อสัปปายะสภาสถาน ของบ ‘ต่อเติม’ ไม่ใช่เพิ่มเติม

7 พ.ค. 2568 - 03:34

  • อยู่กันแบบสร้างไปอยู่ไปมาเป็นเวลา 5 ปี

  • ได้รับการจัดสรรงบเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2569 ไปเพียง 956 ล้านบาท

  • สร้างเสร็จและมีการตรวจรับแล้ว แต่เป็นการเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์

ในที่สุดสัปปายะสภาสถาน ที่เพิ่งจะสร้างเสร็จและตรวจรับงานไปได้ไม่ถึงปี แต่อยู่กันแบบสร้างไปอยู่ไปมาเป็นเวลา 5 ปี ก็ได้เวลาต่อเติมครั้งมโหฬารทั้งใต้ดินบนดิน ลำพังอาคารจอดรถก็ปาไปถึง 4 พันล้านบาท แพงกว่าอาคาร สตง.ที่เพิ่งถล่มไปเสียอีก

แต่โชคดีที่บางรายการไม่ได้รับอนุมัติ จึงได้รับการจัดสรรงบเบื้องต้นในปีงบประมาณ 2569 ไปเพียง 956 ล้านบาท ที่เหลือค่อยไปว่ากันในปีงบประมาณถัดไป

ทว่าลำพังที่ได้รับจัดสรรไป ก็ตกเป็นขี้ปากวิจารณ์กันให้แซ่ดทั้งในสภานอกสภา อาทิ งบพัฒนาระบบภาพยนตร์ 4D ห้องบรรยายใหญ่ B1-2 วงเงิน 180 ล้านบาท บวกค่าปรับปรุงไฟส่องสว่างของสองห้องนี้อีก 117 ล้านบาท เฉพาะสองรายการนี้ปาเข้าไปร่วม 300 ล้านบาท

ส่วนรายการอื่น ๆ ปรับปรุงศาลาแก้ว 2 หลัง 123 ล้านบาท ปรับปรุงห้องประชุมงบประมาณ 118 ล้านบาท ปรับปรุงพื้นที่ครัวอาคารรัฐสภา 117 ล้านบาท ติดตั้งภาพและเสียงประจำห้องจัดเลี้ยง ชั้น B2 วงเงิน 99 ล้านบาท จัดซื้อจอ LED Display 72 ล้านบาท

ก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์รัฐสภา (รวมค่าจ้างที่ปรึกษา) วงเงิน 44 ล้านบาท พัฒนาปรับปรุงพื้นที่ส่วนภูมิทัศน์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ วงเงิน 43 ล้านบาท และปรับปรุงห้องจัดเลี้ยง ชั้น 1 โซน C วงเงิน 43 ล้านบาท

เห็นแล้วลายหูลายตา กับงบปรับปรุงอาคารรัฐสภาที่เพิ่งผ่านการส่งมอบงานไปไม่นาน

ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ออกมาแจกแจงถึงการขอใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าวว่า ไม่ได้เป็นการต่อเติมอาคารรัฐสภา เพราะสร้างเสร็จและมีการตรวจรับแล้ว แต่เป็นการเติมสิ่งที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์

โดยยกตัวอย่าง ห้องประชุมชั้น B1-2 ซึ่งสร้างเสร็จแล้วสามารถบรรจุได้ 1,500 คน แต่ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ เวทีการประชุม จอ เครื่องเสียง ไฟก็ไม่สว่าง จึงเห็นว่าควรจะทำให้สมบูรณ์ เพื่อใช้ประโยชน์เต็มที่

"เราทำงานมา 5-6 ปี แต่ไม่มีใครกล้าไปทำ เพราะยังไม่ได้รับมอบ เราจึงต้องทำให้สมบูรณ์"

ประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ แจกแจงถึงขั้นตอนการขอใช้งบประมาณว่า ยังมีกระบวนการพิจารณาของสภา ทั้งในส่วนของกรรมาธิการงบประมาณและสส.ก็ต้องมีการตัดออกอีกรอบหนึ่ง ฉะนั้น สำหรับสภาไม่มีปัญหา และอยากให้ทุกฝ่ายได้ตรวจสอบให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

"เนื่องจากสภาเป็นสถาบันของชาติ ผมอยากให้เห็นว่าทำอะไรด้วยความโปร่งใส มีความถูกต้อง และขณะเดียวกันมีความสมบูรณ์ มีศักดิ์ศรี เมื่อประชาชนเข้ามา จะได้เห็นว่านี่คือสถาบันของเขา สภาของเขาดูแล้วสง่างาม และสภานี้ไม่ใช่ใช้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น ประชาชนก็มาใช้ได้ เมื่อเปิดสมัยประชุมจะเห็นว่ามีคนเข้ามาใช้บริการทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ จึงอยากทำให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเกิดความภาคภูมิใจในตัวของสถาบันนิติบัญญัติของชาติ ไม่ใช่ทำอะไรพอเสร็จ ๆ เท่านั้น”

ในเมื่อประธานฯ วันมูหะมัดนอร์ ท่านว่าอย่างนั้น ก็ย่อมเป็นหน้าที่่ของสส.ทั้งสภา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล จะเห็นสมควรกันอย่างไร หากยังติดใจก็สามารถใช้ช่องทางที่มีอยู่ปรับลดหรือตัดทิ้งไปทั้งยวงก็ยังได้

เพราะดูจากการแสดงความเห็นบนหน้าสื่อ สส.ในพรรคเพื่อไทยด้วยกันเอง ยังเห็นไม่เหมือนกัน บางคนสนับสนุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ และถือเป็นหน้าตาของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย

แต่บางคนไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเมืองยังอยู่ในภาวะที่ขัดสน จึงเห็นควรให้นำงบประมาณเท่าที่มีไปช่วยเหลือประเทศชาติในด้านอื่น ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนก่อน

ในเมื่อสส.พรรครัฐบาลมีความเห็นแบบนี้ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีประธานวิปรัฐบาล วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รวมอยู่ด้วย ก็ต้องรอไปวัดใจกันในช่วงการพิจารณาของสภา โดยเฉพาะในวาระ 2 ที่ต้องมีการปรับลดงบในชั้นกรรมาธิการและการยื่นคำขอแปรญัตติของสส.ในห้วงเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 143 ให้เวลาสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างฯ มาถึงสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องพิจารณา 3 วาระ คือ วาระแรก การรับหลักการ วาระสอง การแปรญัตติ และวาระสาม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

ดังนั้น สส.คนไหนที่ไม่เห็นด้วยกับการขอรับการจัดสรรงบประมาณของรัฐสภา ก็ควรจะแสดงออกตั้งแต่วาระแรก คืออภิปรายคัดค้านการจัดงบดังกล่าว พร้อมแสดงจุดยืนที่จะไปสงวนคำแปรตัดทิ้งหรือปรับลดงบในวาระสองต่อไป

ส่วนจะเอาไปเพิ่มไว้ที่ตรงไหน ก็ว่ากันไปตามที่เห็นสมควร

เพราะงบประมาณประจำปี 2569 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท เป็นกรอบที่ได้รับอนุมัติมาแล้ว เมื่อเห็นว่าหน่วยที่ขอมาไม่สมควรได้รับ ก็นำไปจัดสรรให้กับส่วนอื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้มากกว่าแทน

รอดูปลายเดือนนี้สส.ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับงบต่อเติม ไม่ใช่งบเพิ่มเติมของสภา จะให้เหตุผลในการอภิปรายอย่างไร ในท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในขั้นโคม่า

สภาจะสัปปายะหรืออสัปปายะก็วัดกันที่ตรงนี้แหล่ะ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์