เส้นทางบาปบริสุทธิ์ ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ EP 5 : แพ้ทั้งเกมการเงินและการเมือง

9 ส.ค. 2567 - 13:12

  • บทเรียนที่สมโภชน์ได้รับก็คือคอนเนคชั่นสำคัญที่สุด

  • EA จึงดึงทุกเครือข่ายมาร่วมกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์

  • สุดท้าย EA ก็พ่ายทั้งเกมการเงิน และเกมการเมือง

stock-ea-federation-industries-SPACEBAR-Hero.jpg

ในฐานะ ซีอีโอ และเจ้าของอาณาจักรบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ คงไม่อาจปฎิเสธความรับผิดชอบจากการ ‘เดินหมาก’ ที่ผิดพลาดหลายเรื่องในช่วงที่ผ่านมาจนพาตัวเองเดินเข้าไปสู่ ‘มุมอับ’ กำลังจะถูก _‘รุกฆาต’_และต้องเผชิญกับ ‘วิบากกรรม”’ที่หนักหนาสาหัสอีกครั้ง อาจถึงขั้นต้องพ่ายแพ้ทั้งกระดานโดยมีเดิมพันใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า!!!  

ตอนที่สมโภชน์หวนกลับมาสู่สังเวียนธุรกิจและตลาดหุ้นเพื่อสร้างอาณาจักร EAเขาเคยเล่าว่า เมื่อมองย้อนกลับไปในตอนนั้น ก็คงต้องโทษตัวเองที่อ่อนต่อโลกมากเกินไป เพราะตอนนั้นยังเป็นหนุ่มห้าวนักเรียนนอกที่มีความเชื่อว่าตลาดหุ้นที่ดีต้องเสรีและมีประสิทธิภาพชนิด ‘ใครเก่งใครอยู่’ จนทำให้โตเร็วเกินไปจนสร้างศัตรูไว้รอบตัว และสุดท้ายก็ก้าวพลาดโดนพิษการเมืองเล่นงานจนต้องยอมจำนนแบบหมดสภาพ

ในการกลับมาสร้างอาณาจักร EA พลังงานบริสุทธิ์ สมโภชน์ จึงเรียนรู้จากประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดในครั้งนั้นว่า หากจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในวงการธุรกิจ เขาจำเป็นต้องมีที่ยืนที่มั่นคงทั้งฐานทุนและการเมืองเพื่อให้มี ‘พลัง’ หรือ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่จะช่วยนำพาให้เขาสามารถเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ที่เขามองว่ามันคืออนาคต

เพราะเหตุนี้เขาจึงอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจผ่านเครือข่ายของ_‘เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น’_ ที่มี ‘บิ๊กป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นพี่ใหญ่และเป็นศูนย์กลางซึ่งกุมอำนาจยาวนานมาเกือบสองทศวรรษนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549  ในการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังลม จนทำให้กลุ่ม EA กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี

สมโภชน์ อาศัยคอนเนคชั่นทางการเมือง ดึงน้องชายของบิ๊กป้อม “_พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ _ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มานั่งเป็นประธาน EA อยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ได้ธุรกิจโรงไฟฟ้ามาอยู่ในมือกำลังการผลิตรวมกันสูงถึง 664 เมกกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 4 โครงการ 278 เมกกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังลมอีก 386 เมกกะวัตต์ 

ถึงแม้จะมีธุรกิจโรงไฟฟ้าอยู่ในมือหลายโรง แต่สมโภชน์ เข้าใจเป็นอย่างดีว่าอาณาจักรของ EA ไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โดยเป็นเสมือน ‘เสือนอนกิน’ ฟันกำไรจากค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มหรือ Adder หน่วยละ 8-10 บาท ไปได้เรื่อยๆ เพราะ ‘งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา’ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของแต่ละโรงต่างก็มีกรอบระยะเวลาที่จะได้ค่าAdder เพียง 8-10 ปีแรกของสัญญา หลังจากนั้นก็หมดแต้มต่อ

เพราะเหตุนี้เขาจึงต้องขยายอาณาจักรของ EAต่อยอดจาก ‘ต้นน้ำ’ คือธุรกิจโรงไฟฟ้าไปสู่ธุรกิจ ‘กลางน้ำ’ คือการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถเมล์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ไฟฟ้า ภายใต้บริษัทเน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX และต่อยอดลงไปลึกถึง ‘ปลายน้ำ’ โดยการเข้าไปลงทุนร่วมในการรับสัมปทานเดินรถเมล์โดยสารไฟฟ้ากับ ไทยสมายล์บัส 

ในเวลาเดียวกันสมโภชน์ก็เข้าใจดีถึงธรรมชาติของการเมืองแบบไทยๆว่า การอาศัยสายสัมพันธ์ทางการเมืองในการสร้างอาณาจักรทางธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง เมื่อ ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง’ พัดผ่านมาถึงในวันใดวันหนึ่ง 

เขาจึงเดินเกมอีกทางโดยพยายามที่จะสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับบิ๊กเนมในวงการธุรกิจ โดยเข้าไปมีบทบาทในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผ่านทาง ‘สุพันธ์ มงคลสุธี’ ที่ขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในช่วงปี 2561-2565 

สมโภชน์ ให้การยอมรับสุพันธ์อย่างมาก นอกจากจะดึงมานั่งเป็นกรรมการบริษัทพลังงานบริสุทธิ์แล้ว เขายังอาศัยคอนเนคชั่นของสุพันธ์ในการต่อสายสัมพันธ์ไปเป็นฐานทุนการเมืองให้กับพรรคไทยสร้างไทยของ _‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’_ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

แต่เป็นการแทงม้าผิดตัว ลงทุนผิดพลาด   เพราะพรรคไทยสร้างไทย ได้ สส” เขต มาแค่ 5 คน สส” บัญชีรายชื่อคนเดียว คือคุณหญิงหน่อย แม้ตอนแรกจะมีชื่อร่วมรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง  แต่สุดท้ายกลายเป็นฝ่ายค้านร่วมกัน 

สมโภชน์ มองเห็น ‘ขุมทรัพย์’ ที่จะมาจากการเข้าสู่ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิต เขาจึงขอแรงสนับสนุนจาก สุพันธ์ ในการเสนอตัวเข้าไปชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กับ_‘เกรียงไกร เธียรนุกูล’_ ประธานฯปัจจุบัน ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชนิดแหกธรรมเนียมปฎิบัติที่ปกติจะให้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯแต่ละคน สามารถเป็นได้ 2 สมัยติดต่อกัน เพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง 

กลุ่มของเกรียงไกรออกแรงต้านการเข้ามาของสมโภชน์ เพราะมองว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการจัดทำ _‘โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตฯ’_หรือ FTIX  ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่เขาผลักดันให้เกิดขึ้นในยุคของประธานฯสุพันธ์ โดยมีข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่ม EA ที่เข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์ม ทำให้การชิงชัยเป็นไปอย่างดุเดือด และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสมโภชน์แบบย่อยยับ

ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า การสร้างฐานทุนและการเมืองเพื่อสร้างอาณาจักร EA ของสมโภชน์ ต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินแล้ว สมโภชน์ที่เติบโตมาจากตลาดหุ้นจึงเลือกที่จะใช้วิธีการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดนหวนกลับไปซื้อ ‘บริษัทหลักทรัพย์เออีซี จำกัด (มหาชน)’ หรือ AEC และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ จำกัด (มหาชน)’ BYD ในปี 2564 เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการทำเงินจากตลาดหุ้น

เมื่อมี BYD สมโภชน์ก็กลายร่างเป็น ‘เสือติดปีก’ ใหม่อีกครั้ง เพราะเขาเข้าใจลึกซึ้งถึง ‘จริต’ ของนักลงทุน และเพราะความชำนาญในเรื่องของ _‘วิศวกรรมการเงิน’_เป็นอย่างดี BYD จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างภาพให้ EA กลายเป็น กลุ่มธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในการก้าวล้ำไปสู่โลกแห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า

หุ้นในกลุ่ม EA  ถูกนิยามว่าเป็น ‘หุ้นมหัศจรรย์แห่งอนาคต’ ที่จะเติบโตกลายเป็นหุ้น Super Stock ตัวหนึ่งในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้ราคาพุ่งทะยาน จนทำให้สมโภชน์กลายเป็นเศรษฐีหุ้นไทยในอันดับ 6 เมื่อปี 2565 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 1.37 แสนล้านบาท ในระยะเวลาไม่กี่ปี 

แต่จุดนี้เองที่สมโภชน์กลับพาตัวเองหลังเข้าไป ‘ติดกับดัก’ ความสำเร็จอีกครั้ง จนมองข้ามบทเรียนสำคัญของตลาดทุน เมื่อหุ้นในกลุ่ม EAจาก ‘หุ้นสายเติบโต’ หรือ Growth Stock ถูกแปลงร่างกลายเป็น ‘หุ้นสายเก็งกำไร’ เนื่องจาก สมโภชน์ ในฐานะเจ้าของและผู้บริหาร หลงลืมบทบาทหลักในการทำธุรกิจ กลับกระโจนลงไปเล่น ‘Money Game’ ในตลาดหุ้น ทำตัวเป็น ‘เจ้ามือ’ หรือจับมือกับ ‘เซียนหุ้นขาใหญ่’ เข้าไปเล่นหุ้นของตัวเอง

สูตรสำเร็จที่นำไปสู่ความล่มสลายของหุ้นเก็งกำไร มักจะเริ่มจากการสร้าง Storyหรือ นิทานขายฝันให้กับนักลงทุน โดยจะเริ่มจากการเปิดเผยถึงความสำเร็จในการดำเนินงาน และแนวโน้มการเติบโตของกิจการทั้งของเดิมและธุรกิจใหม่ ๆ ที่กำลังจะลงทุนไปซื้อหุ้นหรือกิจการบริษัทอื่น จนดูเป็นเจ้าแห่ง ‘โปรเจ็ก’ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะพบว่า แทบไม่มีกิจกรรมหรือบริษัทไหนที่ดีตามที่เคยคาดไว้เลย เพราะทั้งหมดเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อดันราคาหุ้นให้วิ่งขึ้นไป 

ที่สำคัญคือ มักจะมีการจับมือกับ ‘เซียนหุ้นรายใหญ่’ ให้เข้ามาซื้อและถือหุ้น ผ่านการเพิ่มทุนให้บุคคลอื่นแบบเฉพาะเจาะจง หรือ ‘Private Placement- PP’  ให้กับหุ้นส่วนทางกลยุทธ์หรือ Strategic Partner หรือนักลงทุนรายใหญ่ หรือ การออกตราสารอนุพันธ์เช่น ‘วอแร้นท์’ ให้ผู้ถือหุ้นจำนวนมาก เพื่อที่จะสร้างภาพให้นักลงทุนรายย่อยเชื่อว่าหุ้นของนั้น ‘ดีจริง’ จนพากันแห่เข้าไปลงทุน ผลักดันราคาหุ้นให้พุ่งขึ้นไปหลายเด้ง 

ในเวลาเดียวกัน เจ้าของและผู้บริหารที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ก็จะซื้อหุ้นของตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเงินที่ใช้ก็มาจากการกู้โดยเอาหุ้นตัวเองไปจำนำหรือวางเป็นหลักประกันในบัญชี ซื้อ-ขายหุ้น ช่วยดันราคาหรือเข้าไปร่วม ‘คอร์เนอร์หุ้น’ จนทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและซื้อตามจนราคาหุ้นถูกดันขึ้นไปสุดโต่งและสูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นมาก แต่ก็ทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกลายเป็นเศรษฐีหุ้นพันหรือหมื่นหรือแสนล้านในพริบตา

ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าของหุ้นก็มักจะระดมทุนอีกทางผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยการออกหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูง และนำเงินที่ได้มาไปซื้อหุ้นของตัวเองหรือบริษัทในกลุ่ม เพื่อดันราคาหุ้นในกลุ่มให้ขึ้นต่อไป 

หากถอดบทเรียนทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับหุ้นอภินิหารหลายๆรายที่ต้องล่มสลายลงไป เปรียบเทียบกับปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับหุ้นในกลุ่ม EA ของสมโภชน์ในเวลานี้ จะพบว่าตรงตามตำราทุกประการ 

เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อคอร์เนอร์ ‘แตก’ จากสาเหตุที่ถูกกองทุนต่างประเทศที่เห็นโอกาสทำกำไรจากการ ‘ชอร์ตเซล’ ทุบราคาหุ้นลง ก่อนที่ผู้บริหารและเจ้าของจะตั้งหลักทันจนถูก ‘Forced Sell’ บังคับขาย ‘หายนะ’ ก็มาเยือนเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้นในกลุ่ม EA ทั้งหุ้น EA NEX  และ BYD ที่ถูก ‘บังคับขาย’ จนราคาถล่มระเนระนาด และตกอยู่ในสภาพ ‘โคม่า’ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

สิ่งที่น่าเศร้าและเจ็บปวดไปกว่านั้นคือ การพังทลายของหุ้นในกลุ่ม EA ไม่เพียงจะทำให้ สมโภชน์ ต้องตกอยู่ในสภาพเจ็บปางตายอีกครั้ง แต่ยังฉุดลากบรรดานักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่พลัดหลงกลายเป็น ‘แมงเม่าบินเข้ากองไฟ’ ขาดทุนกันยับเยินจนสูญเสียความมั่นใจและตกอยู่ในอาการ _‘ซึมเศร้า’_ไปตาม ๆ กัน รวมทั้งบรรดาผู้ถือหุ้นกู้ที่ต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ 

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมโภชน์ในเวลานี้ ยังหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก เมื่อเขาถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ที่กล่าวโทษพร้อมพวกอีก 2 คน คือ อมร ทรัพย์ทวีกุล และ พรเลิศ เตชะรัตโนภาส ว่าร่วมกันกระทำการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์ และโปรแกรมซอฟต์แวร์ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีเอ โซล่า นครสวรรค์ อีเอ โซล่า ลำปาง โดยมีเงินทอนสูงถึง 3.46 พันล้านบาท ซึ่ง ก.ล.ต.ได้รับการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2559 จากคนใกล้ตัว คือ บลังก้า ฮวง ที่เป็นภรรยา 

มาถึงวันนี้ทั้ง ๆ ที่เคยมีบทเรียน แต่สุดท้ายก็ยังหลงเข้าไปติด ‘กับดักความสำเร็จ’อีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ฐานทุนของ สมโภชน์ กำลังพังทลายลง พร้อมๆกับฐานการเมืองที่เขาสร้างไว้ก็ถูกสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงซัดกระหน่ำ คงต้องจับตามองว่า เขาจะพาตัวเองให้รอดจาก ‘พายุ’ ลูกใหญ่ที่โหมกระหน่ำในคราวนี้ได้อย่างไร...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์