แก้ปม กม.ประชามติ?! ภูมิใจไทยแปลงร่างอนุรักษ์นิยม

30 ก.ย. 2567 - 03:00

  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงไม่เห็นจุดหมายปลายทาง

  • การช่วงชิงทางการเมืองของแต่ละพรรคก็ยังเข้มข้น

  • จับตาการเปลี่ยนบทบาทของภูมิใจไทย มาเป็นผู้นำสายอนุรักษ์นิยมใหม่

Deep Space กฎหมายประชามติ-SPACEBAR-Hero.jpg

วันนี้วุฒิสภา ได้ฤกษ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2-3 ซึ่งเป็นฉบับ ‘กลับลำ’ ย้อนกลับไปใช้เสียงข้างมากสองชั้นเหมือนเดิม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อันเป็นอาฟเตอร์ช็อคจาก ‘ต่อม’ จริยธรรมแตก ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคเพื่อไทย ที่มีปัญหาขบเหลี่ยมกับพรรคร่วมรัฐบาล จนมีผลสะเทือนมาถึงการแก้ไขกฎหมายประชามติ

เรื่องนี้หากเป็นแค่การเอาคืนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่มีอะไรที่ใหญ่กว่านั้น ก็น่าจะหาจุดร่วมหรือรอมชอมกันได้ แต่ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งแห่งความขัดแย้ง ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย 

เรื่องคงไม่จบง่าย ๆ เพราะมีเดิมพันใหญ่รออยู่ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า

เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่ถ้าจะหาทางออกแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่นแล้ว ก็คงจะพอมีทางอยู่บ้างอย่างน้อย 2-3 ทาง

ทางที่หนึ่ง คงให้ยืนตามการแก้ไขที่กรรมาธิการเสียงข้างมากของสว.มีมติไว้ คือ ให้ใช้ ‘เสียงข้างมากสองชั้น’ เฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ให้ใช้เสียงข้างมากทั่วไปตามร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร

จากนั้น ค่อยไปตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภา เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป

ทางที่สอง ในชั้นกรรมาธิการร่วมสองสภา ต้องใช้วิธี ‘พบกันครึ่งทาง’ ให้ได้ โดยไม่ใช่ถอยกลับไปหาร่างเดิมของสส.หรือยึดร่างที่สว.แก้ไขและให้ความเห็นชอบมาทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายแนวทางอยู่แล้ว ทั้งแบบ ‘ชั้นเดียว+ห้องใต้ดิน’ และ‘ชั้นเดียว+ชั้นลอย’ ดังนั้น จึงน่าจะหาจุดกึ่งกลางร่วมกันในสูตรที่เรียกว่า ‘ชั้นครึ่ง’ แทนได้

กล่าวคือ หากยึดตามร่างเพื่อไทย ก็จะเป็นแบบ ‘ชั้นเดียว+ห้องใต้ดิน’ คือใช้เสียงผู้มาใช้สิทธิปกติ แต่เสียงเห็นชอบต้องมีมากกว่าช่องที่กา ‘โหวตโน’ โดยไม่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง

ส่วน ‘ชั้นเดียว+ชั้นลอย’ เป็นสูตรที่รวมร่างของรัฐบาลและร่างฝ่ายค้านเข้าด้วยกัน คือ ใช้เสียงผู้มาใช้สิทธิปกติ แต่เสียงเห็นชอบต้อง ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ ของผู้มาใช้สิทธิและต้องมากกว่าช่องที่กา ‘โหวตโน’

ทางที่สาม หากจะต้องการรอมชอม ต้องผสมสูตรใหม่ คือ ใช้เสียงข้างมากแบบ ‘ชั้นครึ่ง’ ซึ่งตรงกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เคยเสนอไว้ นั่นคือ ให้มีผู้มาใช้สิทธิ ‘เกินครึ่ง’ ของผู้มีสิทธิออกเสียง แต่ให้เสียงเห็นชอบเป็นเสียงข้างมากโดยไม่ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

ส่วนจะให้คงห้องใต้ดินหรือชั้นลอย ที่ต้องมีเสียงมากกว่าโหวตโนอีกหรือไม่ ก็ว่ากันตามสะดวก

ทางที่สี่ หากตั้งกรรมาธิการร่วมสองสภาแล้ว ยังหาทางออกร่วมกันไม่ได้ และถูกสภาใดสภาหนึ่งคว่ำ หากสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่างดังกล่าวกลับมายืนยันเพื่อประกาศใช้ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ไม่ต้องให้ผ่านวุฒิสภาอีก ก็ต้องรอให้พ้นเวลา 180 วันไปก่อน 

แต่ก็เป็นวิธีที่พรรคเพื่อไทย ต้องไป ‘ตายเอาดาบหน้า’ เหมือนกัน เพราะต่อให้ลากกฎหมายประชามติผ่านไปได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งรายมาตราและยกร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

เพราะพรรคภูมิใจไทย ที่คุมสภาสีน้ำเงินอยู่ คงไม่**‘ประเคน’**เสียงสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ยกมือให้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อไปจัดตั้ง ส.ส.ร.หรือการแก้ไขรายมาตราอื่น ๆ ให้ตั้งแต่วาระแรก

ทั้งหมดที่ว่ามาคือ 4 ฉากทัศน์ ของปัญหาการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีเกมใหญ่ของการเมืองซ่อนอยู่ เพราะนาทีนี้ ‘สีน้ำเงิน’ ที่คุมสภาสูงอยู่ ไม่ได้ ‘ขี่คอ’ สีแดงพรรคเดียว แต่ขี่ทุกสี

แถมยังคิดการใหญ่จะขึ้นเป็นผู้นำสายอนุรักษ์คนใหม่ตัวจริงเสียงจริงเสียเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์