ราย อาวุโสการครองตำแหน่งและมีความสามารถ ประกอบด้วย
ผบ.พล.1 รอ. (ตท.31) พ.อ.กิตติ ประพิตรไพศาล
ผบ.พล.ร.2 รอ. (ตท.32) พ.อ.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา
ผบ.พล.ร.9 (ตท.29) พ.อ.อัษฏาวุธ ปันยารชุน
ผบ.พล.11 (ตท.30) พ.อ.ยุทธนา มีเจริญ
ผบ.พล.รพศ.1 (ตท.31) พ.อ.อินทนนท์ รัตนกาฬ
ผบ.พล.ม.1 (ตท.25) พ.อ.กิดากร จันทรา
ผบ.พล.ม.2 รอ. (ตท.30) พล.ต.ศรัณย์ รอดบุญธรรม
ผบ.พล.ร.3 (ตท.29) พ.อ.สุคนธรัตน์ ชาวพงษ์
ผบ.พล.ร.4 (ตท.28) พ.อ.ไมตรี ชูมีปรีชา
ผบ.พล.ร.6 (ตท.29) พล.ต.สมภพ ภาระเวช
ผบ.พล.ร.7 (ตท.29) พ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน
ผบ.พล.นปอ. (ตท.30) พ.อ.สุรสีห์ ศรีวนิชย์
การวางตำแหน่งตั้ง 5 เสือ ลงมาถึงแม่ทัพภาค และผู้บัญชาการกองพลหลัก เมื่อไม่เลือกเดินตามโผที่ถูกเขียนลงมา พล.อ.เจริญชัย จึงต้องจัดวางตำแหน่งอย่างละเอียด กระจายรุ่น ให้ความชอบธรรมรุ่นที่โดนเบียด และโปรโมทรุ่นน้องที่มีความสามารถ พร้อม ๆ จัดวางขุมกำลังให้คนเป็นผบ.ทบ.คนใหม่ ได้มีมือมีไม้ไว้ใช้งาน โดยไม่คิดแค่ทิ้งทวน เพื่อวางคนของตัวเองเข้าไลน์
ประการสำคัญที่สุด คือ การนำพากองทัพบก กลับเข้าสู่ระบบการโยกย้ายที่เป็นธรรม หลังมีความพยายามดึงระบบรุ่น ระบบเพื่อน และระบบพวก เข้ามามีส่วนกี่ยวข้องกับการโยกย้ายในระนาบคุมกำลังสำคัญของประเทศ
เส้นทางการรับราชการของ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.คนที่ 43 จะจบลงอย่างสมบูรณ์หลังเที่ยงคืนวันที่ 30 กันยายน 2567 บนเส้นทางการเกษียณอายุราชการที่ 'จบให้โลกจำ' ไม่ใช่เส้นทางที่ 'จากให้โลกลืม'