อีกไม่ถึงสองสัปดาห์จะมีการหย่อนบัตรเลือกนายก อบจ.อุดรธานี ในวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567
หนนี้ กกต.ให้หย่อนบัตรในวันอาทิตย์ ยึดตามประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่แหกประเพณีเหมือนการเลือกตั้งทั่วประเทศที่กำหนดให้มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
แต่ถามไถ่ดูแล้ว วันเลือกตั้งที่ไปตรงกับวันเสาร์ ก็เพราะวันถัดไปที่เป็นวันอาทิตย์ ครบ 45 วันตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดพอดี ซึ่งหากให้เลือกในวันสุดท้ายอาจ**‘คาบเกี่ยว’**กับกรอบเวลาทางกฎหมาย จึงขยับมาเลือกในวันเสาร์แทน ส่วนถ้าจะให้ถอยไปวันอาทิตย์ก่อนหน้า ก็เกรงจะมีเวลาให้ผู้สมัครหาเสียงน้อยลง
ฟังมาก็มีเท่านี้เอง ไม่ได้มีความคิดอุตริอะไรทั้งนั้น เพียงแต่มันช่างบังเอิญอย่างร้ายกาจเท่านั้นเอง
ทีนี้สนามเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ที่จะมีขึ้นในอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่คอการเมืองให้ความสนใจกันมาก ก็เพราะเป็นการแข่งขันระหว่างคู่ชิงคนสำคัญ**‘คณิศร ขุริรัง’** พรรคประชาชน หมายเลข 1 กับ ‘ศราวุธ เพชรพนมพร’ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 2
ดูแล้วก็น่าจะเป็นการแข่งขันกันธรรมดาระหว่างสองพรรค ‘สีแดง-สีส้ม’ และสีส้มน่าจะเป็นรองอยู่หลายขุม เพราะแข่งในสนามที่เป็นเมืองหลวงเสื้อแดง แต่หลัง**‘ทักษิณ ชินวัตร’** จัดคิวลงไปช่วยผู้สมัครเพื่อไทยหาเสียงในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ชนิดปักหลักพักค้าง ตั้งเวทีปราศรัยกันในหลายจุด ทั้งพื้นที่รอบนอกและในเขตเมือง
โดยแต่ละเวทีที่ให้ทักษิณไปปราศรัยพบปะประชาชนนั้น ล้วนเป็น**‘จุดอ่อน’**ที่เพื่อไทยพ่ายเลือกตั้งสส.ในปี 2566 แม้แต่ในเขตเมือง ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายกอบจ.เพื่อไทย ก็เสียทีนั่งสส.ให้กับคนของพรรคประชาชนไป ซึ่งเป็นสส.คนเดียวใน จ.อุดรธานี ของพรรคสีส้ม
เอาเป็นว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา จ.อุดรธานี **‘เมืองหลวงเสื้อแดง’**ถูกตีแตก จากจำนวน สส.ทั้งหมด 10 คน เพื่อไทยได้มา 7 ประชาชน 1 และไทยสร้างไทย 2
เพราะฉนั้น การไปหาเสียงช่วยผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่อุดรธานี ของทักษิณครั้งนี้ จึงมี ‘เดิมพันสูง’ มากกว่าที่บอกไว้ เป็นการไปเยี่ยมประชาชนที่ไม่เคยลืมกันตลอด 17 ปีที่ผ่านมา
เพราะนาทีนี้ พรรคเพื่อไทยและทักษิณ คงตระหนักเป็นอย่างดีว่า หลังเลือกตั้งที่ได้สส.อุดรธานี 7 ที่นั่ง ยิ่งตอนหลังฉีกขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรค 2 ลุง และถูกตราหน้าว่า ‘ตระบัดสัตย์’ จนทำให้มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไหลไปอยู่กับพรรคสีส้มนั้น
ไม่รู้ว่ามวลชนคนเสื้อแดงอุดรธานีในพ.ศ.นี้ จะยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคเพื่อไทยอีกกี่มากน้อย จึงไม่แปลกที่ทักษิณต้องลงไปช่วยหาเสียงแบบปักหลักพักค้าง เพื่อดึงมวลชนคนเสื้อแดงรากหญ้าให้กลับมา
ขณะที่มวลชนเสื้อแดงในเขตเมืองที่มีการศึกษาและตื่นตัวทางการเมืองสูง ได้**‘หันหลัง’**ให้กับพรรคเพื่อไทยไปเป็นส่วนใหญ่ ดูจากผลการเลือกตั้ง สส.เขต 1 อุดรธานี ที่เพื่อไทยเสียที่นั่งให้กับพรรคสีส้ม
มาวันนี้ เพื่อไทยก็ยังอุตส่าห์ส่งผู้สมัครที่คนในเขตเมืองไม่เลือก มาลงสมัครนายกอบจ.อุดรธานี อีกคำรบ
ทันทีที่เพื่อไทยดึงทักษิณลงมาช่วยหาเสียง เพราะไม่มั่นใจในผลการเลือกตั้งจะคว้าชัยชนะได้หรือไม่ อีกฝั่งพรรคสีส้ม ก็ทุ่มสุดตัวเหมือนกัน ระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ลงไปช่วยผู้สมัครของตัวเองหาเสียงกันเต็มที่
แม้แต่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ไปปักหลักทำงานวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ยังต้องบินด่วนกลับมาช่วยหาเสียงในวันที่ 15-17 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน
ศึกชิงเก้าอี้นายกอบจ.อุดรธานี ระหว่างพรรคสีแดง-พรรคส้มหนนี้ จะแตกต่างจากสนามอื่นๆ ก็ตรงที่ผู้สมัครพรรคส้ม เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่กับการเมืองท้องถิ่นมานาน มีเครือข่ายของตัวเองในพื้นที่ทั้งกลุ่มทนายความและกลุ่มอสม.ที่มีกิจกรรมร่วมกัน
ไม่ใช่ผู้สมัครโนเนมที่คนไม่รู้จัก
นอกจากนั้น พรรคสีส้ม ยังมีฐานการเมืองท้องถิ่นอยู่ในอุดรธานีทุกระดับ แบ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัด(ส.อบจ.) 5 เขต มีนายกเทศมนตรี 3 แห่ง และนายกอบต.อีก 5 แห่ง กระจายไปในหลายอำเภอ โดยมีอบต.บางแห่งได้รับรางวัลผลงานดีเด่น เรื่องน้ำประปากินได้ เป็นประกาศนียบัตรการทำงานให้ด้วย
หรือแม้แต่ในการเลือกตั้งนายกอบจ.หนก่อน ผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า ที่พ่ายแพ้ให้ ‘วิเชียร ขาวขำ’ คนของพรรคเพื่อไทย ก็ได้มาเกือบสองแสนคะแนน จึงนับว่าไม่ธรรมดา เช่นเดียวกับการเลือกตั้งสส.ครั้งที่ผ่านมา ในบางเขตที่คนของพรรคสีส้มแพ้ให้กับเพื่อไทย ก็มีคะแนนห่างกันแค่ 1 พันเศษเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สนามเลือกตั้งนายกอบจ.อุดรธานี ‘แข่งขันกันอย่างหนัก’ แม้ผู้สมัครเพื่อไทยจะเป็นต่อ แต่ก็นอนตาไม่หลับ จึงต้องส่งทักษิณลงไปเรียกคะแนนเสียง ส่วนผู้สมัครพรรคสีส้ม แม้จะเป็นรอง แต่ก็มองเห็นโอกาสอยู่บ้าง จึงต้องสู้แบบจัดเต็ม
แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีความหมายทางการเมืองกับสองพรรคถี่ห่างแตกต่างกันไป โดยหากชัยชนะเป็นของเพื่อไทย ถือว่า‘เสมอตัว’ เพราะยังรักษาเก้าอี้นายก อบจ.อุดรธานีเอาไว้ได้ ศรัทธา บารมีทักษิณก็ยังอยู่ และยังรักษาภาพความเป็นเมืองหลวงเสื้อแดงเอาไว้ได้
แต่ถ้าแพ้ขึ้นมาสิ่งที่ว่าข้างต้นก็ถึงคราวพินาศ
ในขณะที่พรรคสีส้ม หากแพ้ก็คงยืนยันความเป็น**‘ขาลง’**และเก็บแรงสรุปบทเรียนไว้ไปต่อสู้ในสนามอื่นต่อไป แต่ถ้าชนะขึ้นมาคงไม่ใช่แค่ต้นไม้ที่กำลังเหี่ยวเฉาได้น้ำเท่านั้น
งานนี้คงต้องปิดเมืองอุดรฯ เลี้ยงฉลองใหญ่กัน 7 วัน 7 คืนกันเลยทีเดียว