โลกร้อน ฝุ่นหนา พาเครียด เมื่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมกระทบความสัมพันธ์คนมีคู่

7 ก.พ. 2566 - 03:57

  • ปัจจุบันนักจิตบำบัดคู่สมรสพบปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดจากความกังวลและความเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า ‘Eco-anxiety’

  • ความกังวลนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ตั้งแต่การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ อย่างการมีลูก ไปจนถึงการเลือกรับประทานอาหาร

Global Warming and Relationship_Tablet

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ รุนแรงขึ้นอย่างสัมผัสได้ทั่วทุกมุมโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่หนึ่งในปัญหาความสัมพันธ์ที่นักจิตบำบัดคู่สมรสต้องเจอ เกิดจากความกังวลและความเครียดเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า ‘Eco-anxiety’ 
 

โลกร้อนจนไม่อยากมีลูก 

โพลปี 2019 จาก Insider เผยว่าเกือบ 38% ของคนอเมริกันอายุ 18-29 ปี เชื่อว่าในการตัดสินใจมีลูกควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย 
 
อีกโพลจาก The New York Times เมื่อปี 2020 เผยว่า 1 ใน 3 ของคนอเมริกันวัย 20-45 ปี ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขามีลูกน้อยลง 
 
ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการมีลูกนั้นอาจเป็นได้ทั้งกังวลแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องอยู่ในโลกที่สภาพย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หรือกังวลแทนธรรมชาติเนื่องจากการเพิ่มประชากรก็เหมือนการเพิ่มภาระให้แก่โลก จากที่การบริโภคของประชากรในปัจจุบันก็มากเกินกว่าทรัพยากรจะรับไหวแล้ว 
 

ความสัมพันธ์เป็นพิษ เพราะรักษ์โลกไม่เท่ากัน 

ความกังวลนี้ไม่เพียงนำไปสู่คำถามว่า “จะมีลูกดีไหม” แต่ยังส่งผลต่อแง่มุมอื่นๆ ในความสัมพันธ์ ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ วิธีการเดินทาง การกินเนื้อ กินแบบวีแกน สถานที่ท่องเที่ยวที่อาจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงวิธีคุมกำเนิด 
 
เช่นเดียวกับแนวทางการใช้ชีวิตแง่อื่นๆ ที่แต่ละคนมีขอบเขตต่างกัน ต้องการคนที่มีแนวคิดสอดคล้องพอจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ฉะนั้นความสัมพันธ์ที่แต่ละฝ่ายมีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างกันมากก็มักมีปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ 
 
ปัญหาสิ่งแวดล้อมแก้ยากฉันใด ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมก็คลายยากฉันนั้น 
 
หลายคนมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเหนือการควบคุม เพราะแบรนด์ยักษ์ใหญ่หรือการออกกฎหมายแย่ๆ ของประเทศหนึ่งอาจส่งผลเสียได้มหาศาล ชนิดที่ว่ารณรงค์รักษ์โลกอย่างไรก็ช่วยไม่ทัน  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2IpVrnum5U0J24DjjJ2M1v/73db1626f419d4ee97d6b63329658e85/Global_Warming_and_Relationship

วิธีรับมือ ‘Eco-anxiety’ 

เราอาจไม่สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้ในพริบตา อาจขจัดความกังวลออกไปไม่ได้อย่างปลิดทิ้ง แต่หากเราสิ้นหวังก็จะพาให้ทุกอย่าง (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) แย่ลงไปอีก บทความจาก Medical News Today แนะนำว่า การเยียวยาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่ต่อเพื่อช่วยทะนุถนอมโลกกันต่อไป 
 

1.ลงมือทำในส่วนที่ตัวเองทำได้

การลงมือทำอาจเริ่มจากสร้างความตระหนักรู้ให้คนรอบข้าง เข้าร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมต่างๆ หรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นวันละนิด อย่างน้อยการลงมือทำจะช่วยให้รู้สึกว่าเราได้พยายาม และการกระทำที่ดีของเราก็ส่งผลต่อโลกไม่มากก็น้อย  

2.ยืดหยุ่นกับปัญหา 

ฝึกคิดบวก และอย่ามองว่าปัญหาทุกอย่าง “แก้ไม่ได้” การรักษ์โลกอาจเริ่มจากเป้าหมายง่ายๆ โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีคอยซัพพอร์ตและให้กำลังใจ อย่าลืมว่าชีวิตเรามีหลายแง่มุม ระวังจะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาจนละเลยตัวเองและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 
 

3.พักบ้างหากมากไป 

ข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาโดยมากมีแต่ข่าวน่าหดหู่ เราควรรู้ขีดจำกัดของตัวเองและถอยห่างจากสิ่งกระตุ้นเหล่านั้นหากมากเกินรับไหว ไม่ใช่ว่าจะปิดหูปิดตาแล้วใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ แต่เราควรตระหนักว่าข่าวสารที่เราเสพกันมักเป็นข้อมูลที่ทำให้คนตื่นตระหนก ให้ความสนใจ และหากเสพแต่ข่าวลักษณะนี้อาจทำให้เรามีอคติและลืมมองโลกในมิติอื่นๆ ได้  
 

4.ออกไปสัมผัสธรรมชาติ 

การออกไปอยู่กับธรรมชาติจะช่วยให้เรารู้สึกดีกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นการเติมพลังบวกให้กับตัวเอง การมีสิ่งของเล็กๆ ที่เชื่อมโยงเรากับธรรมชาติก็ช่วยชาร์จพลังได้เหมือนกัน อาจเป็นดอกไม้แห้ง หิน ฯลฯ ให้เราได้มอง/สัมผัสธรรมชาติในวันล้าๆ (แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นของที่เราเก็บไว้ได้ แหล่งธรรมชาติและอุทยานส่วนมากห้ามนำของติดไม้ติดมือออกมา) 
 

5.อย่ากลัวที่จะไปพบแพทย์ 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเราจะมีความเครียด/กังวล แต่หากความกังวลมากจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต และรุนแรงเกินกว่าจะเยียวยาด้วยตัวเอง เราอาจต้องไปพบนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์