เส้นทางบาปบริสุทธิ์ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ EP 1: เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปกับหยวนต้า

31 ก.ค. 2567 - 10:06

  • ย้อนรอยเส้นทางชีวิต สมโภชน์ อาหุนัย

  • ก้าวแรกของการเข้าสู่ธุรกิจการเงิน

  • การสร้าง บล.หยวนต้า ให้ขึ้นมาแถวหน้า สุดท้ายก็ต้องลาจาก

selling-ea-yuantasecurities-kimeng-SPACEBAR-Hero.jpg

นาทีนี้ หุ้นในกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ของ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความมืดมน ที่ดูราวจะ ‘มืดสนิท’ ไร้ทางออก  พร้อมกับชื่อเสียงเจ้าของที่กำลังจะดับสูญในวงการตลาดหุ้น รวมทั้งอาณาจักรของกลุ่ม EA อาจจะถึงคราวล่มสลาย

มองย้อนกลับไปดูเส้นทางการก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของความสำเร็จของสมโภชน์ จะพบเรื่องราวของการต่อสู้ในสมรภูมิธุรกิจและชีวิตส่วนตัวที่เต็มไปด้วยการหักเหลี่ยม เฉือนคมอย่างรุนแรงและมีสีสัน  หากนำไปทำ ‘ซีรีส์’ เชื่อแน่ว่า จะเร้าใจ น่าติดตาม ไม่แพ้ซีรี่ส์ว่าด้วยเกมธุรกิจ การแย่งชิงอำนาจของเกาหลีหลาย ๆ เรื่อง

‘หยวนต้า‘ บันไดขั้นแรกสู่ความสำเร็จ

                                         All things contrived are like

                                        dream, illusion, bubble, shadow,

                                         and as dewdrop or lightning.

                       They should be regarded as such.(The #Diamond_Sutra)

Blanca Huang ถ่ายทอดความรู้สึกลึกๆของเธอลงในงานเขียนบนเพจ The Growth Story of EA ที่เปิดเผยเรื่องราวความสำเร็จและรุ่งโรจน์ ตลอดจนประเด็นที่นำไปสู่ความเคลือบแคลงใจระหว่างสมโภชน์และเธอในการสร้างความมั่งคั่งผ่านตลาดทุนในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ของการก่อตั้ง บล.หยวนต้า ประเทศไทย

เธอยกข้อความใน ‘วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร’  ที่อยู่ในคัมภีร์พระสูตร(เพชร)ของศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เพื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในช่วงปี 2540 ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวความสำเร็จและล้มเหลวของสมโภชน์ โดยเล่าว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วราว ‘สายฟ้าฟาด’ แต่ทั้งหมดก็ไม่ต่างอะไรกับความฝันที่เต็มไปด้วยภาพลวงตา ฟูฟ่องราวฟองสบู่ และประกายแสงเงาที่เกิดขึ้นชั่วพริบตา ก่อนจะแตกสลายไปอย่างรวดเร็วราวน้ำค้างในยามเช้า  

ย้อนกลับไปในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ตอนนั้น สมโภชน์ ในวัยเพียง 30 ปี ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการตลาดทุน ‘พลิกวิกฤตเป็นโอกาส’ ด้วยการก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้กับคนในวงการโบรกเกอร์ และตลาดทุนอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

ก่อนหน้านั้น สมโภชน์ ไต่เต้าขึ้นมาจนเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ‘บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด’ โบรกเกอร์ในเครือธนาคารทหารไทย แต่หลังเกิดวิกฤต ‘ต้มยำกุ้งปี 2540’ ซึ่งสถาบันการเงินล้มกันระเนระนาด รวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ  ที่ถูก ‘เทคโอเวอร์’ โดย DBS Vickers Ballas ของสิงคโปร์ ซึ่งมีแผนที่จะรีดไขมัน ‘เลย์ออฟ’ เลิกจ้างพนักงานบางส่วน  

สมโภชน์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นไว้กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ โดยเล่าว่า ตอนนั้นเขาเครียดมาก และไปบ่นกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่สวนกลับมาว่า

‘เดี๋ยวเขาก็ต้องเอาโบรกเกอร์มาขายถูก ๆ ต่างชาติก็ต้องอยากได้ คุณรู้จัก ผู้บริหารต่างชาติเยอะแยะ ไปชวนเขามาลงทุนสิ’

ถึงแม้สมโภชน์จะคิดในใจในตอนนั้นว่า ‘จะบ้าหรือ’ แต่เมื่อคิดไปคิดมาก็อยากจะลองดูสักครั้ง จึงไปปรึกษา บลังก้า ฮวง ภรรยาชาวไต้หวันที่เพิ่งแต่งงานกันได้ไม่นาน ซึ่งมีความสนิทสนมกับ Victor Ma ลูกชายคนโตของประธานของ Yuanta Taiwan ที่ตอนนั้นเพิ่งเข้ามาถือหุ้นใน บงล.นวธนกิจอยู่ราว 10% ซึ่งหากไม่ถอนหุ้นออกไปก่อน ในอนาคตหุ้นที่ถืออยู่ก็อาจจะมีค่าไม่ต่างอะไรกับ ‘กระดาษชำระ’ เมื่อถูก DBS Vickers เข้าเทกโอเวอร์

หลังจากปรึกษาหารือกันทั้งคู่ก็บินไปไต้หวันทันที เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจกับ บล.หยวนต้า (ไต้หวัน) ซึ่งหยวนต้า มองเห็นโอกาส ตกลงให้เงินสองสามีภรรยามา 500 ล้านบาท ไปลงทุนซื้อใบอนุญาตของบริษัทหลักทรัพย์ ‘คาเธ่ย์ แคปปิตอล’ ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพื่อให้มีอำนาจควบคุมและดำเนินการได้เบ็ดเสร็จ

กลับมาถึงเมืองไทย สมโภชน์ เจรจาซื้อใบอนุญาตมาได้ในราคาเพียง 250 ล้านบาทเท่านั้น !!!

ด้วยคอนเนคชั่นของบลังก้า ฮวง ที่นำมาซึ่งเงินลงทุนก้อนใหญ่  ในวันที่ตลาดทุน ตลาดเงินประเทศไทย ยังอยู่ในบรรยากาศของความท้อแท้ สิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคต  สมโภชน์ กลับมาแจ้งเกิดใหม่ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า ประเทศไทย จำกัด ที่เขาปลุกปั้นให้กลายเป็นโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดอันดับ 1 

โดยมีกลยุทธ์สำคัญนอกเหนือจากการเปิดสงครามค่าคอมมิชชั่น 0% แล้ว ยังเขย่าวงการหุ้นครั้งใหญ่ โดยการเปิดเว็บไซต์สำนักข่าว อี-ไฟแนนซ์ และแพลตฟอร์มซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ จนเกิดความปั่นป่วนในวงการโบรกเกอร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

บลังก้า ฮวง เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อตั้งหยวนต้า ประเทศไทยไว้ว่า หลังจากหยวนต้า ไต้หวันรับข้อเสนอของสมโภชน์ในเดือนสิงหาคม 2541 สมโภชน์และเธอ พร้อมกับลูกน้องนำไข่ต้ม 100 ฟองไป ‘แก้บน’ กับพระแก้วมรกตในวันที่ 30 สิงหาคม และเริ่มดำเนินงานในวันรุ่งขึ้นคือ 1 กันยายน ปีเดียวกัน

สมโภชน์ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของหยวนต้า ประเทศไทย และ บลังก้า ฮวง เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายไอทีและบริหารงานทั่วไป โดยมี ‘เจติยา ทิพย์สุมาลัย’  เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ดูแลฝ่ายการเงินและชำระบัญชี ซึ่งต่อมาได้ลาออกไปด้วยเหตุผลลึก ๆ บางประการ 

อาจเพราะบุคลิกเฉพาะที่ สมโภชน์ เป็นคนทำอะไรจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จึงไม่น่าประหลาดใจที่ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 3 ปี จากปี 2541 ที่หยวนต้ามีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในอันดับ 14 ก็สามารถถีบตัวขึ้นมายืนอยู่ ‘เบอร์หนึ่ง’ ได้ในปี 2543 ทำให้เขาถูกจับตามองว่าเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่กำลังเข้ามาท้าทายบรรดาพี่ใหญ่ในวงการที่คร่ำหวอดมานับสิบ ๆ ปี

ในบันทึก The Growth Story of EA บลังก้า ฮวง เล่าว่าในช่วงต้นปี 2542 มีการย้ายสำนักงานใหญ่ของหยวนต้า ประเทศไทย มาที่ ตึก Mercury Tower ที่ถนนเพลินจิต พร้อมกับการย้าย “เซิร์ฟเวอร์” การซื้อขายมาอยู่ที่เดียวกัน ควบคู่ไปกับการพัฒนาแอปพลิเคชันการซื้อขายหุ้นขึ้นใหม่ เพื่อให้นักลงทุนสะดวกในการทำธุรกรรมซื้อขายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นในปีเดียวกัน  

หลังจากนั้นก็มีการเปิดสาขาในต่างจังหวัดหลายแห่ง และสามารถขยายมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบาย ‘คอมมิชชั่น 0%’ ที่สั่นสะเทือนวงการโบรกเกอร์อย่างรุนแรง และเริ่มถูก ‘เพ่งเล็ง’ เป็นพิเศษจากหน่วยงานกำกับอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับพฤติกรรมแนะนำการซื้อขายหุ้นที่ไปในทิศทางชี้นำผ่านมาร์เก็ตติ้ง และสำนักข่าวออนไลน์ในเครือ 

อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ทำให้ช่วงเวลาดี ๆ ของสมโภชน์ มีอายุสั้นเกินคาดมีอยู่ได้ไม่นาน เพียง 3 ปี ความร่วมมือระหว่างสมโภชน์และหยวนต้าไต้หวัน ก็เริ่มมีความขัดแย้งตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2543 และทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การยื่นใบลาออกของสมโภชน์ในเดือนมกราคม 2544

บลังก้า ฮวง เชื่อว่า สาเหตุมาจากการที่ หยวนต้า ไต้หวัน ตัดสินใจขายหยวนต้า ประเทศไทย เพื่อควบรวมกับ Kim Eng Singapore โดยบรรลุข้อตกลงในการควบรวมกิจการและเตรียมเปิดตัวเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2544 ซึ่งเกิดขึ้นใกล้เคียงกันกับเกิดมีข่าวด้านลบของหยวนต้าเรื่องการ‘ปั่น’ ราคาหุ้นของไทยธนาคาร และได้กลายเป็น Perfect Strom ที่สมบูรณ์แบบที่ทำให้สมโภชน์ต้องมีส่วนรับผิดชอบ และถูกไล่ออกในวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 

เธอเล่าว่า เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นราวกับฟ้าผ่า ที่นอกจากจะตกใจและค่อนข้างสับสน จนต้องพยายามค้นหาคำตอบจึงทำให้ทราบว่า 

ผู้บริหารของหยวนต้า ไต้หวัน ได้ค้นพบหลักฐานการกระทำบางอย่างที่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543 ถึงพฤษภาคม 2544

จากคำแนะนำของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ หยวนต้า ไต้หวัน บลังก้า ฮวง ตัดสินใจลาออกจากหยวนต้า ประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยให้ชีวิตแต่งงานของเธอยังไม่ต้องจบลงตั้งแต่ปี 2544 เพราะไม่อย่างนั้นในฐานะหัวหน้าแผนกไอที เธอจำเป็นจะต้องขุดหาหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหาปั่นราคาหุ้นของไทยธนาคาร ซึ่งต้องมีปัญหาตามมาในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่อย่างแน่นอน และเพราะเหตุนี้จึงทำให้ทั้งคู่ยังคง ‘ซื้อเวลา’ ในความสัมพันธ์และยังมีส่วนช่วยกันก่อตั้งอาณาจักรของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์หรือ EA  ในปี 2552

เหตุการณ์ในช่วงนี้ สมโภชน์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยความเจ็บแค้นว่า ในตอนนั้นเขาเพิ่งบริหารหยวนต้ามาได้เพียง 3 ปี แต่จำเป็นต้อง ‘อัปเปหิ’ ตัวเองออกมา ทำให้มีความรู้สึก ‘เฮิร์ท’ เหมือนคนอกหัก แถมยังโดนกล่าวโทษจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.กล่าวหาว่า บล.หยวนต้า สาขาหาดใหญ่ ปั่นหุ้น ไทยธนาคาร (BT)

เราไม่ได้ทำรู้อยู่แก่ใจ’

‘ผมทำงานตั้งแต่เช้าตรู่กลับบ้านเที่ยงคืนทุกวัน แต่ได้ผลลัพธ์แบบนี้มันไม่แฟร์!!! ในใจมีแต่คำว่า ‘กูผิดอะไรว่ะ’ วนเวียนอยู่ในหัวตลอด แต่ไม่เคยได้อธิบายให้สังคมรับรู้ รุ่งเช้าผมเดินไปขอลาออกเลย ออกไปเป็นนักลงทุนถือหุ้นบริษัทโน่นนี่ ได้ผลตอบแทนดีกว่าเยอะ’

ไม่ว่าเหตุการณ์เบื้องลึกที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร  แต่ในมุมมองของสมโภชน์ เขาคิดว่า ตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ และถูกมองจากผู้คนในวงการว่าเป็น ‘แกะดำ’ ที่ต้องกันออกไปจากวงการ

แต่มาถึงวันนี้ ดูเหมือนอดีตกำลังตามไล่ล่าสมโภชน์ อีกครั้ง จากความผิดคดีอาญาข้อหาหนักหน่วงไม่แพ้กัน ซึ่งอาจจะเดิมพันด้วยการต้องปิดฉากชีวิตที่รุ่งโรจน์เกือบ 30 ปีในตลาดหุ้นอย่างน่าเศร้าใจ... 

(โปรดติดตามตอนต่อไป- บันทึกลับ หยวนต้า-กิมเอ็ง)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์