ทันทีที่ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เสียชีวิตลงระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ท่ามกลางข้อสงสัยสาเหตุการเสียชีวิต ที่ยังรอผลการพิสูจน์จากทางนิติเวช
แต่อีกด้านความตายของบุ้ง ได้ปลุกสังคมโดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ลุกขึ้นมาให้ความสนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทางคดีอีกครั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทย หนีไม่พ้นที่ต้อง ‘ตกเป็นจำเลย’ เพราะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับความผิดมาตรา 112 ไว้ในหลายโอกาส
ล่าสุดในโลกโซเชียล ได้รวบรวมคำพูดแกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร และ ภูมิธรรม เวชยชัย มาทวนความจำและทวงถามหาคำตอบกันอีกครั้ง
‘แน่นอนเราไม่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราต้องมาคุยกันในสภา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะขอความเมตตาต่อศาล ว่ามีน้อง ๆ และผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายคนที่ติดอยู่ในนั้น ขอให้มีการปล่อยตัว และต้องมีการแก้ไขระเบียบ ต้องกำหนดว่าใครเป็นคนฟ้อง อัตราโทษเราไม่สนับสนุนเอามาใช้เป็นเกมการเมือง เราต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขรัฐ แต่ไม่เอามาใช้เป็นเกมการเมือง ต้องฟังเสียงประชาชน’
ข้อความข้างต้น ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการหนึ่งไว้ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ขณะที่ในรายการเดียวกัน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ในฐานะแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ได้ให้คำตอบในประเด็นเดียวกันแบบกว้าง ๆ ไว้เช่นกันว่า
‘ถ้าเราเป็นรัฐบาลก็ต้องดูการประกันตัว เพื่อต่อสู้ได้อย่างเป็นธรรม แต่คู่ขนานกันไป คนรุ่นใหม่กังวลมาก แต่พรรคเพื่อไทยเน้นการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีกินดี การสมัครใจเป็นทหาร การสมรสเท่าเทียม การทำงานกับความสามารถ ถ้าเราดูแลปัญหานี้ได้ แต่ปัญหามาตรา 112 อาจถูกลดทอน แต่พวกเขาไม่สบายใจก็ต้องมีเปิดพื้นที่รับฟัง’
หรือแม้แต่ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ที่ขณะนั้นมีตำแหน่งเลขานุการผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการดำเนินคดีและสิทธิการประกันตัว ก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่า
‘นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีความทางการเมืองจากเหตุความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่างต้องได้รับการประกันตัวและได้รับการพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม’
รอยเท้าบนโลกโซเชียลเหล่านี้ ถูกนำมาพูดถึงในวันนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างถูกดำเนินคดีต้องเสียชีวิตลง ในวันที่พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ทำหน้าที่บริหารประเทศมาแล้วร่วม 9 เดือน
ขณะที่ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’สภาผู้แทนราษฎร ยังคงย้ำจุดยืนของพรรคเรื่องการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี โดยเฉพาะที่เป็นเยาวชนว่า
‘ข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเยาวชนที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่เรียกร้องกันมาเป็นระยะ ๆ เหมือนเป็นเรื่องวัวพันหลัก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งพรรคเพื่อไทย เคยขอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัว
โดยยืนยันหลักการว่า การให้ประกันต้องเป็นหลักการ ไม่ให้ประกันเป็นข้อยกเว้น มีได้เฉพาะกรณีผู้ต้องหาจะหลบหนีเท่านั้น
ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักว่าบุคคลทุกคนบริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่ก็น่าเสียใจว่าทำไม่สำเร็จ ซึ่งทุกวันนี้เรายังคงยืนยันในแนวคิดนี้ และยืนยันว่าควรต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้ป.วิอาญาเรื่องสิทธิในการประกันตัว’
วันนี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล นั่งหัวโต๊ะประชุมเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่อยู่ในช่วงขยายเวลาศึกษาออกไปอีก 60 วัน โดยได้ข้อสรุปเรื่องฐานความผิด 25 คดี และกรอบเวลาที่ให้เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2548 ถึงปัจจุบัน
แต่ยังมีปัญหาเรื่องความผิดคดีมาตรา 112 จะนำมารวมอยู่ในนิยามของคำว่า ‘แรงจูงใจทางการเมือง’ด้วยหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมคงได้ข้อสรุปเรื่อง คณะกรรมการวินิจฉัยความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม ที่เบื้องต้นจะมาจากตัวแทนฝ่ายตุลาการ อัยการ และตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ
เมื่อได้ข้อสรุปในเรื่องหลัก ๆ เหล่านี้แล้ว ทุกอย่างน่าจะจบและสรุปผลศึกษาเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันช่วงเปิดประชุมสภาสมัยทั่วไปปีที่ 2/1 ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปสู่การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
วันนี้ยังไม่สายหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม รวมทั้งอุดช่องโหว่ช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมหลังการตายของบุ้ง ไม่ว่าจะใช่ต้นทางของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม
การเร่งผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมในจังหวะเวลาคาบเกี่ยวกันนี้ แม้จะถูกมองเป็นไฟลนก้นก็คงไม่มีใครว่า เพราะอย่างน้อยคงเกิดมรรคผล เป็นคุณกับสังคมในวันข้างหน้าได้บ้าง