การเมืองหลังสงกรานต์ จะเดินไปต่ออย่างไร??

16 เม.ย. 2568 - 03:20

  • การเมืองหลังสงกรานต์เริ่มมีความเคลื่อนไหว

  • เพื่อไทยกับภูมิใจไทย ก็ยังขบเหลี่ยม ช่วงชิงกันต่อไป

  • วัดใจเพื่อไทย กล้าแตกหักหรือเจาะภูมิใจไทยให้แตกได้หรือไม่

politics-thailand-government-after-songkran-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังสนุกสนานกับการสาดน้ำสงกรานต์มากันเต็มอิ่ม แบบลืมความทุกข์ยากกันไปชั่วขณะ ต่อจากนี้ก็กลับมาอยู่กับชีวิตจริงกันต่อ ทั้งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ปากท้อง สงครามการค้า และปัญหาการเมือง ที่คุกรุ่นรออยู่ข้างหน้า

ไม่ใช่ปัญหาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านหรือจากแรงต้านนอกสภา หากแต่เป็นปัญหาภายในของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะสองพรรคใหญ่ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ที่นับวันจะร้าวลึก รอการแตกหัก ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

วันก่อนที่ จ.เชียงใหม่ ทักษิณ ชินวัตร บิดานายกรัฐมนตรี แม้จะยืนยันรัฐบาลชุดนี้**‘จะอยู่ไปจนครบเทอม’** แต่ก็เป็นการอยู่แบบประคับประคอง เพราะต้องบริหารประเทศภายใต้ความขัดแย้ง และพูดถึงภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังมีปัญหากันว่า ‘ภูมิใจไทยก็คือภูมิใจไทย’

ซึ่งเป็นภาษาที่ลดความ ‘กร้าว’ ลงไปมาก ไม่มีอาการห้าวเป้ง เสือกไสไล่ส่งเหมือนพูดถึงหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคก่อนหน้านี้ จนต้องยอมมอบตัว สมาทาน ‘กาสิโน สรณัง คัจฉามิ’ เป็นที่พึ่ง หลังถูกทุนใหญ่ตัดสายสะดือทิ้ง

แต่สำหรับภูมิใจไทย ต่อให้ใช้กลยุทธ์ ‘ตีแตกจากภายใน’ หรือกล้าธรรมโมเดล ที่ใช้ได้ผลกับพรรคพลังประชารัฐมาแล้ว ก็คงไม่เสี่ยงใช้สูตรนี้ หากยังต้องการประคองรัฐบาลลูกสาวให้อยู่ต่อ เพราะแม้คุมเสียงข้างมากในสภาล่างได้ แต่คงอยู่ในสภาพปริ่มน้ำ

ไหนจะสภาสูงที่เต็มพรืดไปด้วยสีน้ำเงินเข้มอีกต่างหาก

ดังนั้น ทักษิณกับภูมิใจไทย ต้องอยู่ร่วมกันไปแบบยืดหยุ่น ผ่อนสั้นผ่อนยาวกันมากขึ้น อย่างที่เจ้าตัวพูดไว้ ‘เราสามารถบริหารความขัดแย้งได้’ ซึ่งแน่นอนต้องลดอัตตาความเป็น ‘นายเก่า’ ลงอีกมากในสถานการณ์ที่ไม่พร้อมแตกหัก

หลังสงกรานต์การเมืองจะไปอย่างไรต่อ คงเดาทางได้ไม่ยาก

แม้ทักษิณจะพูดคำโตไว้ ‘จะล้างสิ่งไม่ดีออกไป’ แต่เมื่อไม่พร้อมแตกหัก มันก็ทำได้แค่ปรับครม.เปลี่ยนตัวละคร เปลี่ยนตัวผู้เล่นใหม่ ไม่ถึงขั้นปรับเอาพรรคใดพรรคหนึ่งออก โดยเฉพาะภูมิใจไทย คงไปแตะอะไรไม่ได้หากไม่ยินยอม 

อย่างมากก็ริบคืนเก้าอี้พลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นลูกไก่ในกำมือ และจัดระเบียบภายในพรรคเพื่อไทยกันใหม่ก็เท่านั้น ซึ่งคงทำก่อนเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ หรือเร็วสุดก่อนเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร หรือกาสิโน  คงปล่อยให้ลืม ๆ กันไป ไม่ต่างจากเอ็มโอยู44 เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนิรโทษกรรม ก็ปล่อยให้ไหลไปตามกระแส และต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยังไงก็เสร็จไม่ทันรัฐบาลชุดนี้

อย่างดีสุดคงได้แค่ ส.ส.ร.ชุดใหม่ แต่ก็ไม่ง่ายหาก สว.สีน้ำเงินไม่เอาด้วย

ส่วนฝ่ายค้าน ไม่มีอะไรต้องกังวลสำหรับรัฐบาล เพราะ ‘มุกแป๊ก’ ไปตั้งแต่หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ปฏิบัติการณ์โรยเกลือต่ออย่างที่โม้ไว้ โดยเฉพาะประเด็นตั๋วพีเอ็น ที่เงื้อค้าง จนถูกมองว่ามีความแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

จากเหตุผลที่ว่ามา ทำให้การเมืองหลังสงกรานต์และครึ่งเทอมหลังของรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้านและการเมืองนอกสภา คงไปทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เว้นแต่จะมีปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองนั่นแหล่ะ

ดังนั้น ต่อให้อารมณ์คนที่ต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง ไม่เอา**‘นายกฯ ฝึกงาน’** จะพุ่งสูงขึ้นขนาดไหน แต่ถ้ารัฐบาลสทร.ไม่สะดุดขาตัวเอง การเปลี่ยนแปลงก็ยากจะเกิดขึ้นได้

ยิ่งนับวันคนในปีกอนุรักษ์นิยมเริ่มบ่น ๆ กันหนาหูมากขึ้น ใครเป็นคนผูกก็แก้เอาเอง ปลีกวิเวก ปล่อยวาง ถอยห่างออกไปทีละคนสองคนแล้ว ยิ่งเป็นการสืบชะตาเสริมแกร่งให้ทักษิณ ประคองรัฐนาวาลูกสาวให้อยู่กันแบบยาว ๆ ไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์