เรื่องการยื่นถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ 40 สว.ที่เป็นคิวแทรกทางการเมืองขึ้นมาในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ผ่านมาถึงวันนี้หลังฝุ่นจางลง ยังมีอะไรที่ต้องตามลุ้นกันอีกบ้าง จากดาบสุดท้ายของสภาสูง
บ้างมองผ่านรายชื่อ 40 สว.ที่มาจาก ‘กลุ่มอนุรักษ์’ สายทหาร ข้าราชการเก่า มองดูกึ่ง ๆ เหมือนเป็นภาพการสนธิกำลังกันของสองลุง แต่หลังสแกนเข้าไปดูแล้ว เป็นปฏิบัติการของสว.ในปีกฝ่ายขวา ที่เกิดอารมณ์ ‘หมั่นไส้’ นายใหญ่เพื่อไทยล้วน ๆ เพราะนับวันมีแต่จะ ‘ย่ามใจ’ เพิ่มขึ้น
ขณะที่มีบางกลุ่ม มองเข้าไปยังการรับลูกแบบขมีขมันของ ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ประธานวุฒิสภา ที่ส่งผ่านเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันที ชนิดที่เป็นฟุตบอลก็ไม่ต้องพักลูกรอแต่งเหลี่ยมแต่งมุมให้เสียเวลา
อีกด้านมีสื่อบางสำนัก ตรวจสอบเข้าไปยังแหล่งข่าวในศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการยืนยันว่า เนื่องจากวันพุธที่ 22 พฤษภาคม ตรงกับวันหยุดราชการ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ขยับวันประชุมประจำสัปดาห์ไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคมแทน
ทำให้เกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างตามมาว่า งานนี้ ‘นายกฯ เศรษฐา’ และ ‘พิชิต ชื่นบาน’ รมต.ประจำสำนักนายกรรัฐมนตรี อยู่ในสถานการณ์ที่น่าระทึกยิ่ง เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา อาจมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามที่ผู้ร้องได้ยื่นคำขอไป
บางคนมโนไปไกลถึงขั้นงานนี้เศรษฐา มีสิทธิถูกสอยกลางอากาศ เพราะอยู่ระหว่างบินกลับจากเยือนยุโรปพอดี
ด้วยเหตุที่ว่า จึงทำให้ไปไล่ดูรายชื่อ ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เริ่มจากในบัญชีของพรรคเพื่อไทย ยังเหลือ แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รายชื่อข้างต้นเป็น‘ผู้มีสิทธิ’ ได้รับการเสนอชื่อต่อสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 158 และมาตรา 159 กรณีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่างลง เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มีสส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 หรือ 25 คนขึ้้นไป
แต่ถัดมาเริ่มมีเสียง ‘ทัดทาน’ จาก สว.บางราย ปฏิเสธไม่ได้เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ยื่นถอดถอน และไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลมุมมองส่วนตัวตามที่ปรากฎเป็นข่าวไป
ขณะที่นายกฯ เศรษฐา ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงราบเรียบมาจากเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ตั้งแต่วันแรกที่มีข่าว โดยไม่ได้แสดงถึงความรู้สึกกังวลใด ๆ ต่อการถูกยื่นถอดถอนในครั้งนี้
‘ผมคิดว่าท่านก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะถือเป็นหน้าที่ของสว.ส่วนตัวของผมก็ต้องพิสูจน์ ในเรื่องที่ผมทำไปว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย’
แถมมีบางประโยคถามกลับผู้สื่อข่าวว่า สว.ยังไม่หมดอายุใช่หรือไม่?!
ประเมินจากน้ำเสียงบวกเหตุผลข้างต้นแล้ว สำหรับนายกฯ เศรษฐา สถานการณ์น่าจะยังก้ำกึ่ง ไม่ถึงกับต้องระทึกเสียเลยทีเดียว โดยกูรูด้านกฎหมายมองว่า แม้ปมปัญหาคุณสมบัติรัฐมนตรีพิชิต อาจจะดูเป็นสีเทา ๆ ก็จริง
แต่การจะเอามาเป็นเหตุถอดถอนคนเสนอชื่อแต่งตั้งนั้น ‘น่าจะไปไม่ถึง’ และยิ่งนำมามัดรวมอยู่ในคำร้องเดียวกันด้วยโอกาสคำร้องจะถูกตีตกมีสูง แต่ถ้าแยกเป็นคนละคำร้องกัน งานนี้คนชื่อพิชิต อาจไม่ได้ชื่นบานเหมือนนามสกุลก็ได้
คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต รอดูชะตากรรมนายกฯ เศรษฐา จะถึงคราว ‘อวสานเซลส์แมน’ กันหนนี้หรือไม่ ให้ฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะรับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย รับไว้แล้วจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ถ้าไม่รับไว้ก็จบข่าว แต่ถ้ารับไว้ก็ต้องไปลุ้นเสียวกันต่อว่าจะอยู่หรือไปและไปแบบไหน..