เมื่อวาน(12ม.ค.68) นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร สวมหมวกหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปตระเวนขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.นครพนม วันเดียว 3 เวทีรวด โปรยยาหอมแจกชาวบ้าน ‘พรรคเพื่อไทยมาทีไร ใครจนอยู่ต้องรวยแน่’
ฟังดูเหมือนโฆษณาประกันภัยช่วงโควิด-19 ‘เจอ แจก จบ’?!
งานนี้พรรคเพื่อไทยทุ่มสุดตัว ตั้งใจมาทวงเก้าอี้คืนจากคนของพรรคสีน้ำเงินให้ได้ และน่าจะเป็นปีแรก ๆ ที่ได้เห็นการเมืองระดับชาติลงมาเล่นในสนามท้องถิ่นแบบเต็มตัว
ในอดีตการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีการกระจายอำนาจให้ชุมชนได้จัดการตนเอง ตามศักยภาพและความจำเป็นก่อนหลังที่เป็นฉันทานุมัติของคนในชุมชน ผ่านตัวแทนของตนทั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่เลือกกันขึ้นมา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีด้วยกันหลายระดับโดยใหญ่สุดคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถัดมาเทศบาล ที่มี 3 ระดับ คือ เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และเล็กสุดคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ แม้จะเป็นการกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นดูแลตัวเอง ตามขนาดของรายได้ที่ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บในแต่ละปี และมีงบประมาณอุดหนุนจากส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงเงินที่รัฐกำหนดให้ท้องถิ่นเป็นผู้จ่ายแทน เช่น เบี้ยผู้พิการ เบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น
แต่ด้วยเหตุผลอย่างหลังนี้ จึงทำให้ท้องถิ่นไม่ได้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง แม้บางแห่งจะมีรายได้สูงสามารถดูแลตัวเองได้ก็ตาม เมื่อยังมีงบประมาณที่มาจากส่วนกลางอยู่ จึงทำให้ความเป็นอิสระของท้องถิ่น ยังเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย
เอาเป็นว่า หากมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทย ถือเป็นผู้บังคับบัญชาของท้องถิ่น ที่สามารถสั่งปลด สั่งพักงานได้ โดยผ่านการเสนอมาตามลำดับชั้น ตั้งแต่ผู้ว่าฯ มาถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสิ้นสุดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ประชาชนเป็นคนเลือกผู้บริหารท้องถิ่น แต่มหาดไทยมีอำนาจปลด!!
ดูเป็นการใช้อำนาจที่แปร่ง ๆ อยู่ ที่ผ่านมาจึงมีความยายามจะปลดแอกท้องถิ่นจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระจริง ๆ แต่ตอนหลังผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ได้เป็นแค่เครือข่ายหรือคนของนักการเมืองระดับชาติเท่านั้น แต่เป็นคนของพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร เพื่อเข้าไปบริหารท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดจากการเลือกตั้งนายก อบจ.หนนี้
แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครในนามพรรคเข้าไปบริหารท้องถิ่นได้ และนักการเมืองเองก็ไม่ได้ติดใจ โดยดูจากความเห็นของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองการเลือกตั้งอบจ.ไว้ว่า
"มีความสำคัญกับการเมืองใหญ่ เพราะการเลือกนายก อบจ. คือการชิงธงการเมืองใหญ่ในอนาคต ใครได้นายก อบจ. มาครอบครองก็จะมีผลต่อการได้อำนาจ และเงินมาช่วยสนับสนุนการเมืองใหญ่"
อันเป็นการมองลอดแว่นของนักการเมือง ที่พุ่งเป้าไปที่การได้เปรียบเสียเปรียบของการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคตล้วน ๆ แต่ไม่ได้ลงลึกไปถึงการกระจายอำนาจ และการแบ่งแยกกันระหว่างการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่น
เหมือนได้ก้าวข้ามเรื่องความเป็นอิสระของท้องถิ่นไปแล้ว ให้สามารถเป็นเนื้อเดียวหรืออยู่ภายใต้อาณัติของการเมืองระดับชาติได้ แสดงว่าต่อจากนี้ก็จะไม่มีคำว่ากำแพงกั้น ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติอีกต่อไป
ส่วนคำว่า ‘อิสระ’ จะยังมีเหลืออยู่อีกหรือไม่ หรือลำพังแอกของมหาดไทยที่มีอยู่เดิมอาจจะน้อยไป จึงต้องเพิ่มภาระของท้องถิ่นเข้าไปอีก และปรับนิยาม อปท.เสียใหม่ ให้เป็นเครือข่าย แขนขา ของการเมืองระดับชาติไปเสียเลย
วันก่อนได้คุยกับ รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า การที่นักการเมืองระดับชาติลงไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่นตอนนี้ ยังไม่ถึงขั้นทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นผิดฝาผิดตัวเสียทีเดียว เพราะการเมืองระดับชาติสามารถเข้าไปสนับสนุนได้
แต่ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกครอบงำโดยการเมืองระดับชาติ อาจารย์โอฬาร เป็นห่วงเรื่องการนำนโยบายของพรรคไปพูดหาเสียงบนเวทีโดยไม่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งนอกจากจะผิดฝาผิดตัวแล้ว ยังผิดกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ทำให้คนสำคัญผิดในการลงคะแนนอีกด้วย
บันทึกไว้ตรงนี้ เพื่อเกาะไปกับกระแสการเลือกตั้ง อบจ.ตกลงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและความเป็นอิสระ จะให้ท้องถิ่นเป็นอิสระแบบไหน?!