หย่อนบัตรทางไปรษณีย์ ทางเลือกใหม่ประชามติแก้รธน.

24 ต.ค. 2567 - 03:00

  • การแก้กฎหมายประชามติไม่ทันการประชุมสภาสมัยนี้

  • ส่งผลให้ลงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นปีหน้าทำไม่ได้

  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องรอต่อไปยาว ๆ

politics-thailand-law-postal-service-referendum-constitution-SPACEBAR-Hero.jpg

ใครที่รอว่าจะได้เห็นการทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับอบจ.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ให้เลิกคิด เลิกหวังกันไปได้เลย

เพราะการแก้ไขกฎหมายประชามติ ‘กุญแจดอกแรก’ ไขไปสู่การออกเสียงประชามติ เสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้แน่ เพราะจะรูดม่านปิดฉากลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้แล้ว

เมื่อแก้กฎหมายไม่ทัน ไทม์ไลน์ต่างๆ ที่วางไว้เดิมก็พลอยสะดุดไปด้วย

‘นิกร จำนง’ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมฯ จากสภาผู้แทนราษฎร ที่ขลุกอยู่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาตั้งแต่เริ่มเป็นคณะทำงานศึกษาในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มุ่งมั่นมาตลอดที่จะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะติดขัดปัญหาอยู่หลายครั้ง ก็ยังเชื่อเมื่อเวลายังมี ก็ยังมีความหวัง

แต่มาถึงวันนี้ นิกร ‘ถอดใจ’ หมดหวังจะได้เห็นการทำประชามติในห้วงเวลาเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าไปแล้ว เนื่องจากวุฒิสภา เพิ่งส่งรายชื่อกรรมาธิการร่วมฯ มาถึงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

กว่ากมธ.ร่วมสองสภา จะนัดประชุมครั้งแรกได้ **‘เร็ว’**สุดคงเป็นวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม เพราะต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 3 วัน และต่อให้ทำทุกอย่างม้วนเดียวจบในวันเดียว ทั้งเลือกประธานฯ รวมทั้ง ตำแหน่งต่าง ๆ และพิจารณาเนื้อหากันในวันนั้น เพราะมีเพียงมาตราเดียวที่แก้ไข

ว่ากันแบบจุลกฐินการเมืองให้เสร็จในวันเดียวเลยก็ตาม

แต่หลังพิจารณาจบแล้ว ยังต้องไปจัดทำรายงานในวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 29 ตุลาคม เพื่อนำเสนอแต่ละสภาต่อไป ซึ่งแม้รายงานจะไปถึงแต่ละสภาทันวันพุธที่ 30 ตุลาคม ที่เป็น**‘วันสุดท้าย’**ของสมัยประชุมพอดี ก็ต้องรอบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมอีก

เอาเป็นว่า ต่อให้เร่งขนาดไหนการแก้ไขกฎหมายประชามติก็ไม่ทันสมัยประชุมนี้

ดังนั้น ต้องนำไปว่ากันในสมัยประชุมถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และกว่าจะให้แต่ละสภายืนยันเพื่อส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ ก็ต้องมีถึงปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเลยกรอบเวลาในกฎหมายไปแล้ว หากจะให้ทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อความในมาตรา 4 ของ **‘พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ’**ฉบับที่แก้ไขกำหนดกรอบเวลาไว้ ให้วันออกเสียงประชามติต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 

และในกรณีหากจะให้การออกเสียงประชามติทำไปพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ก็ต้อง‘ไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วัน’

ดูจากกรอบเวลาที่นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม และกว่าจะโปรดเกล้าฯ ลงมา ไม่ว่าจะยึดกรอบเวลาแรกหรือกรอบเวลาหลัง ก็ไม่ทันการเลือกตั้ง อบจ.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีหน้าอยู่ดี

นั่นเท่ากับปิดประตูตาย!!

การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะทำไปพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ คงทำไม่ได้แน่ ส่วนจะไปทำเอากันตอนไหน จะทำแบบเดี่ยว ๆ ยอมควักเงินสามพันกว่าล้านบาทเพื่อการนี้ และต้องควักเพิ่มสามพันกว่าล้านบาทอีกสองครั้ง รวมแล้วเป็นเงินหนึ่งหมื่นกว่าล้านบาท เพื่อแลกกับการได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ก็ลองไปตรองกันดู

แต่เห็นว่า มีคนไป‘ซุ่มออกแบบ’ไว้รอแล้ว โดยจะให้ลงประชามติทาง‘ไปรษณีย์’แทน ซึ่งในกฎหมายที่แก้ไขได้เขียนรองรับไว้ จะไม่ทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง เพราะใช้งบครั้งละพันกว่าล้านบาทเท่านั้น

ส่วนการเลือกตั้งแบบหย่อนบัตร ก็จัดคู่ขนานกันไป เพียงแต่ให้เป็นการลงคะแนนทางเลือก ที่อาจให้ไปใช้สิทธิที่ใดที่หนึ่ง เช่น ณ ที่ว่าการอำเภอ เป็นต้น 

คงต้องดิ้นรนหาทางออกกันไป แต่คำถามใหญ่คือ รัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝันถึงนั้น จะมีไฟเขียวให้ทำหรือเปล่า?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์