ผู้ช่วยหาเสียง เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณา

30 ม.ค. 2568 - 03:01

  • คุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียงเป็นอย่างไร

  • ควรมีการร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

  • ขอบเขตการทำหน้าที่กำหนดไว้กว้างหรือแคบ

politics-thailand-government-local-elections-thaksin-vote-SPACEBAR-Hero.jpg

อีกสองวันจะหย่อนบัตร**เลือกตั้งอบจ.**กันแล้วในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร แดงจะกินส้มหรือส้มจะสั่งสอนแดงซ้ำ หรือว่าน้ำเงินจะเป็นมวยซุ่มสร้างบทเรียนราคาแพงให้นายเก่าอีกก็ตาม

แต่จู่ ๆ เรื่องตำแหน่ง ผู้ช่วยหาเสียง ก็ถูกหยิบมาเป็นประเด็นถกเถียงกันบนหน้าสื่อจนได้ เมื่อมีการตั้งคำถามถึงขอบเขตการทำหน้าที่ของผู้ช่วยหาเสียง ได้กำหนดไว้กว้างหรือแคบเพียงใด

เพราะในคุณสมบัติของผู้ช่วยหาเสียง ที่กกต.กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่า "เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" นั้น หมายถึงเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเดียวกับผู้สมัครที่ไปช่วยหาเสียง หรือแค่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างเดียว ก็ตระเวนรับจ้างหาเสียงให้กับผู้สมัครได้ทุกเขตทั่วราชอาณาจักร

อย่างที่ผู้ช่วยหาเสียงกิตติมศักดิ์ของทั้งพรรคสีแดง สีส้ม ถือปฏิบัติกันอยู่เวลานี้

ทีนี้เปิดเข้าไปดูในระเบียบว่าด้วยหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กกต.ก็ให้นิยามเรื่องผู้ช่วยหาเสียงเอาไว้เหมือนกัน คือ 

"ผู้ช่วยหาเสียง" หมายความว่า "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง.." เพียงแต่ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่มีคำว่า "หรือพรรคการเมือง" เท่านั้นเอง

ถามไถ่เรื่องนี้เข้าไปใน กกต.ปรากฏว่า ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยหารือกัน ซึ่งอาจเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะระเบียบเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว หรืออาจจะกำลังตั้งหลักอยู่

แต่มีผู้รู้บางคนใน กกต.ให้ความเห็นไว้ว่า เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ด้วยเหมือนกัน และทางที่ดีควรมีการร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยก็จะเป็นการดี จะได้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานในทางปฏิบัติเอาไว้

โดยท่านผู้นี้ได้ยกเหตุผลประกอบการพิจารณาไว้ 2-3 ข้อ ได้แก่ 1.ในการเลือกตั้งสส.ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้น พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครสส.บัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งถือเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง รวมทั้ง ยังมีบัญชีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่างหาก

จึงทำให้ผู้ช่วยหาเสียของพรรคการเมือง สามารถตระเวนไปช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงได้ทั่วประเทศ

2.ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ระเบียบกำหนดให้ผู้สมัครเป็นผู้ว่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ที่ "เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" แต่ไม่มีรายละเอียดระบุไว้ว่า จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตหรือนอกเขตเลือกตั้งก็ได้

ดังนั้น จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณา รวมทั้ง การรับจ้างเป็นผู้ช่วยหาเสียงของแต่ละคน สามารถเดินสายรับงานได้ไม่จำกัด จะกี่งาน กี่คน กี่เขต วันหนึ่งจะเดินสายกี่เวทีก็ได้อย่างนั้นหรือไม่

3.สุดท้ายมีกรณีศึกษาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2566 ที่ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งตามทะเบียนราษฎร์ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยึดถือและปฏิบัติกันอย่างนี้มาเป็นเวลานาน

แต่มีผู้โต้แย้งไม่ให้นำต่างด้าวที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ มารวมคำนวณในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย เพราะสส.คือ ผู้แทนปวงชนชาวไทย ดังนั้น จะนำผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ มารวมคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งด้วยไม่ได้

แม้กกต.จะยืนยันว่าในอดีตก็ถือปฏิบัติกันมาแบบนี้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ให้นำผู้ไม่มีสัญชาติไทย มานับรวมในการแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย จึงทำให้ กกต.ต้องกลับไปแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่

เรื่องผู้ช่วยหาเสียง กับเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง อาจจะไม่เหมือนกันเสียเลยทีเดียว แต่เมื่อระเบียบกกต.มีความคลุมเครือ ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นผลหากจะมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดในเรื่องนี้

ปุจฉาเรื่องผู้ช่วยหาเสียง จึงต้องให้ถึงมือครูอังคณา ก็ด้วยเหตุนี้แหล่ะ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์