เย็นวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายนนี้ คงจะได้ทราบว่า หลังจาก นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน “นักกู้ผ้าขาวม้าพันคอ” นั่งปุจฉาวิสัชนานอกรอบกับ รมว.คลังพิชัย ชุณหวชิร ชนิดข้ามคืนในช่วงอภิปรายงบประมาณปี 2568 ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเห็นสภาพดัชนีหุ้นไทยทรุดฮวบลงไปต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด และสั่งการให้มีการเรียกประชุมบรรดาผู้บริหารของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว จะมีมาตรการอะไรออกมาที่จะมาช่วยปลุกตลาดหุ้นไทยให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้หรือไม่?
แต่ต้องบอกว่า หากไม่มีมาตรการพิเศษอะไรมากไปกว่าที่มีกระแสข่าวออกมา คงยากที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยปีนป่ายขึ้นมาจาก “หลุมดำ” และหันหัวกลับขึ้นมาหลังจากดำดิ่งลงไปเคลื่อนไหวอยู่แถวแนวรับที่ระดับ 1,300 จุดได้ง่าย ๆ
คาดว่ารัฐบาลคงจะหวังที่จะใช้อานิสงส์จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี2567 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์รอบใหม่ที่มีการแก้กฎหมายให้ต่างชาติถือครองอาคารชุดหรือคอนโดมีเนียมได้เพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 75% และการเช่าที่ดินที่ขยายจาก 50 ปี เป็น 99 ปี เป็นตัวกระตุ้นระหว่างที่รอความชัดเจนในเรื่องของโครงการดิจิตอลวอลเล็ตที่เป็นเรือธงหลักของรัฐบาล
ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการในส่วนของภาคตลาดทุนเองที่พยายามจะทำให้มีแรงซื้อกลับมาผ่านการรื้อฟื้น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นระยะยาวที่ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีอย่าง LTF หรือ กองทุน TESG ให้มีวงเงินสูงขึ้นและระยะเวลาลงทุนสั้นลงเพื่อหวังสร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดหุ้นให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด
แต่ทั้งหมดคงมีส่วนช่วยได้ไม่มากนัก เพราะหัวใจสำคัญที่เป็นปัญหาของตลาดหุ้นไทยในเวลานี้คือการกอบกู้ Trust & Confidence ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุดมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่เพียงล้มเหลวในการสร้างความเชื่อมั่นว่าการทำงานของรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ได้จริงตามที่วาดฝันเอาไว้
ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เรื้อรังมานาน คือการที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยยังสูญเสียศรัทธาต่อการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ กลต.ในการกำกับและควบคุมการซื้อขายที่ขาดประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นเพียง “มายาคติ” หรือไม่ แต่สิ่งที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่สัมผัสคือพวกเขากำลังตกเป็นเหยื่อของนักลงทุนต่างชาติ และขาใหญ่ในตลาดที่มีการทุบตลาดผ่านกลไกของ Program Trading และ Short Sell ที่ทำให้ต้องขาดทุนอย่างย่อยยับ แต่กลับถูกมองข้ามและไม่ได้รับการปกป้องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และ กลต.อย่างที่ควรจะเป็น
ในมุมมองของ Value Investor ตัวพ่ออย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อธิบายได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า "ตลาดหุ้นไทยพังด้วยสาเหตุอะไร?"
ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยไม่ได้ดำดิ่งตกลงจากระดับ 1,600 จุด ลงมาที่ระดับ 1,300 จุดชนิดฉับพลันทันที แต่ค่อย ๆ ไหลลงมาเรื่อย ๆ แบบซึมลึกลดลงช้า ๆ แบบ “ต้มกบ” ที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว จนในช่วงนี้นักลงทุนแทบทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น VI รายย่อยและรายใหญ่ระดับเซียนต่างก็เจ็บหนักกันถ้วนหน้าทุกคน บางคนถึงขั้นหายนะเพราะพอร์ตขาดทุน 50% หรือมากกว่า จนมาถึงจุดที่ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยแค่รอวันพินาศยิ่งไปกว่านี้ หากมีเหตุการณ์ร้ายแรงบางอย่างเช่นสงครามใหญ่เกิดขึ้น
สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนเจ็บหนักมากในรอบนี้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลา “เผาจริง” เกิดจากบรรดาหุ้นเก็งกำไร ที่มีเจ้าของและผู้บริหารของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง มีการสร้าง Story ที่วาดฝันเกินจริง และเข้ามาร่วม "เล่นหุ้น" โดยการสร้างราคาดันหุ้นของตัวเองร่วมกับ เจ้ามือที่เป็น "เซียนหุ้นรายใหญ่" ที่ดึงเข้ามาร่วม “มันนี่เกมส์” กันอย่างเพลิดเพลิน
การที่เจ้าของหรือผู้บริหารบริษัทมาเล่นหุ้นตัวเองเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก เพราะถ้าบริษัทตัวเองดีจริงเติบโตเร็วจริง อนาคตความมั่งคั่งของบริษัทก็ต้องสูงมากอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มการลงทุนให้กับบริษัทของตัวเอง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้บริหารได้_ไป "กู้เงิน"_ มาเพื่อดันราคาหุ้นของตัวเอง หรือ corner หุ้นของตนเองร่วมกับเจ้ามือกวาดซื้อหุ้นจนมีอำนาจในการควบคุมราคาหุ้น จนทำให้ผู้บริหารหรือเจ้าของกลายเป็นเศรษฐีหุ้นพันล้านหรือหมื่นล้านบาทในชั่วข้ามคืน
ความจริงสัญญาณอันตรายเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่กรณีของ หุ้น STARK ที่มีการตกแต่งบัญชีอย่างมโหฬาร และถูกตรวจพบจนน่าไปสู่หายนะรอบต้น ๆ ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีข่าวการตามล่าสุดขอบฟ้าตามจับกุมผู้บริหารตัวแสบ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” จากดูไบ กลับมาดำเนินคดีในไทยได้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนไปเป็นจำนวนมาก
แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า คือกองทุนต่างชาติที่ “ทุบหุ้น” คอร์เนอร์และขนเงินออกจากตลาดหุ้นไทยจำนวนหลายแสนล้านบาทไปลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงแทน เพราะ Fed ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่ารวดเร็วจากระดับ 0% ไปเป็น 5.5% ในเวลาแค่ปีเศษ โดยการถล่มขาย “ชอร์ตเซล” หุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
เมื่อหุ้นนั้น Corner แตก ก่อนที่ผู้บริหารและเจ้าของจะ "ออกของ" ทันและถูก “ฟอร์ชเซล” หายนะจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่เจ้าของและผู้บริหารเท่านั้น นักลงทุนทุกคนที่แห่เข้าร่วมลงทุนหรือเล่นเก็งกำไรในหุ้นตัวนี้ ล้วนเจ็บหนักกันถ้วนหน้า พอร์ตเสียหายหนักอย่าคาดไม่ถึง
เหตุการณ์ในลักษณะคล้าย ๆ กันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่าปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสเรียกร้องของนักลงทุนที่ต้องการให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ กลต.หามาตรการที่จะมาแก้ไขในเรื่องนี้ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความล่าช้า ยิ่งในช่วงหลัง ๆ กองทุนต่างชาติมีการขาย “ชอร์ตเซล” หุ้นไทยออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาหุ้นไหลลงลึกลงเรื่อยๆ บรรดาเจ้าของหุ้นที่เอาหุ้นของตัวเองไป _“ตึ๊ง”_หรือไปเป็นหลักประกันไว้ในการกู้มาเล่น “มาร์จิน” ก็ต้องถูกบังคับขายหรือ “ฟอร์ตเซล” จนทำให้ราคาหุ้นเก็งกำไรเหล่านี้ดิ่งลง “ฟลอร์” ระเนระนาดไปตามๆกัน
มีข้อเสนอที่เชื่อว่าจะช่วยกอบกู้ความเชื่อมั่นและศรัทธาของนักลงทุนให้กลับมา คือ การออกมาตรการชั่วคราว “ห้ามชอร์ตเซล” เหมือนที่หลายประเทศอย่าง จีน หรือเกาหลีใต้ งัดมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่ก็ถูกปฎิเสธไม่ได้รับการพิจารณาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเพียงมาตรการในแบบลูบหน้าปะจมูก คือการออกมาตรการ Up Tick ที่จะนำมาใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่กำหนดให้การขายชอร์ตต้องมีราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อขายครั้งล่าสุด พร้อมทั้งจะมีการทบทวนหลักทรัพย์ที่สามารถ ชอร์ตเซล ได้
ซึ่งตลาดเชื่อว่าอาจจะได้ผลไม่มากนัก
ตลาดยังเชื่อว่าวิธีการที่ได้ผลและยังเท่ากับเป็นการดัดหลังนักลงทุนต่างชาติที่เป็นกลุ่มที่มีการขาย “ชอร์ตเซล” ในช่วงนี้ได้ดีที่สุด คือการสั่งห้ามการทำ _“ชอร์ตเซล”_ชั่วคราว ซึ่งทันที่มีการออกมาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้องมีการทำ Cover Shot ซื้อหุ้นคืนเพื่อเร่งปิดสัญญา และไม่เกิดบรรยากาศถูก “ฟอร์ตเซล” เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นกลับสู่พื้นฐานที่ควรจะเป็น
คงต้องวัดใจว่าข้อสรุปในการประชุมสามฝ่ายวันนี้จะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นยอมออกมาตรการห้าม “ชอร์ตเซล” เสก “ยันต์กันผี” เพื่อดึงความเชื่อมั่นและศรัทธาของนักลงทุนให้กลับมาหรือไม่ หรือจะยังคงปล่อยให้ “ผีร้าย” ยังคงอาละวาด หลอกหลอนนักลงทุนในตลาดหุ้น และปล่อยให้ตลาดหุ้นอยู่ในบรรยากาศ “ซึมเศร้า” ท้อแท้ สิ้นหวัง อยู่ต่อไป...