นโยบายเศรษฐกิจ ของพ่อนายกฯ

23 ส.ค. 2567 - 11:11

  • ประหนึ่งแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ นอกสภาฯ

  • เสมือนประธานที่ปรึกษา (เงา) ให้กับนายกรัฐมนตรี

  • เห็นเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน

politics-thaksin-shows-vision-economic-business-SPACEBAR-Hero.jpg

มาถึงนาทีนี้ คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่า **ใครคือผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาล ‘อิ๊งค์ 1’**ของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร หลังจากงานเปิดตัวของ ‘ซุปเปอร์แด๊ดดี้’ ทักษิณ ชินวัตร พ่อนายกฯ ที่สยามพารากอน ฮอลล์ เมื่อคืนวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา 

หากพิจารณาจากบริบทและองค์ประกอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยอาจจะต้องจารึกไว้ว่า ทั้งหมดแทบไม่ต่างอะไรกับ ‘การแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่’ นอกสภาฯ ผ่านปากของอดีตนายกฯ ทักษิณ ที่ถือสิทธิ์ในฐานะพ่อที่ครอบครอง นายกฯ อิ๊งค์ ไว้โดยสิ้นเชิง

ที่สำคัญยังเท่ากับเป็นการประกาศการกลับเข้ามามีอำนาจที่ได้รับการประทับตรายอมรับ และรับรองจากบรรดานักธุรกิจระดับ ‘บิ๊กเนม’ และนักการเมืองที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมที่มาร่วมงานกันแน่นขนัด แถมยังมีการถ่ายทอดสดผ่านดิจิทัลทีวีของสื่อใหญ่ค่ายบางนา ตลอดทั้งงาน 

เพราะอย่างนี้ สำหรับใครที่เพิ่งตื่นและพบกับความจริงตรงหน้าว่า ‘ประเทศไทย’กำลังกลับไปอยู่ในมือของ ‘ทักษิณ’ เหมือน 20 ปีที่แล้ว คงต้องทำใจกันหนักหน่อยแต่ก็ต้องยอมรับสภาพว่าจากกลไกลที่บิดเบี้ยวของระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ทุกอย่างก็นำพามาถึงจุดนี้ 

ในทางการเมือง นี่คือการประกาศชัยชนะของปฎิบัติการ ‘เช็คบิล’ กินรวบ เกือบทุกพรรคการเมืองให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจของทักษิณใหม่อีกครั้ง ยกเว้นพรรคประชาชนของพลพรรคสีส้ม โดยมีเดิมพันครั้งใหญ่ที่แพ้ไม่ได้ของอดีตนายกฯ ทักษิณผู้เป็นพ่อที่ต้องยอมทิ้งไพ่ใบสุดท้าย คือ ลูกสาวสุดรักให้มายืนแถวหน้าแทนตัวเอง  

หากตัด ‘อคติ’ ในใจออกไปก่อน ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด แต่สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ คือ ปัญหาที่ผ่านมาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Lost Decadeหรือทศวรรษที่หายไปยาวนานกว่า ‘สองทศวรรษ’ จนทำให้ GDP ของไทยโตต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัญหามาจากความสัมพันธ์ในเรื่องของอำนาจและความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ในบางช่วงเวลาเราได้คนที่มีอำนาจ แต่ขาดความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ และบางช่วงเวลาเราได้คนที่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจแต่ไม่มีอำนาจ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทยตกอยู่ในสภาพ ‘ตกหลุมอากาศ’ มาเป็นระยะ ๆ 

ครั้งนี้จึงอาจจะเป็นครั้งแรกที่ปัจจัยด้านการเมือง ทำให้ประเทศไทยจะมีผู้ที่มีทั้งอำนาจและเข้าใจเรื่องบริบทของเศรษฐกิจไทย มานั่งในตำแหน่งประธานที่ปรึกษา(เงา)ให้กับนายกรัฐมนตรี

สำหรับหลายคนอาจจะวิพากษ์ว่า สิ่งที่ ‘ซุปเปอร์แด๊ดดี้’ ทักษิณ แสดงวิสัยทัศน์ Vision for Thailand 2024 ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นโยบายและแผนงานต่าง ๆ ที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ทำให้เห็นถึงเป้าหมายและทิศทางของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนมากกว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาของ อดีตนายกฯ เศรษฐา ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ

อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังคงมีกรอบความคิดในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดเสรีในทุก ๆ ด้าน และเชื่อในการเรื่องของการเปิดกว้างของ ‘โอกาส’ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วยการเปิดเสรีในภาคบริการในหลาย ๆ ด้าน เห็นได้จากแนวคิดในเรื่องของการเปิดเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์ การนำธุรกิจสีเทาขึ้นบนดิน การส่งเสริมเรื่อง Soft Power การเปิดให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ตลอดจนการเปิดเสรีภาคการเงิน และตลาดทุน 

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะเร่งและรื้อฟื้น โครงการเมกะโปรเจ็คต์ หลาย ๆ โครงการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการถมทะเล โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการพัฒนาสนามบิน ไปจนถึง โครงการดาวเทียม หรือ การส่งเสริมเรื่องยานยนต์แห่งอนาคต และเรื่องของศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่จะต้องผลักดันโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่ต้องใช้เวลา จึงจำเป็นต้องผลักดันโครงการ Quick Win เพื่อเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง และดึงความเชื่อมั่นให้กลับมาให้เร็วที่สุด โดยเน้นในเรื่อง ‘ผลลัพธ์’ที่ย่อมสำคัญกว่า ‘วิธีการ’  

เพราะเหตุนี้ เขาจึงยอมที่จะปรับแผนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใหม่ โดยการแจกเงินหมื่นบาททันทีให้กับ กลุ่มเปราะบางและพิการ ที่มีราว 14-15 ล้านคน ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยอาศัยเงินงบประมาณกลางปี 2567 ที่มีอยู่ในมือราว 1.65 แสนล้านบาท

ในเวลาเดียวกัน ทักษิณ ยังพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กำลังเป็นปัญหาที่กัดกร่อนเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ และมีการวางแนวทางที่จะกำหนดนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่ให้กับลูกหนี้ทั้งรายย่อยและ SME โดยใช้กลไกของ AMC บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่จะทำหน้าที่ในการซื้อหนี้ออกมาจากสถาบันการเงินเพื่อมาบริหาร 

ในการส่งเสริมตลาดทุน เขาก็วางแนวทางที่จะใช้ กองทุนวายุภักษ์ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการช่วยพยุงตลาดหุ้น เพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมา นอกเหนือจากการเข้าไปสังคยานาเรื่องของธรรมาภิบาลในตลาดทุน

ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสายตาหลาย ๆ คน แต่หากสัมผัสจากบรรยากาศเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่าชื่อของอดีตนายกฯ ทักษิณ และวิสัยทัศน์ของเขายังมีมนต์ขลังมากพอที่จะจุดประกายความหวังให้กับบรรดาภาคธุรกิจได้มากทีเดียว

แต่เพราะความเป็น ‘ซุปเปอร์ แด๊ดดี้’ พ่อนายกฯ ที่มีทั้งคนรักคนเกลียดและยังคงมีศัตรูคู่แค้นอยู่รอบทิศ ก้าวย่างจากนี้ไปก็คงไม่ราบรื่นอย่างที่ตั้งใจไว้อย่างแน่นอน อีกไม่นานคงมีคำตอบ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์