ในอดีตการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือการซักฟอกของฝ่ายค้าน ถูกมองเป็นเรื่องเทศกาล ที่พอถึงเวลาเป็นต้องยื่น มีไม่มีประเด็นก็ต้องยื่นไว้ก่อน เพราะมุ่งหวังผลทางการเมืองเป็นหลัก
บางครั้งใช้แค่กระดาษแผ่นเดียว ก็อภิปรายเป็นคุ้งเป็นแคว หรืออภิปรายกันยันสว่าง ขนาดพระออกบิณฑบาตแล้วยังไม่เลิกก็มี ในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์ ผูกขาดเป็นฝ่ายค้านมืออาชีพ
ต่างจากปัจจุบันที่มีพรรคประชาชน ประกาศตัวเป็น ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ ซึ่งไม่ได้เห็นบทบาทการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารถี่ยิบเหมือนในอดีต โดยเฉพาะสภาชุดนี้ ที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผ่านมาถึงปีที่ 2/2 เพิ่งจะได้เห็นฝ่ายค้านเชิงรุกขยับยื่นซักฟอกรัฐบาลเอาในตอนนี้
เสียสิทธิ์ไปฟรี ๆ หนึ่งปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อภิปรายได้ปีละครั้ง
แต่ฟังจากการแถลงของ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน ในวันอังคารที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ดูแล้วจะเป็นการอภิปรายแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ เสียมากกว่า ไม่ได้เล็งเป้าหวังผลเลิศที่ใดเป็นพิเศษ เพราะอภิปรายแบบปูพรมทุกพรรค
ไม่เลือกตีที่เป็นจุดอ่อนจริง ๆ หรือละเว้นบางพรรคไว้เป็นแนวร่วมมุมกลับบ้าง
เอาเป็นว่า ตรวจสอบกราวรูดทั้งรัฐบาล ตามสูตรผลักทุกพรรคไปเป็นศัตรูให้หมด ซึ่งการยื่นอภิปรายฯ แบบนี้ ต่อให้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคล ก็คงไม่ต่างอะไรกับไม่ไว้วางใจทั้งคณะนั่นแหล่ะ
เพราะคนในซีกรัฐบาลจะสามัคคีลุกขึ้นมาช่วยกันทั้งหมด ยกเว้นช่วงลงมติ ที่จะลงมติเฉพาะผู้ที่มีรายชื่อถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น
ทีนี้ถามว่าฝ่ายค้าน มีหมัดเด็ดอะไรไปน๊อครัฐบาลได้บ้าง ปกรณ์วุฒิ ตอบแบบกว้าง ๆ ว่า มีหลายเรื่องทั้งระดับนโยบายหรือการบริหารราชการที่ล้มเหลว รวมไปถึงการทุจริตคอรัปชั่น
"คิดว่าหลายเรื่องเคยรับฟังและเห็นจากข่าวว่าพรรคประชาชนได้ตรวจสอบมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอื้อกลุ่มทุนผูกขาด การเอื้อตัวบุคคลบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เรื่องนโยบายที่ล้มเหลวเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งทุกเรื่อง เราก็ตรวจสอบต่อเนื่องตลอดเวลาให้ได้เห็นอยู่แล้ว แต่อาจจะมีบางเรื่องที่ยังไม่เคยพูดและมีข้อมูลที่ได้มาจากทางหลังบ้านที่จะเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรอบนี้"
แต่เพื่อไม่ให้ดูจืดชืดและเสียราคาพรรคสีส้ม ที่มีเกียรติภูมิปูมหลังมาตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนมาถึงพรรคประชาชน โดยเฉพาะเจ้าตัวปกรณ์วุฒิเอง ที่ผ่านศึกซักฟอกรัฐบาลมาถึง 4 ครั้ง จึงฉายหนังตัวอย่างให้ฟังพอเป็นกระษัยว่า
"มีเซอร์ไพรส์บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ ยังไม่เคยมีใครรับรู้มาก่อน ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงเช็คความถูกต้องของข้อมูล ถ้าเป็นเรื่องจริงและมั่นใจว่าเป็นข้อมูลจริง ก็จะได้เห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ"
อดใจไว้รอดูของจริงกันเร็วสุดในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกินกลางเดือนมีนาคม ปกรณ์วุฒิว่าไว้อย่างนั้น แต่ดูจากการจัดวางยุทธศาสตร์ และแนวรบของฝ่ายค้านเที่ยวนี้ รวมทั้ง ประเมินจากกำลังไพร่พลที่เหลืออยู่แล้ว
น่าจะไม่อยู่ในขั้นพร้อมรบสักเท่าไหร่?!
ลองไล่ชื่อดูตั้งแต่ "แม่ทัพเท้ง" ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ศิริกัญญา ตันสกุล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พริษฐ์ วัชรสินธุ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ฯลฯ ก็จะมีระดับขุนพลฝีปากเอกเหลืออยู่ไม่กี่คน
ส่วนแถวถัดไป ก็พอจะมีหน่วยก้านมาเสริมทัพ สะสมเข็มไมล์เก็บชั่วโมงบินเอาไว้ทำศึกในครั้งต่อ ๆ ไปได้อยู่บ้าง แต่ก็คงมีไม่มากนักในจำนวนที่เหลืออยู่ร้อยกว่าคนของพรรคส้ม
ยิ่งพรุ่งนี้ มะรืนนี้ หากโชคร้าย เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยเหมือนตอนประเดิมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก่อนหน้าอภิปรายเพียงไม่กี่วัน อาจยิ่งต้องเหนื่อยเพิ่มอีก
ก็หวังว่าคำร้องเอาผิดปมจริยธรรม 44 สส.พรรคส้มในมือ ป.ป.ช.คงไม่มีผลออกมาในช่วงนี้?!
เพราะหาก ป.ป.ช.ขืนชี้มูลตัดหน้าออกมาแบบจั๊บเบ๊ะกันพอดี ก็นับเป็นการบังเอิญอย่างร้ายกาจ ซึ่งจะทำให้พรรคส้มสูญเสียระดับขุนพลไปอีกหลายคน ถึงตอนนั้นการซักฟอกรัฐบาลของฝ่ายค้านเชิงรุก ที่นาทีนี้แทบขยับไม่ออกอยู่แล้ว
คงต้องปรับขบวนกันอีกขนานใหญ่ และน่าจะเป็นหนแรก ๆ ของสภาที่ฝ่ายค้านต้องลุกขึ้นซักฟอกรัฐบาลในสภาพแบบไฟต์บังคับ ไม่ว่าจะพร้อมไม่พร้อม ถึงเวลาก็ต้องขึ้นชกกันละคราวนี้?!