ลงโทษ-สร้างวินัย ปราบเด็กดื้ออย่างไรโดยไม่ต้องตี

7 ก.พ. 2566 - 03:29

  • การตีส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้น ส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์

  • และอาจทำให้เด็กมีมุมมองต่อพ่อแม่เปลี่ยนไป นอกจากนี้คนที่ตีเองก็มักรู้สึกผิด

  • แต่จะให้ลงโทษอย่างไรดีถ้าไม่ใช้การตี

punish_discipline_Main
“ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” เชื่อว่าคนที่มีลูกคงไม่อยากได้ยินประโยคนี้ เมื่อมีลูก รักลูก ก็ย่อมอยากให้โตไปเป็นคนดี ไม่ไปทำตัวไม่น่ารักกับใคร แต่ยุคนี้จะเลี้ยงแบบ “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ก็คงไม่ไหว เพราะมีงานวิจัยออกมามากมายเรื่องผลเสียของการตีเด็ก 
 
การตีส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เด็กก้าวร้าวขึ้น ส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ และอาจทำให้เด็กมีมุมมองต่อพ่อแม่เปลี่ยนไป นอกจากนี้คนที่ตีเองก็มักรู้สึกผิด และสงสารหรือกลัวว่าลูกจะมองตัวเองโหดร้าย 
 

‘เด็กดื้อ’ คือ ‘เด็กปกติ’ 

ก่อนอื่น ‘ทุกคน’ ควรทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เด็กดื้อถือเป็นพัฒนาการตามวัย หลายครั้งเราอาจต้องปล่อยให้เด็กได้ร้องไห้ ค่อยๆ ทำความรู้จักกับอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาทักทาย เรียนรู้การใช้เหตุผลและความคิด กระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลา ซึ่งหากเรารับมือกับเด็กได้อย่างเหมาะสมเด็กก็จะโตมาอย่างมั่นคง และรู้สึกดีกับตัวเอง  
 

อาละวาด––ร้องไห้––โวยวาย––เอาแต่ใจ 

อารมณ์และพฤติกรรมเหล่านี้ไม่มากก็น้อย เป็นสิ่งที่ต้องเจอเมื่อต้องเลี้ยงเด็ก เพราะเด็กก็เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีความคับข้องใจ พวกเขาแค่ยังไม่รู้จักวิธีบรรเทาหรือระบายมากไปกว่าร้องไห้โวยวาย เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ สั่งสอน โอบรับการเติบโตของพวกเขา มาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรกันได้บ้างโดยไม่ต้องตี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5JpWbATCJV5OAATm9sHVQh/11a947c334c5c7b54ebb97c6abfb643a/punish_discipline2

อธิบายด้วยเหตุผล และให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง 

เมื่อลูกทำตัวไม่เหมาะสม เราควรอธิบายให้เขาฟังด้วยเหตุผล ใจเย็น แต่เด็ดขาด เพราะหากเราไม่จริงจังอาจทำให้ลูกสับสนว่าควรทำสิ่งไหนกันแน่ ในบางครั้งเราอาจให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง เช่น หากลูกไม่ยอมกินข้าว เราต้องอธิบายให้ฟังว่าถ้าไม่กินตอนนี้ก็จะหิวนะ และหากลูกยังไม่ยอมกินก็ลองให้เขาหิว เพื่อให้รู้ว่าครั้งหน้าถึงเวลากินก็ควรจะกิน ทั้งนี้กับบางเรื่องเราก็ควรมีกฎชัดเจน เช่น การแปรงฟันที่เราคงจะปล่อยให้ลูกลองฟันผุไม่ได้ 
 

เทคนิคเพิกเฉย 

การเพิกเฉยทำได้เมื่อลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป (เด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบแทบไม่มีเหตุผลที่ต้องถูกทำโทษเลย) วิธีนี้ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก แต่เป็นการให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตัวเอง โดยเราจะไม่โอ๋จนทำให้ลูกไม่เห็นความชัดเจนและความเป็นผู้นำของเรา 
 
พญ.เสาวภา พรจินดารักษ์ แนะนำขั้นตอนการเพิกเฉย ดังนี้: 
  1. สงบสติอารมณ์ให้เย็นลง หากเราทำเทคนิคนี้ตอนมีอารมณ์อาจกลายเป็นการทอดทิ้งลูกได้ 
  2. สบตาลูก แล้วพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งแต่จริงจังว่าจะรอจนลูกเงียบก่อนถึงจะคุยกัน
  3. เพิกเฉยลูก ไม่พูด แสดงท่าที หรือส่งสายตา ไม่แม้แต่พูดซ้ำให้ลูกเงียบ โอ๋กอด หรืออุ้ม ให้หันไปทำอย่างอื่นแทนโดยไม่แสดงท่าทีทอดทิ้ง เช่น การทำงานบ้านใกล้ตัว หากลูกทำร้ายตัวเอง คนอื่น หรือทำลายข้าวของ ให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราวแล้วมองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่งว่าอย่าทำเช่นนั้น แล้วกลับไปเพิกเฉยต่อจนกว่าลูกจะหยุด 
  4. เมื่อลูกเงียบแล้วให้กลับไปหาลูก ขั้นตอนนี้จำเป็นมากเพราะเราต้องเน้นย้ำว่าลูกจะได้รับความสนใจเมื่อมีพฤติกรรมที่ดี และจะถูกเพิกเฉยเมื่อเอาแต่ใจ 
  5. ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “ลูกเงียบแล้ว เก่งมากค่ะ”  
  6. พูดคุยกับลูก ถามว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวและทำความเข้าใจตัวเองแทนที่จะรอคำสอนอย่างเดียว หากลูกยังเล็ก เราต้องค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องราวอย่างสั้นและกระชับให้ลูกเข้าใจ 
  7. ตบบวก (ให้รางวัล) โดยหากิจกรรมที่ลูกชอบทำเพื่อปลอบ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กเพื่อให้เชื่อมโยงได้ว่าเมื่องอแงแล้วเงียบจะได้รางวัล เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน แต่ไม่แนะนำให้เป็นสิ่งของ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงกับการได้สิ่งของแทน 
โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำเทคนิคเพิกเฉยแรกๆ การร้องไห้จะรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ เพราะลูกรู้สึกว่าเราไม่ง่ายเหมือนเดิม จึงเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองแบบเดิม เมื่ออดทนทำโดยไม่ใจอ่อน อาการของลูกจะเบาลงไปเองในครั้งต่อๆ ไป
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2yGglRCU6aGjqTpVkROTVE/42628157db7a9e3403ef309fc51bdb21/punish_discipline3

Time Out: ขอเวลานอกให้ลูก (และตัวคุณเอง) ได้สงบสติอารมณ์ 

เมื่อลูกไม่หยุดงอแง เราต้องตักเตือนก่อนว่าหากยังงอแงจะต้องไปสงบสติอารมณ์ที่มุมห้อง นั่งเก้าอี้เด็กซน ฯลฯ ตามหลักพื้นฐานการให้ลูกแยกไปสงบสติอารมณ์ควรใช้เวลา 1 นาที/1 ขวบ และเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก ทั้งนี้ก็ควรเป็นระยะเวลาที่สมเหตุสมผล เช่น เมื่อลูกอารมณ์สงบลงแล้วก็สามารถกลับมาได้ 
 

สวมบทบาท 

หากลูกสามารถสื่อสารและเริ่มคิดเองได้แล้ว เราอาจลองตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ลูกได้ทบทวนตัวเองและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น “ถ้าให้พูดได้อีกรอบ คิดว่าพูดแบบไหนดี” “ถ้าครั้งหน้าเกิดแบบนี้อีก คิดว่าทำยังไงดี” 
 

งดให้สิทธิพิเศษ/ของเล่น 

เช่นเคย เราควรตักเตือนก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากลูกยังไม่เลิกงอแง สิ่งที่เราจะงดควรสมเหตุสมผลกับสิ่งที่ลูกทำ หากลูกไม่ยอมกินข้าววันนี้แล้วงดดูการ์ตูนทั้งอาทิตย์ก็ดูเป็นการกำหนดโทษที่มากเกินไป ทั้งนี้เราต้องรักษาคำพูดและไม่ใจอ่อน เพราะหากลูกรู้ว่าเราไม่จริงจังพฤติกรรมก็จะไม่ดีขึ้น 
 

ให้รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ 

การให้ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ทำถือเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ลูกเรียนรู้ผลกระทบจากการกระทำตัวเอง เช่น เมื่อลูกขว้างปาของกระจัดกระจาย ลูกก็ต้องเป็นคนเก็บ หรือเมื่อทำพฤติกรรมไม่น่ารักใส่ใครก็ต้องไปขอโทษคนนั้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/nJzm2TtBuj57xXRDnGemq/841db5b68a915f312b32bd1a1c3bbf4b/punish_discipline4

เปลี่ยนจาก ‘ลงโทษ’ เป็น ‘สอน’ 

ปัญหาหนึ่งของการตีคือเป็นการลงโทษเด็ก แต่ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วควรทำอย่างไร ฉะนั้นเวลาลูกทำผิด เราอาจสอนแทนว่าทางที่ดีคือแบบไหน ให้เขาเข้าใจคนอื่นมากขึ้นแทนที่จะโทษตัวเอง เช่น หากลูกไปตีคนอื่น แทนที่จะบอกว่าลูกนิสัยไม่ดี ก็ให้สอนลูกด้วยเหตุผลว่าการตีจะทำให้คนอื่นเจ็บ 
 

ชมเชยหรือให้รางวัลเมื่อทำดี 

นอกจากการลงโทษแล้ว การให้รางวัลก็สำคัญมาก เราไม่ควรเอาแต่เพ่งโทษลูก แต่ควรใส่ใจกับสิ่งดีๆ ที่ลูกทำและไม่ลืมที่จะกล่าวชม หรือแม้แต่เวลาที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก แทนที่จะเน้นย้ำพฤติกรรมไม่ดีที่ควรหลีกเลี่ยง เราก็สามารถตั้งรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกปรับปรุงตัว 
 
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างที่ทราบกันว่าการเลี้ยงลูกไม่มีสูตรตายตัว ลูกมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้มากมายระหว่างการเติบโต ขณะที่เราก็เรียนรู้หลายๆ อย่างจากการเลี้ยงลูกเช่นกัน 
 
หวังว่าจะไม่มีใครมาพูดกับคุณว่า “ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” และขอให้การเติบโตทั้งของลูกและคุณเต็มไปด้วยเหตุผลและความรัก  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์