อภิปรายยันสว่าง พูดให้ใครฟัง?!

20 มี.ค. 2568 - 03:22

  • ได้เวลามากไปบ้าง น้อยไปบ้าง

  • ต่างบอกถอยมาเยอะ ถอยให้อีกไม่ได้

  • ต่อรองกันตั้งแต่เนื้อหาในญัตติ ไปจนถึงกรอบเวลาการอภิปราย

politics-thailand-debate-until-dawn-SPACEBAR-Hero.jpg

นับตั้งแต่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมา เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีครั้งไหนมากเรื่องมากราวเหมือนครั้งนี้ ต่อรองกันตั้งแต่เนื้อหาในญัตติ ไปจนถึงกรอบเวลาการอภิปราย

ได้เวลามากไปบ้าง น้อยไปบ้าง ต่างบอกถอยมาเยอะ ถอยให้อีกไม่ได้แล้ว

ล่าสุดสรุปกันไว้หลวม ๆ ให้เวลาฝ่ายค้านอภิปราย 28 ชั่วโมง รัฐบาล 7 ชั่วโมง และประธานฯ อีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 37 ชั่วโมง แต่ต้องให้จบลงภายใน 2 วัน คือวันที่ 24-25 มีนาคม และลงมติในวันที่ 26 มีนาคม

โดยวันแรก ฝ่ายค้านจะใช้เวลา 17 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล ใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง และประธานฯ อีก 1 ชั่วโมง รวมเป็น 21 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะเริ่มอภิปรายในเวลา 08.00 น.และไปสิ้นสุดในเวลา 05.30 น.ของวันที่ 25 มีนาคม

ส่วนวันที่สอง เริ่มอภิปรายในเวลา 08.00 น.วันนี้ฝ่ายค้านจะใช้เวลา 11 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลเท่าเดิม 3 ชั่วโมงครึ่ง และประธานฯ 1 ชั่วโมง รวมเป็น 15 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งวันที่สองต้องปิดการประชุมในเวลา 23.30 น. เพื่อไปลงมติในวันรุ่งขึ้น

แต่มีเงื่อนไขหากครบสองวันแล้ว เวลาในโควตาของฝ่ายค้านยังเหลืออยู่ ก็ให้ใช้สิทธิอภิปรายต่อไปจนครบ และถ้าเลยเวลาเที่ยงคืนวันที่ 25 มีนาคม ก็ให้ไปลงมติกันในวันที่ 27 มีนาคมแทน

แม้จะเป็นข้อตกลงจากวงประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในวงประชุมด้วย ยังคาใจ ไม่ขอรับรู้ด้วย โดยเฉพาะ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล ที่ลุกออกจากที่ประชุมไปก่อนด้วยเหตุผลบางประการ ยังย้ำว่าต้องไม่เกินสองวัน

"ยืนยันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีเพียง 2 วันเท่านั้น"

ทางด้านฝ่ายค้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ก็รู้สึกงง ๆ กับเวลาอภิปรายที่ต้องลากยาวตั้งแต่ 8 โมงเช้า ไปจนถึงตี 5 ครึ่งของอีกวันหนึ่ง ซึ่งข้อดีคืออาจจะไม่ค่อยมีคนประท้วงในช่วงนั้น ทำให้สามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียคือประชาชนจะพลาดการรับชมสด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีใครอยู่หน้าทีวีอีกต่อไป

"อภิปรายถึงตีห้าครึ่ง ดิฉันยังรู้สึกเคืองคนที่ไปเจรจาอยู่เลยว่า ได้เวลาแบบนี้ได้อย่างไร"

ขณะที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน คนที่ไปตกลงเรื่องเวลามา บอกว่า "เราจะพยายามบริหารจัดการเวลา ไม่ให้ดึกมากเกินไป แต่ด้วยโควตาของเวลาก็อาจจะต้องเลิกดึกมากหน่อย"

ถ้าวางตารางเวลากันไว้แบบนี้ คงอภิปรายกันถึงสว่าง ไม่ใช่แค่ดึกมากหน่อยอย่างที่ประธานวิปฝ่ายค้านว่า แต่ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะการอภิปรายมาราธอน เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขนาดพระออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์แล้วยังไม่เลิกอภิปราย!!

คำถามคือ อภิปรายกันยันสว่างแบบนั้น ตกลงพูดให้ใครฟัง จะฟังกันเองเฉพาะคนที่ลุกขึ้นซักฟอก กับคนที่ถูกซักฟอกเท่านั้นหรือ ก็คงไม่ใช่ เพราะในกระบวนการประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่การเลือกผู้แทน(สส.) การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหาร และการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายค้าน

ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้และศึกษาเรียนรู้กระบวนการตรวจสอบนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคมนี้ ความสนใจคงไม่ได้อยู่แค่ 3 นักการเมือง "อิ๊งค์-เท้ง-ลุงป้อม" ที่ถูกจับตาจะเป็นตัวชูโรงในครั้งนี้ หรือเป็นเดิมพันศึกศักดิ์ศรีของใคร

หรือใครจะทวงบัญชีแค้นใครเท่านั้น

แต่ควรจัดสรรเวลาอภิปรายให้เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้การทำงานของผู้แทนที่ตัวเองเลือกด้วยว่าทำงานกันอย่างไร อย่างน้อยจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการหย่อนบัตรครั้งต่อไปได้

แต่ถ้าจะเอาอย่างที่ตกลงกันไว้ คงไปห้ามอะไรไม่ได้ ก็แค่อยากถามว่าจะพูดให้ ใครฟังเท่านั้นแหล่ะ!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์